หลังจากนี้ไปคาดว่าคงอีกนานเลยล่ะ กว่าจะได้มีโอกาสมาเที่ยววัดกันอีกที เพราะเมื่อเชียงใหม่ได้เข้าสู่ช่วงฤดูหนาวกันแล้วมันก็ต้องโฟกัสกันไปเรื่องดอย เรื่องป่าเขา คือถ้าไม่เที่ยวดอยกันช่วงนี้ ก็ไม่รู้จะไปเที่ยวกันช่วงไหน ส่วนเรื่องเที่ยววัดนั้นพับแผนเอาไว้ชั่วคราวกันก่อน เพราะมันจะไปตอนไหนก็ได้ ก็วัดมันตั้งอยู่ตายตัวไม่มีเรื่องฤดูกาลมาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว ยกเว้นเสียแต่ว่า หน้าฝนที่มันทำให้ดูอึมครึมกันไปซักหน่อย
มาคราวนี้พากันมาเที่ยววัดแถวสันกำแพง ที่เลยๆ เกือบจะมาถึงฝั่งแม่ออน ชื่อวัดบ้านโห้ง ที่ได้มาเที่ยวกัน เพราะขากลับจากอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน ซึ่งเห็นว่าวัดแห่งนี้น่าสนใจดี เลยถือโอกาสแวะมาถ่ายภาพกันในช่วงบ่ายของวัน
วัดบ้านโห้ง ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านโห้ง ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีเนื้อที่วัดประมาณ 5 ไร่ด้วยกัน ซึ่งถือว่าไม่กว้างมาก สร้างเมื่อ พ.ศ . 2465 ได้รับการตั้งแต่งเป็นวัดที่ถูกต้องเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2475 โดยที่ผ่านมามีเจ้าอาวาสด้วยกันถึง 10 รูป
![](https://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_72_3.JPG)
สิ่งที่สนใจภายในวัดเริ่มต้นที่ เจดีย์วัดบ้านโห้ง เจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยม ซ้อนชั้น คล้ายรูปทรงปราสาทหรือที่อยู่ของกษัตริย์ เจดีย์รูปทรงนี้เชื่อว่าพัฒนาการมาจากเจดีย์ทรงศิขรของอินเดีย เป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีเรือนธาตุและมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปภายในชั้นเดียว และมีส่วนยอดทำเป็นเจดีย์องค์ระฆังขนาดเล็กซ้อนชั้นขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเจดีย์ทรงปราสาทล้านนา โดยลักษณะของเจดีย์ทรงปราสาท ประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนฐาน ส่วนเรือนฐาน และส่วนยอด สำหรับส่วนฐานนั้นทำเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกับกับเจดีย์ทรงกลม เรียกว่าฐานเขียง และมักทำซ้อนชั้น 2-3 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุรูปทรงสี่เหลี่ยม มีช่องเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน เหนือขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งมักจำลองเอาส่วนยอดของเจดีย์ทรงกลมมาใช้ในลักษณะเดียวกันทั้งนี้ตรงองค์เจดีย์ มีรูปเหมือนครูบาศรีวิชัยประดิษฐานอยู่
![](https://www.tripchiangmai.com/images/chiangmaiboard/travel_chiangmai_72_4.JPG)
ส่วนสิ่งที่น่าสนใจอีกสองแห่ง เป็นตัววิหารของวัดรูปทรงล้านนา ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้) ออกแบบแผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการยกเก็จของผัง ภายในวิหารแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่พื้นที่ของพระสงฆ์ พื้นที่ของฆาวาส และฐานชุกชี หรือแท่นแก้ว ภายในวิหารมีจิตกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องราวของพุทธศาสนา ส่วนอุโลสถนั้นที่อยู่เยี่ยงๆ กันไป เป็นอุโบสถรูปทรงล้านนา อาคารที่พระสงฆ์ใช้ประชุมสังฆกรรมร่วมกัน