ช่วงเจาะอดีตเมืองเชียงใหม่คราวนี้ ผมยังคงวนเวียนอยู่ที่แถวๆ ริมแม่น้ำปิงกันครับ ซึ่งจะพามาสำรวจและทำความรู้จักกับ
ฝายพญาคำ เหมืองฝายดั้งเดิมของเมืองเชียงใหม่ ที่ยังหลงเหลืออยู่ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้วัฒนธรรมการจัดการน้ำด้วยจิตวิญญาณและชีวิตของชาวล้านนาโดยสายเลือด
ฝายพญาคำ จะอยู่เลยค่ายกาวิละไปทางใต้เล็กน้อย เป็นฝายขนาดใหญ่ในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่ เป็นฝายทดน้ำที่สร้างปิดกั้นน้ำและยกระดับน้ำจากแม่น้ำปิง เพื่อทดน้ำเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม 16,721 ไร่ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ลำพูน รวม 3 อำเภอ 8 ตำบลคือ ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ (พื้นที่ส่งน้ำ 420 ไร่) ตำบลหนองผึ้ง (พื้นที่ส่งน้ำ 1,550 ไร่) ยางเนิ้ง (พื้นที่ส่งน้ำ 2,980 ไร่) สารภี (พื้นที่ส่งน้ำ 2,730 ไร่) หนองแฝก (พื้นที่ส่งน้ำ 1,814 ไร่) ชมพู (พื้นที่ส่งน้ำ 2,880 ไร่) และไชยสถานเขต อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ (พื้นที่ส่งน้ำ 546 ไร่) และตำบลอุโมงค์ เขตอำเภอเมืองลำพูน (พื้นที่ส่งน้ำ 1,801ไร่)
ฝายพญาคำเกิดขึ้นจากการชาวบ้านเดือดร้อนขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก โดยมีนายพญาคำ เรืองฤทธิ์ กำนันตำบลสารภีในขณะนั้น เป็นผู้รวบรวมชาวบ้านที่เดือดร้อนมาช่วยกันขุดและสร้างฝายทดน้ำ เพื่อปิดกั้นลำน้ำปิง ฝายที่สร้างขึ้นเป็นฝายไม้รวก ซึ่งตัวฝายนี้มักจะถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกัดเซาะทำลายแตกทุกปีต้องซ่อมแซมกันเสมอในการบริหารจัดการน้ำจากเหมืองฝาย ทางภาคเหนือของประเทศเรานี้ จะมีการทำ สัญญาเหมืองฝาย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่สังคมน้ำของชาวล้านนาว่า เป็นกฎข้อบังคับ ที่สมาชิก ผู้ใช้น้ำและหัวหน้าเหมืองฝาย ช่วยกันตั้งขึ้นไว้ใช้ในระบบชลประทานของตนเอง
อย่างการจัดสรรน้ำให้กับคนที่อยู่ท้ายเหมืองฝายที่ชาวบ้านเรียกว่า ลูกฝาย จะมีสัญญาประชาคมร่วมกันของผู้ใช้น้ำว่า การจัดสรรรับน้ำเข้าที่นา จะต้องมีการจัดการดูแลซ่อมแซมเหมืองฝายร่วมกันทุกๆ ปี รวมไปถึงมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎระเบียบเหมืองฝาย เมื่อมีการละเมิดกฎระเบียบของเหมืองฝายคนที่มีหน้าที่พิจารณาโทษ ชาวบ้านเรียกว่า แก่ฝาย
แก่ฝาย เป็นบุคคลสำคัญที่ถูกเลือกมาจากชุมชนผู้ใช้น้ำจากเหมืองฝาย คนที่ถูกเลือกเข้ามาต้องเป็นบุคคลที่มีความเป็นธรรม และสามารถจัดสรรน้ำให้กับลูกสมาชิกฝายได้ใช้กันอย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวถึงการจัดการน้ำในระบบเหมืองฝายเอาไว้ว่า การจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝายในเมืองเชียงใหม่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 1100-1200 ในยุคสมัยของพ่อขุนมังรายณ์ในขณะที่รวบรวมอาณาจักรต่างๆ ก็ได้ใช้กุศโลบายให้พญาญีบาซึ่งเป็นผู้ครองเมืองหริภุญชัยให้เกณฑ์แรงไปขุดเหมืองแข็งหรือเหมืองแก้ว โดยการขุดนั้นเป็นการขุดเลียบเชิงเขายาวรวมความยาวทั้งสิ้น 17,000 วา ในสมัยพ่อขุนมังรายณ์ที่ได้มีการตรากฎหมายมังรายณ์ศาสตร์ขึ้น ตามที่ปรากฎในวันเพ็ญ สุรฤกษ์ได้กล่าวไว้ถึง 7 ฉบับด้วยกัน จะเห็นว่าระบบเหมืองฝายเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองที่มีระเบียบวินัยควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีสิ่งยึดเหนี่ยวไว้ให้เป็นระเบียบไว้ป้องกันการเกิดโกลาหล
และทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องราวของ
ฝายพญาคำ กันครับ