ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ มีโอกาสแวะเข้าไปร้านหนังสือ บังเอิญไปเจอหนังสือท่องเที่ยวเชียงใหม่เล่มหนึ่งที่น่าสนใจพอสมควร เป็นหนังสือท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่เล่าออกมาในเชิงประวัติศาสตร์ครับซึ่งถือว่าแปลกแยกพอสมควร สำหรับการทำหนังสือท่องเที่ยว แต่ในความแปลกแยกนั้นก็มีข้อมูลหลายอย่างที่น่าสนใจ ชนิดที่เล่มไหนๆ ก็ไม่ค่อยจะมีกัน
หนังสือเล่าถึงอดีตของเมืองเชียงใหม่ ในแง่มุมต่างๆ ผ่านสถานที่สำคัญ ที่ปัจจุบันหลงเหลือเค้าโครงเดิมบ้างเพียงเล็กน้อย บ้างบางที่ก็สร้างใหม่ โดยข้อมูลมาจากปลายปากกาของคนเขียนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งความน่าสนใจของข้อมูลนั้น คือการได้ย้อนอดีตกลับไปมองดูสภาพของเมือง สภาพของสังคม เหมือนเรากำลังนั่งฟังคนแก่เล่าเรื่องยังไงยังงั้น
และจากความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ เลยทำให้ผมเกิดไอเดีย อยากตามรอยไปสัมผัสถึงสถานที่จริงหลายๆ แห่ง เพื่อนำมาถ่ายทอด และเพื่อไม่เป็นการเสียเวลา ก็จะขอเริ่มด้วยการพาไปย้อนอดีตสถานที่แห่งแรกกัน คือ โบสถ์คริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่ เอ่ยถึงโบสถ์คริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่คงต้องย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2411เมื่อครั้งพระเจ้ากาวิโลรส สุริยวงศ์ ได้ยกพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงให้กับคณะมิชชันนารี ทางคณะมิชชันนารีจึงได้ใช้พื้นที่นี้สร้างคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1 เชียงใหม่ ระยะแรกสร้างเป็นอาคารไม้ไผ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2432-2434 ได้มีรื้ออาคารไม้ไผ่ และสร้างอาคารหลังใหม่เป็นอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกหลังแรกในเชียงใหม่ ออกแบบและก่อสร้างโดย ดร. มาเรียน เอ.ชีค.
ทั้งนี้ การทำงานในระยะแรกทำควบคู่ไปกับการรักษาพยาบาลแผนใหม่ โรคสำคัญที่เป็นกันมากคือไข้มาเลเรียเรื้อรัง โรคคอหอยพอก และไข้ทรพิษ การรักษาพยาบาลทำให้คณะมิชชันนารีมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมาก จนอาจกล่าวได้ว่าการเผยแผ่ศาสนาในระยะแรกนั้นไม่ค่อยได้ผลมากเท่ากับการรักษาพยาบาล ทั้งนี้เพราะทางการเองมิได้ให้การสนับสนุนมากนัก จะเห็นได้จากในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2411 พระเจ้ากาวิโลรส สุริยวงศ์ สั่งประหารหนานชัย และน้อยสุริยะ 2 ใน 7 คนของผู้นับถือศาสนาคริสต์ในเชียงใหม่ขณะนั้น โดยอ้างว่าการละทิ้งศาสนาประจำชาติ เป็นกบฏต่อฉัน จึงต้องลงโทษอย่างนี้ ทำให้มีผู้คนกลัวกันมากจนไม่มีใครกล้านับถือศาสนาคริสต์อีก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2412 มีการออกพระราชกฤษฎีกาของเจ้าพระยาเทพวรชุน ที่ปรึกษาราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความว่าถ้าผู้ใดจะชอบใจถือศาสนาใด ก็ให้ผู้นั้นถือได้ตามชอบใจ และในปีพ.ศ. 2413 พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย จากปัจจัยดังกล่าวทำให้มีคนเข้ามานับถือคริสต์ศาสนาเพิ่มมากขึ้น
จากนั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โบสถ์หลังนี้เป็นที่ตั้งของกองทหาร หอระฆังของโบสถ์เป็นที่ตั้งของปืนต่อสู้อากาศยาน ก่อนต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ได้มีการสร้างคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1 เชียงใหม่หลังใหม่ที่ถนนเจริญราษฎร์ (โบสถ์หลังปัจจุบัน) เป็นโบสถ์ที่ทันสมัยมากในขณะนั้น ออกแบบโดย ศาสนาจารย์ เทเลอร์พอตเตอร์ ซึ่งเป็นแบบที่ชนะเลิศการประกวดออกแบบของสถาบันสถาปนิกแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา
ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 ได้มีการจัดพิธีอำลาโบสถ์เก่าและเดินทางไปโบสถ์ใหม่ ในการทำพิธีอำลาโบสถ์ มีวงดุริยางค์ของโรงเรียนปรินส์รอแยลวิทยาลัยนำขบวน ศาสนาจารย์ศิษยาภิบาล และเจ้าหน้าที่คริสตจักร พร้อมกับสมาชิกเข้าสู่พระวิหารหลังใหม่ ปัจจุบัน คริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่ หลังเดิม ใช้เป็นสถานที่อบรมจริยธรรมแก่นักเรียน ที่ทำการศาสนกิจ เป็นห้องประชุมของโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน และเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนจนถึงปัจจุบันกันครับ