เข้าใจว่าน่าจะเป็นคนละส่วนกันครับ สำหรับวัดโมคคัลลานะ กับ
วัดพระธาตุดอยโมคคัลลานะ เพราะที่ตั้งของสองวัดนี้นั้น อยู่กันคนละตำแหน่ง อย่าง
วัดโมคคัลลานะจะอยู่ตรงปากทางขึ้นไปยังตัวอุทยานพุทธสถานสุทธิจิตต์บ.เชิงดอย ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ส่วนวัดพระธาตุดอยโมคคัลลานะ นั้น ต้องขึ้นอีกทางหนึ่ง ซึ่งต้องผ่านปากทางเข้าวัดโมคคัลลานะ มาประมาณ 500 เมตร ก็จะเห็นถนนทางขึ้นวัดพระธาตุดอยโมคคัลลานะ อยู่ด้านขวามือของถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (เชียงใหม่-ฮอด)
เขียนไปเขียนมาก็ชักจะงง เอาเป็นว่า สรุป อยู่กันคนละที่ แม้จะอยู่ในเขตเดียวกัน แต่สำหรับตอนนี้จะขอเล่าถึงวัดโมคคัลลานะก่อน ส่วนวัดพระธาตุดอยโมคคัลลานะ คราวหลังถ้ามีโอกาสจะแวะเก็บภาพมาฝากครับ
วัดโมคคัลลานะ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ก่อนปากทางขึ้นไปยังอุทยานพุทธสถานสุทธิจิตต์ ถูกก่อตั้งเป็นวัดเมื่อปี 2475 โดยวัดเดิมย้ายมาจากบนเขาลงมาติดข้างน้ำ ที่นั้นมีเนื้อที่ 20 ไร่ แต่เกิดกรณีน้ำป่าพัดกำแพงเสียหาย เลยต้องกลับมาตั้งบนเขาโมคคัลลานะ
ส่วนพื้นที่ภายในของวัดปัจจุบันนี้ ไม่มากนัก ศาสนสถานภายในวัดสำคัญ ก็จะมีวิหารสุทธิจิตต์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2534 เป็นวิหารทรงล้านนาออกแบบแผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการยกเก็จของผัง ภายในวิหารแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่พื้นที่ ของพระสงฆ์ พื้นที่ของฆาวาสและฐานชุกชี หรือแท่นแก้ว (พื้นที่ด้านในสุดของวิหาร มักทำเป็นแท่นยกพื้นสูงกว่าอาสนสงฆ์ ใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นประธานของวัด) ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด
ส่วนเจดีย์ของวัดโมคคัลลานะ เป็นเจดีย์ทรงปราสาท รูปทรงสี่เหลี่ยม ซ้อนชั้น คล้ายรูปทรงปราสาทหรือที่อยู่ของกษัตริย์ เจดีย์รูปทรงนี้เชื่อว่าพัฒนาการมาจากเจดีย์ทรงศิขรของอินเดีย ในช่วงต้นของวัฒนธรรมล้านนา เรือนธาตุมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปภายในชั้นเดียว และมีส่วนยอดทำเป็นเจดีย์องค์ระฆังขนาดเล็กซ้อนชั้นขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเจดีย์ทรงปราสาทล้านนา
สุดท้ายศาลาบาตร ศาลาประเภทหนึ่งที่ใช้ในเขตสังฆาวาส สำหรับเป็นที่ตั้งบาตรของพระสงฆ์ที่วางเรียงรายเป็นแถวยาว เพื่อรับเครื่องไทยทานที่ พุทธศาสนิกชนนำมาถวายให้ ก่อนที่ศิษย์วัดจะนำไปประเคนถวายพระภายหลัง ด้านในศาลามีจิตกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องราวของกฎแห่งกรรม และการเวียนว่ายตายเกิดครับ