ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
กันยายน 21, 2024, 05:49:32 AM
หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก
ข่าว: ประกาศ การกระทำใดๆ  เพื่อที่จะให้กระทู้ตัวเองมาอยู่อันดับต้นๆ ประจำ หากพิจารณาแล้วว่า ไม่เกิดประโยชน์กับผู้เข้าชม  ก็รับสิทธิ์โดนแบนเหมือนกันครับ


จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ  |  แนะนำ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หมู่บ้านวัฒนธรรม ในเชียงใหม่  |  หัวข้อ: เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่พิพิธภัณฑ์คัวตอง วัดพวกแต้ม 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: 1 ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่พิพิธภัณฑ์คัวตอง วัดพวกแต้ม  (อ่าน 5741 ครั้ง)
konhuleg.
Jr. Member
**
กระทู้: 90


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2015, 09:23:52 AM »


ตอนที่ 1 (ประวัติและความเป็นมา)

หลายคนอาจจะยังไม่รู้นะครับว่าเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อได้ว่ามีพิพิธภัณฑ์เยอะมากในระดับท้องถิ่น ซึ่งจากที่ผมเคยไปเที่ยวมานั้นมีหลายแห่งด้วยกันที่จัดทำขึ้นมาอย่างดี ดูแล้วน่าไปเที่ยว แต่ปัญหามันติดตรงที่ว่าบางแห่งคนรู้จัก แต่บางแห่งคนก็ไม่ค่อยรู้จัก ฉะนั้นหน้าที่ของผมก็คือทำให้ที่ที่คนไม่ค่อยรู้จัก จักกันเยอะมากขึ้น


พิพิธภัณฑ์คัวตองวัดพวกแต้ม น้อยคนนักที่จะรู้จัก พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในวัดพวกแต้ม ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยชื่อวัดนั้นคำว่า “พวก” หมายถึง หัวหน้าหมู่บ้าน เป็นขุนนางยศต่ำ ฉะนั้นเมื่อรวมเป็นคำว่า “พวกแต้ม” คงเป็นขุนนางที่มีหน้าที่ควบคุมทางด้านช่าง โดยเฉพาะด้านการเขียนภาพจิตรกรรม การลงรักปิดทอง  ดังเช่นวิหารหลังหนึ่งในวัดพระธาตุลำปางหลวง ที่เรียกวิหารน้ำแต้ม (นอกจากวัดพวกแต้มแล้ว ในละแวกนี่ก็ยังมีวัดพวกหงส์ วัดพวกช้าง วัดพวกเปีย)


เมื่อพูดถึงชุมชนวัดพวกแต้ม คงย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังอดีต จากนั้นในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” พระเจ้ากาวิละได้กวาดต้อนผู้คนจากหลายที่มารวมกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีสล่าเครื่องโลหะมาด้วย  จึงทำให้นักวิชาการทางด้านวัฒนธรรมสันนิษฐานว่า “คัวตอง” ต้นกำเนิดแห่งช่างฝีมือด้านโลหะ น่าจะก่อกำเนิดขึ้นในช่วงนี้ ในวัดพวกแต้ม


ข้อสันนิษฐานเพิ่มบ่งบอกว่า สล่าที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยนั้น ได้ทำการหล่อพระพุทธรูปสำริดขึ้นเป็นจำนวนมาก ย่านถนนช่างหล่อ ใกล้ๆ กับวัดพวกแต้ม โดยมีการพบว่าฉัตรรุ่นแรกที่มีการทำขึ้นในวัดพวกแต้มนั้น ก็ทำขึ้นจากสำริดเช่นกัน จึงเป็นไปได้ว่าการหล่อแผ่นสำริด น่าจะมาจากย่านช่างหล่อ ก่อนจะส่งต่อมาให้สล่าในวัดพวกแต้มตอกขึ้นรูปเป็นฉัตรอีกทีนึงที่เหลือจากนั้น ท่านพระครูรัตนปัญญา อดีตเจ้าอาวาสวัดพวกแต้ม ในฐานะที่มีความสามารถทางศิลปะหลายด้าน ก็ได้ทำการรวบรวมสล่าฝีมือดีมาไว้ในวัดพวกแต้ม ก่อนจะร่วมมือกับครูบาศรีวิชัยในการสร้างฉัตร ซ่อมแซมฉัตรตกแต่งลวดลายตามวัดวาอารามต่างๆ จนถึงขั้นก่อตั้งสมาคมสล่าขึ้นในนาม “คัวตอง”จนชุมชนแห่งนี้กลายเป็นชุมชนช่างทำฉัตรพวกแต้ม อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น  ซึ่งมีผลงานฉัตรปรากฏทั่วไปหลายที่


ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ “พวกแต้ม คัวตอง” นั้นเกิดจากความร่วมมือของผู้ศึกษา คณะช่างงานคัวตอง วัดพวกแต้ม และประชาชนในชุมชนวัดพวกแต้ม  ด้วยวิธีการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็น แหล่งเรียนรู้  อนุรักษ์คุณค่า และเผยแพร่ความรู้ของงานคัวตอง ให้แก่ประชาชนทั้งในชุมชนและ ภายนอกชุมชนได้ศึกษาศึกษาเรียนรู้  เข้าใจงานคัวตองอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมา จนถึงปัจจุบัน 


แล้วตอนที่ 2  มาทำความรู้จักกับ “คัวตอง” ของวัดพวกแต้มกันครับ
บันทึกการเข้า
konhuleg.
Jr. Member
**
กระทู้: 90


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 07, 2015, 09:51:51 AM »


ตอนที่ 2 (ลักษณะคัวตองของชุมชนพวกแต้ม)

ฉัตร หรือที่เรียกว่า คัวตอง คือเครื่องประดับคล้ายร่มในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เจดีย์ หรือ พระบรมธาตุจะมีฉัตรเพื่อความสวยงาม ฉัตรจึงใช้ในฐานะเป็นสัญลักษณ์แทนของสูง ชาวล้านนานิยมทําฉัตร ประดับไว้บนหลังคาโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ซึ่งชุมชนพวกแต้มนี้ ถือว่ามีชื่อเสียงในการทําฉัตรกันมาอย่างยาวนาน


ฉัตรของวัดพวกแต้ม จะมี 2 แบบด้วยกันครับ คือแบบแรก เป็นแบบพื้นเมืองของล้านนา มีเอกลักษณ์อยู่ที่ลวดลายที่หยาบและใหญ่ประดับอยู่ระหว่างชั้น มีชื่อลายหลากหลาย โดยส่วนประกอบหลักๆ ของฉัตรพื้นเมือง ได้แก่ กระจัง ดอกคอ และกาบ



ส่วนแบบที่สอง เป็นแบบประยุกต์ เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนาและพม่าเงี้ยว โดยกระจังจะยื่นออกมาเหมือนมือที่ฟ้อนหงายนิ้วงอโค้งออกมา เรียกว่า “ลายฟ้อน” ส่วนปลายดูอ่อนช้อย ส่วนกาบจะยกสันขึ้น ทำให้ดูมีเหลี่ยมเงาได้สัดส่วน

ทั้งนี้ ในการทําฉัตร ถือเป็นงานที่ต้องใช้เวลาเป็นอย่างมาก เพราะแต่ละขั้นตอนของการทําฉัตรนั้นก็เป็นการทํางานที่ต้องใช้ฝีมือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การตอกลาย การประกอบ การบัดกรี การติดคํา ซึ่งแรงงานหรือช่างฝีมือที่ทํานั้นก็เป็นวัยรุ่น และวัยทํางาน



สำหรับสถานที่และอาคารจัดแสดง ภายในพิพิธภัณฑ์ “พวกแต้ม คัวตอง” นี้  ได้ใช้ตัวอาคารโรงครัวหลังเก่า ซึ่งเดิมเป็นอาคารที่นำไปใช้เป็นสถานที่ทำงานคัวตอง และนำมาดัดแปลงให้เป็นอาคาร จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ ซึ่งอยู่ด้านในติดกับหอไตรของวัดพวกแต้ม และอยู่ระหว่างกุฏิพระสงฆ์



วัตถุที่จัดแสดงในโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ “พวกแต้ม คัวตอง” ส่วนใหญ่จัดแสดงวัตถุประเภทงานคัวตองด้านพุทธศิลป์ อาทิ ฉัตรเก่า สัปทนเก่า และลวดลายประดับตกแต่งส่วนต่าง ซึ่งมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยการที่ได้นำมาจัดแสดงในรูปแบบที่ร่วมสมัยมากขึ้น เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์  โดยมีองค์ประกอบของวัตถุที่เป็นงานพุทธศิลป์อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง กับพิธีกรรมทางศาสนา อาทิ ตุงกระด้าง อาสนะสงฆ์ พุ่มดอกไม้เงิน พุ่มดอกไม้ทอง ในขั้นตอนการ จัดแสดงนี้ ได้เกิดการมีส่วนร่วมของกลุ่มเครือข่าย และประชาชนในชุมชน ต้องมีการปรึกษากับ ผู้ชำนาญการเพื่อเข้ามาดูแลและช่วยออกแบบ  การจัดแสดงนิทรรศการในหัวข้อดังที่กล่าวมานี้ มุ่งเน้นให้เห็นการจัดแสดงที่สะท้อนคุณค่า และความสำคัญของงานคัวตองของชุมชนวัดพวกแต้ม



ส่วนแนวทางของเรื่องที่จะจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ “พวกแต้ม คัวตอง” ประกอบด้วย การจัดแสดง  4 ส่วน ได้แก่ แนวทางการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ “พวก แต้ม คัวตอง” ประวัติงานคัวตองของชุมชนวัดพวกแต้ม ขั้นตอนตอนการผลิตงานคัวตอง และคัวตองกับการนำไปใช้ ซึ่งตอนหน้าจะพาไปสำรวจแต่ละส่วนกันครับว่ามีรายละเอียดอะไรกันบ้าง
บันทึกการเข้า
konhuleg.
Jr. Member
**
กระทู้: 90


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 09, 2015, 10:25:06 AM »


ตอนที่ 3 (ส่วนจัดแสดง)

หลังจากที่เกริ่นๆ ไปถึงส่วนของการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ เราก็จะมาเจาะลึกกันครับว่าแต่ละส่วนเป็นอย่างไรบ้าง จากพื้นที่การจัดแสดงที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการจัดแสดงนิทรรศการงานคัวตอง และพื้นที่การปฏิบัติงานคัวตองของกลุ่มช่างแต่เดิม


ส่วนที่ 1 จุดทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นจุดแรกของตัวอาคาร โดยด้านทางเข้าบนจะเป็นป้ายพิพิธภัณฑ์ ที่ทำขึ้นจากการตอกแผ่นทองเหลือง ซึ่งเป็นเทคนิค เดียวกันกับงานคัวตอง โดยใช้ชื่อว่า “พวกแต้ม คัวตอง” นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาและ ความสำคัญของโครงการ โดยนำเสนอผ่านบอร์ดข้อมูลที่ว่าด้วยแนวคิดการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์“พวกแต้ม คัวตอง” เป็นหัวข้อที่นำเสนอถึงโครงการทดลองจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ เพื่อบ่งบอกถึง ความสำคัญ และคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมประเภทนี้


ส่วนที่ 2 ผนังด้านในประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ โดยนำเสนอ ผ่านบอร์ดข้อมูลที่ว่าด้วยประวัติความเป็นมาของชุมชนวัดพวกแต้ม เพื่อให้ทราบความเป็นมาของ งานคัวตองในชุมชนวัดพวกแต้มจากอดีต จนมีพัฒนาการต่อเนื่องมาจนกระทั้งปัจจุบัน โดยมีเนื้อหา ที่บ่งบอกถึงบุคคลผู้คิดริเริ่มการผลิตงานคัวตองขึ้นมา 


ส่วนที่ 3 ผนังด้านในประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ในส่วนถัดมา โดยนำเสนอผ่านบอร์ดข้อมูลที่ว่าด้วยประวัติความเป็นมาของงานคัวตอง และจัดแสดงงานคัวตอง ประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นชิ้นงานดั้งเดิมของวัดพวกแต้ม โดยที่มีการวางตัวชิ้นงานบนหลังตู้ที่ได้รับการ ปรับปรุงแล้ว ซึ่งชิ้นงานอื่นๆ ที่ไม่สามารถจัดแสดงได้เนื่องจากพื้นที่มีจำกัดได้ถูกเก็บรักษาไว้ ภายในตู้นี้


ส่วนที่ 4 จัดแสดงภาพถ่าย และชิ้นงานคัวตองที่เป็นลวดลาย ประดับส่วนต่างๆ ของงานพุทธศิลป์ โดยได้มีการจัดแสดงลวดลายที่ทำจากงานคัวตอง ซึ่งเป็น ส่วนประกอบของฉัตร และสัปทน และงานพุทธศิลป์อื่นๆ โดยที่นำมาขึงไว้กับกรอบเฟรมผ้าใบ เพื่อให้สามารถคงรูปร่างของแผ่นทองเหลืองไว้ได้ยาวนานขึ้น อีกทั้งยังเป็นการใช้แนวคิดทางศิลปะ ร่วมสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้กับงานคัวตอง เพื่อเพิ่มความน่าสนใจในงานคัวตอง   

ส่วนที่ 5 รูปแบบและวิธีการผลิตคัวตอง โดยนำเสนอผ่าน บอร์ดข้อมูลนิทรรศการที่มีเนื้อหาของลำดับวิธีการผลิตงานคัวตอง อีกทั้งยังจัดแสดงชิ้นงานคัวตอง ที่เป็นลวดลายประดับส่วนต่างๆ ของงานพุทธศิลป์ โดยได้มีการจัดแสดงลวดลายที่ทำจากงานคัวตอง ซึ่งเป็นส่วนประกอบของฉัตร และสัปทน และงานพุทธศิลป์อื่นๆ โดยที่นำมาขึงไว้กับกรอบ เฟรมผ้าใบ เพื่อให้สามารถคงรูปร่างของแผ่นทองเหลืองไว้ได้ยาวนานขึ้น อีกทั้งยังเป็นการใช้ แนวคิดทางศิลปะร่วมสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้กับงานคัวตอง เพื่อเพิ่มความน่าสนใจในงานคัวตอง 

ส่วนที่ 6 คัวตองกับการนำไปใช้ โดยนำเสนอผ่านบอร์ด ข้อมูลนิทรรศการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการนำงานคัวตองไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม 

ส่วนที่ 7 เป็นส่วนสุดท้ายของการนำเสนอข้อมูลภายใน พิพิธภัณฑ์ ซึ่งส่วนนี่ได้ใช้พื้นที่เป็นส่วนการทำงานของช่างในแผนกตัด ตอก ฉลุลวดลายของงาน คัวตอง ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อสามารถถ่ายทอดวิธีการในการทำคัวตอง แก่ผู้ที่เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างดียิ่งขึ้น 


นอกเหนือจากจากการจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์คัวตองวัดพวกแต้มแล้ว ยังมี พื้นที่อื่นๆ ภายในวัดที่ได้ถูกทำให้เป็นโรงเรือนในการผลิตงานคัวตอง โดยมีการแบ่งแยกแผนก พื้นที่การใช้สอยตามการทำงานนั้นๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นของการทำงานคัวตองของวัดพวกแต้ม เป็นเสมือนการเน้นย้ำให้วัดพวกแต้มเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

สำหรับใครที่สนใจอยากจะไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์คัวตองวัดพวกแต้มเพื่อสัมผัสกับภูมิปัญญาการทำฉัตรแบบดั้งเดิม ก็สามารถแวะเข้าไปชมได้ทุกวันที่วัดพวกแต้มกันครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ขึ้นบน พิมพ์ 
จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ  |  แนะนำ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หมู่บ้านวัฒนธรรม ในเชียงใหม่  |  หัวข้อ: เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่พิพิธภัณฑ์คัวตอง วัดพวกแต้ม « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  




Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.5 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.104 วินาที กับ 20 คำสั่ง