นิทรรศนครเชียงใหม่ อาคารที่ 1 @ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (Part 1)สถานที่ตั้ง : ถนนพระปกเกล้า (ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์) ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โทรศัพท์ : 053 217 793
พิกัด : 18.79022, 98.98801
นิทรรศนครเชียงใหม่ ประกอบด้วยส่วนจัดแสดงอาคาร 3 อาคารด้วยกัน คือ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ทั้งสามอาคารตั้งอยู่บริเวณที่เคยเป็นสะดือเมือง หรือเสาอินทขีล หรือเสาหลักเมือง บริเวณใจกลางของนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ในที่นี้ขอนำเสนออาคารในส่วนจัดแสดงที่ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา หรือภาษาสากลที่ใช้ชื่อเรียกว่า Lanna Folklife Museum ก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนล้านนาในอดีต และลักษณะทางศิลปะที่ปรากฏในงานพุทธศิลป์ ทั้งเครื่องใช้ทางพิธีกรรม สถาปัตยกรรม ประเพณี งานจิตรกรรม และงานหัตถศิลป์ของล้านนา
เนื่องจากอาณาจักรล้านนา มีศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาอย่างยาวนาน มีรูปแบบที่หลากหลายโดดเด่น และงดงามสะท้อนความหมายที่แฝงเร้นมากับคติความเชื่อของบรรพบุรุษผูกพันมากับศรัทธาในพระพุทธศาสนา และกลมกลืนฝังลึกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และหัตถศิลป์ของล้านนา สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนแห่งนี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ดำเนินการจัดตั้งโดยเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยใช้อาคารศาลแขวงหลังเก่านำมารีโนเวตใหม่ ให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงเรื่องราวและวัฒนธรรมพื้นบ้านของล้านนาโดยเฉพาะ เน้นให้ผู้เข้าชมได้ซึมซับและรับรู้ถึงความสำคัญของวิถีชีวิตและความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวล้านนาในอดีตอย่างแท้จริง ตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์มีลักษณะเป็นอาคารทรงคลาสสิคไม้สองชั้น แบ่งซอยออกเป็น 13 ห้องจัดแสดง ดังนี้
ห้องที่ 1 ข่วงแก้วล้านนา นำเสนอเรื่องแนวคิดดั้งเดิมของคนพื้นถิ่นล้านนา โดยสื่อออกมาในรูปของพิธีกรรม ความเชื่อ และศิลปะแบบชาวบ้าน
ห้องที่ 2 ภายในวิหาร จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของศิลปวัตถุต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาแก่พระศาสนา โดยจำลองบรรยากาศภายในวิหารแบบล้านนาเอาไว้ได้อย่างสมจริง
ห้องที่ 3 เครื่องสักการะล้านนา ถือเป็นเครื่องหมายของการเคารพสูงสุดของชาวล้านนา เครื่องสักการบูชาของชาวล้านนา มีสิ่งของหลัก คือ ข้าวตอก ดอกไม้ และธูปเทียน อาจใช้บูชาบุคคลที่ควรแก่การบูชา รวมไปถึงภูตผี เทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ เครื่องสักการะของชาวล้านนานั้นบ่งบอกถึงความคิดที่ลึกซึ้งของชาวล้านนาในการมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ควรบูชา โดยการน้อมนำสิ่งของที่มีคุณค่าอันควรแก่การบูชาที่มีอยู่ตามธรรมชาติและเต็มไปด้วยความงดงามที่พิเศษนอกเหนือจากสิ่งที่บริโภคในวิถีชีวิตประจำวัน
ห้องที่ 4 ประติมากรรมล้านนา เป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะหริภุญชัย มอญ พม่า จีนตอนใต้ สุโขทัย และล้านช้าง ในพุทธศตวรรษที่ 21 ประติมากรรมแบบนี้แบ่งได้ 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 มีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปแบบปาละของอินเดีย มีรัศมีบัวตูม พระองค์อวบอ้วน ประทับนั่งขัดสมาธิ มักทำปางมารวิชัย กลุ่มที่ 2 มีอิทธิพลสุโขทัยมาปนจะมีรัศมีเป็นบัวตูมสูง บางครั้งทำเป็นเปลวเพลิง ขมวดพระเกศาเล็ก พระพักตร์มักจะทำเป็นรูปไข่ กลุ่มที่ 3 รูปแบบเชียงใหม่ เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนากับสุโขทัย มีการทำพระพุทธรูปทรงเครื่องด้วย อายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 และกลุ่มที่ 4 รูปแบบพะเยา เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนา กับอยุธยา ลาว และพม่า ในพุทธศตวรรษที่ 2123
ห้องที่ 5 แห่ครัวทาน เป็นประเพณีที่ชาวบ้านนำเอาสิ่งของ เครื่องอุปโภค บริโภค วัสดุอุปกรณ์ จตุปัจจัยไทยทาน ที่ช่วยกันคิดและทำขึ้นเป็นรูปแบบต่างๆ นำไปถวายวัดในหมู่บ้านของตนหรือหมู่บ้านใกล้เคียง รูปแบบของครัวทานมีหลายลักษณะตามแนวคิดของชาวบ้าน บ้างก็เป็นรูปจำลองโบราณสถานที่เคารพนับถือ หรืออาจเป็นของใช้ที่จำเป็นที่ชาวบ้านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนพืชผักที่มีในท้องถิ่น
(อ่านเนื้อหาต่อเนื่องใน
Part 2)
by Traveller Freedomพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
Part 1 ,
Part 2หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
Part 1 ,
Part 2หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่