องค์ประกอบที่งดงามที่สุดของหอคำหลวง ..ต้นโพธิ์ทองสถานที่ตั้ง : อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โทรศัพท์: 053 114 110
หอคำหลวง นอกจากจะมองเห็นความงดงามอลังการตั้งแต่ภายนอกแล้ว ภายในหอคำหลวงนั้นยังมีสิ่งที่ต้องทำให้ผู้มาเยือนตะลึงกับความงดงามเหมือนถูกมนต์สะกดไปด้วยเช่นกัน สถาปนิกชาวล้านนาผู้สร้างหอคำหลวงได้กล่าวว่า หอคำหลวงจะต้องเป็นอาคารที่ร่วมสมัย ด้วยรูปทรงและลักษณะการปลูกสร้างจะเป็นแบบล้านนาดั้งเดิม ภายในอาคารแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นสองส่วนคือ ชั้นบนกับชั้นล่าง โดยชั้นล่างจะแบ่งเป็น 9 โซน ดังนี้
โซน 1 ธ ทรงมุ่งหวังที่จะเห็นความสุขของประชาชนชาวสยาม เป็นการแสดงภาพ การเสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องที่ต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่เป็นภาพแห่งความทรงจำที่ประทับใจ
โซน 2 จากจิตรลดาสู่พสกนิกร นำเสนอพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในส่วนของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้แก่ ป่าไม้สาธิต นาข้าวทดลอง ปลานิลปลาหมอเทศ โรงโคนม ไบโอดีเซล สาหร่ายเกลียวทอง และผลิตภัณฑ์จากหนังปลานิล เป็นต้น
โซน 3 น้ำพระทัยอาทรชาวสยาม นำเสนอเรื่อง น้ำ การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร โครงการฝายชะลอความชุ่มชื้น และพระราชดำริให้จัดทำฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภาวะแห้งแล้ง โครงการกังหันชัยพัฒนาสำหรับเรื่องของขจัดน้ำเสีย การแก้ปัญหาการเกิดน้ำท่วมภายใต้โครงการแก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำ ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎรได้เป็นอย่างมาก
โซน 4 พืชผลงามด้วยดินดี พระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรดินโดยไม่ลอกหน้าดิน และยังทรงสร้างรูปแบบระบบอนุรักษ์ดินในพื้นที่พรุ โดยใช้วิธีการแกล้งดิน และปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้นำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เปรียบเสมือนกำแพงที่มีชีวิตในการอนุรักษ์ และคืนธรรมชาติสู่แผ่นดิน รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย
โซน 5 ปลูกป่าไม้เพื่อชีวีสำนึกดีในใจคน พระราชทานพระราชดำริหลายประการ คือ ปลูกป่า 3 อย่าง แต่ประโยชน์ 4 อย่าง รวมถึงโครงการฝายชะลอความชุ่มชื้น ที่เอื้อผลประโยชน์ที่ดีต่อกันของธรรมชาติกับธรรมชาติอีกด้วย
โซน 6 ขจัดต้นสิ่งเสพติดเพื่อชีวิตราษฎร เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของราษฎร โดยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา ทรงพระกรุณาให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและช่วยขจัดปัญหายาเสพติด
โซน 7 เพิ่มศักยภาพเกษตรกรด้วยการศึกษา แนวพระราชดำริให้ตั้งศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเรื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 6 แห่ง โดยทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เพื่อทำการทดลองวิจัย แสวงหาวิธีการแก้ปัญหาและแนวทางการพัฒนา
โซน 8 ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ นำมาสู่ผลผลิตแห่งความสำเร็จ ในส่วนนี้ เปรียบเสมือนบทสรุปของโครงการทั้งหมดที่กล่าวไว้ในส่วนจัดแสดง ซึ่งนำเสนอบทสรุปของเนื้อหาทั้งหมดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรและทรงงานมาโดยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์สมบัติ
โซน 9 นิทรรศการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดทำให้ออกมาในรูปวีดิทัศน์ บทสัมภาษณ์ของประชาชนทุกกลุ่มชนชั้นที่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จนนำพาซึ่งความสำเร็จในชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้หอคำหลวงจะเป็นอาคารมรดกของคนไทยทั้งชาติ ไว้สำหรับเรียนรู้และสืบสานงานศิลปะสกุลช่างล้านนาต่อไปในอนาคต
สำหรับชั้นบน จะจัดให้เป็นหอเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายในจัดให้มีการแสดงจิตรกรรมฝาผนังแบบล้านนาบอกเล่า เรื่องราวของพระองค์ท่าน อันเป็นพระราชกรณียกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาด้านต่าง ๆ ตรงกลางห้องโถงกำหนดให้มีการสร้าง ต้นโพธิ์ทอง หรือ ต้นบรมโพธิสมภาร ประกอบด้วยใบทั้งหมด 21,915 ใบ เป็น ต้นไม้แห่งทศพิธราชธรรมที่ใบมีการดุนอักษรนูนต่ำที่มีคำที่เป็นธรรม 10 ประการ เป็นภาษาบาลี อันหมายถึง ทศพิธราชธรรม อันเป็นธรรมะที่พระองค์ท่านยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้เหล่าพสกนิกรอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบารมีตราบเท่าปัจจุบัน ซึ่งต้นโพธิ์ทองนี้เองที่เป็นดั่งหัวใจของหอคำหลวง
by Traveller Freedomอาคารสถาปัตยกรรมล้ำค่าในสวนพ่อหลวง @ หอคำหลวงองค์ประกอบที่เป็นสุดยอดความงดงามของหอคำหลวงองค์ประกอบที่งดงามที่สุดของหอคำหลวง ..ต้นโพธิ์ทอง