ถึงตรงนี้ก็คิดว่าน่าจะหมดกันแล้วล่ะ ซึ่งหมดในที่นี้หมายถึง สุดทางของถนนราชดำเนินกันแล้ว
จากสี่แยกกลางเวียงที่เป็นร้านข้าวต้ม 1 บาท เดินทอดน่องกันมาเรื่อยๆ จะเห็นว่าตลอดสองข้างทางโซนนี้จะเป็นร้านอาหารและโรงแรมเยอะขึ้นตามลำดับให้เลือกเข้าไปใช้บริการกันครับ และแน่นอนที่ยังเหมือนเดิมก็คือ ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างจีน และชาวตะวันออก
ก่อนถึงสถานีตำรวจ ขวามือเป็นวัดชัยพระเกียรติ วัดนี้เป็นวัดที่ต้องควรแวะครับ เพราะตามความเชื่อ เชื่อกันว่า ใครมาไหว้พระ ทำบุญที่นี้ จะทำให้เสริมสร้างเกียรติยศและศักดิ์ศรีให้แก่ตัวเอง
วัดชัยพระเกียรติเป็นพระอารามของนครเชียงใหม่มาแต่โบราณกาล สมัยพระเมกุฏิวิสุทธิวงค์ โดยกษัตริย์เชียงใหม่จะทรงทำนุบำรุงวัดนี้ มาจนถึงเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับ สุดท้ายของราชวงศ์มังราย มีพระเจ้าห้าตื้อ พระประธานที่ประดิษฐานในวิหาร มีน้ำหนักทองที่หล่อพระพุทธรูปองค์นี้มีอยู่ 5 ตื้อ ( 1 ตื้อ เท่ากับ 10 โกฏิ ) จึงเรียกพระนามว่า พระเจ้าห้าตื้อ ที่ฐานของพระพุทธรูปด้านหน้า เป็นอักษรพม่าส่วนด้านหลังของพระพุทธรูป เป็นอักษรพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นสมัยนั้นพม่ามีอิทธิพลควบคุมล้านนามาก
จากวัดชัยพระเกียรติ เดินมาเรื่อยอีกไม่ถึง 500 เมตร ซ้ายมือก็เป็น วัดศรีเกิด อีกวัดโบราณแห่งหนึ่ง ที่มีอายุนานหลายร้อยปี ก่อนพญามังรายจะมาสร้างเวียงใหม่แห่งนี้ โดยไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าใครเป็นผู้สร้าง ในวัน เดือน ปีไหนและเมื่อไรภายในวัดมีพระพุทธรูปโลหะปางมารวิชัย ที่แต่เดิมประดิษฐานอยู่วัดป่าตาลมหาวิหาร มีชื่อเรียกว่า พระเจ้าแข้งคม หรือ พระเจ้าแค่งคม เนื่องจากพระชงฆ์เป็นสันแหลมยาวแตกต่างจากพระพุทธรูปองค์อื่นๆ มีลักษณะคล้ายศิลปะแบบอู่ทองและในทุกๆ ปี ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการสรงน้ำพระธาตุหน้าพระวิหารในวันที่ 15 เมษายน และจะมีการสรงน้ำพระเจ้าแค่งคมด้วย นอกจานี้ในวัดยังมีไม้ศรีมหาโพธิ์ ที่พระมหาเถระ นำมาจากประเทศลังกา
และแล้วก็มาถึงจนสุดทางของถนนราชดำเนินซึ่งก็คือวัดพระสิงห์ วัดสำคัญ และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองเชียงใหม่
ความสำคัญของวัดพระสิงห์นั้น เป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระพุทธรูปเป็นศิลปะเชียงแสนรู้จักกันในชื่อ "เชียงแสนสิงห์หนึ่ง" ครับ ตามประวัติวัดนั้นเล่าว่า พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ราชวงศ์มังราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1888 ขั้นแรกให้ก่อสร้างเจดีย์สูง 23 วา เพื่อบรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา ต่อมาอีก 2 ปี จึงได้สร้างพระอาราม เสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิสงฆ์ เมื่อเสร็จเรียบร้อย ทรงตั้งชื่อว่า "วัดลีเชียงพระ" สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ขึ้นครองนครเชียงใหม่ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงราย เมื่อขบวนช้างอัญเชิญมาถึง
ส่งท้ายกันก่อนจากลา มีร้านชาชักมาแนะนำครับ หน้าวัดพระสิงห์ ชื่อร้าน นราชาชัก ใครไปเที่ยววัดพระสิงห์ คอแห้งๆ แวะลองชิมกันได้ครับ รสชาติอร่อย แถมราคาถูกอีกหาก ส่วนวันเสาร์เจอร้านได้ที่ถนนคนเดินวัวลาย