ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
พฤศจิกายน 27, 2024, 05:15:46 AM
หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก
ข่าว: ประกาศ การกระทำใดๆ  เพื่อที่จะให้กระทู้ตัวเองมาอยู่อันดับต้นๆ ประจำ หากพิจารณาแล้วว่า ไม่เกิดประโยชน์กับผู้เข้าชม  ก็รับสิทธิ์โดนแบนเหมือนกันครับ


จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ  |  วัดในจังหวัดเชียงใหม่  |  หัวข้อ: ตามรอยโบราณศักดิ์สิทธิ์ 3000 ปี ที่วัดพระธาตุดอยน้อย (ฉบับเต็ม) 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: 1 ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ตามรอยโบราณศักดิ์สิทธิ์ 3000 ปี ที่วัดพระธาตุดอยน้อย (ฉบับเต็ม)  (อ่าน 6524 ครั้ง)
konhuleg
บุคคลทั่วไป
« เมื่อ: สิงหาคม 07, 2015, 11:33:45 AM »


หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ที่เป็นที่เชิดหน้าชูตา ชนิดที่ใครไปใครมาต่างก็แวะชมนั้นต้องชื่อของ “วัดพระธาตุดอยน้อย” รวมเข้ามาอยู่ด้วย  และด้วยความสำคัญดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมต้องมายังที่นี้กันครับ

วัดพระธาตุดอยน้อย  ตั้งอยู่บนเขาลูกหนึ่งทางทิศตะวันออกของถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๔๔ กม.  ตรงข้ามสำนักงานพัฒนาภาค ๓  หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาจอมทอง  จะมีทางแยกเข้าไปถึงยอดดอย  ห่างจากถนนใหญ่  ประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร  บนยอดดอยนั้นก็เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า  พระนางจามเทวีได้ทรงสร้างขึ้น  เมื่อครั้งที่เสด็จมาครองเมืองลำพูน  ตามคำเชิญของสุเทวฤาษี  ประมาณปี พ.ศ. ๑๒๐๑   เมื่อนับถึงกระทั่งปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๘) วัดพระธาตุดอยน้อยก็สร้างมาแล้วประมาณ ๑๓๕๗ ปี ซึ่งรายละเอียดของกำเนิดวัดพระธาตุดอยน้อย มีกันดังต่อไปนี้

ในวันแรม ๑๒ ค่ำ  เดือนยี่  ปีมะเส็ง  พุทธศก ๑๒๐๑  พระนางจามเทวีพร้อมด้วยโยธาประชากร  เริ่มเข้าสู่เขตดินแดนหริภุญชัย  เนื่องจากลำน้ำระมิงค์ยามนี้ไหลเชี่ยวมาก  เมื่อขึ้นตามลำน้ำมาจะเห็นเนินข้างเขียวชอุ่ม  ก็ทรงอยากจะสร้างพระเจดีย์  จักได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  อันนำมาจากเมืองละโว้  ก็ปรึกษากับปวงชนทั้งหลายที่มาด้วยกัน  ต่างก็เห็นชอบด้วย  จึงให้นายพรานธนู  ผู้ที่มีความรู้ในทางไตรเพท  ตั้งสัจจะอธิษฐานยิงธนูเพื่อจักหาที่ประดิษฐานพระเจดีย์  เพื่อสถิตไว้ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุเจ้า  นายขมังธนูรับพระราชโองการแล้วก็ยิงธนู  ให้คนทั้งหลายตามดูยังที่ลูกธนูจักตก  ก็ปรากฏว่าลูกธนูตกลงยังดอยน้อย  ริมฝั่งแม่น้ำระมิงค์  จึงให้หยุดพักไพร่พล  ณ  สถานที่แห่งนั้น  และทรงให้คนทั้งมวลสร้างพระเจดีย์  ทำการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  และขนานนามที่นั่นว่า “ปะวีสิถะเจดีย์” 

เมื่อวันเริ่มสร้างพระเจดีย์  ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ  เดือน ๓ ปีมะเส็ง  พุทธศักราช  ๑๒๐๑  พระองค์ทรงสร้างพระเจดีย์ทองคำบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  และสร้างพระพุทธรูปเท่าพระองค์  หมู่เศรษฐีที่ติดตามมา  ก็ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก  พร้อมทั้งสิ่งของต่างๆ ที่มีค่า  ซึ่งนำมาจากเมืองละโว้  เป็นต้นว่า  แก้ว  แหวน  เงิน  ทอง  สิ่งของที่พระนางจามเทวีและเศรษฐีนำมาเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์  แล้วได้ทรงสถาปนาให้ช่างก่อสร้างโขง  เพื่อบรรจุพระเครื่องรางของขลังต่างๆ แล้วก็สร้างพระพุทธรูปบรรจุไว้ในโขงแห่งนั้น  หันหน้าพระพักตร์ไปทางทิศทั้งสี่  ในคราวนั้นพระสงฆ์ที่เดินทางมากับพระนางจามเทวีก็ได้ทรงผูกพัทธสีมา  เพื่อทำกิจพระสงฆ์  ห่างจากพระเจดีย์ไปประมาณ ๕๐ เมตร  ก็สร้างพระเจดีย์แล้วเสร็จ  ในวันขึ้น ๘ ค่ำ  เดือน ๔  ปีมะเส็ง  พุทธศักราช ๑๒๐๑  ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๑ เดือน  กับ ๖ วัน  เมื่อสร้างเสร็จแล้ว  จึงได้ทรงเฉลิมฉลอง ๓ วัน ๓ คืน  เสร็จแล้วนำเอาเครื่องราชสักการะต่างๆ พร้อมกับเครื่องแห่พระธาตุเจ้า  และสิ่งของที่ใช้กับพระธาตุเจ้า  นำเข้าเก็บไว้ในถ้ำ  แล้วได้โอกาสหยาดน้ำ  ให้ผ้าขาว ๔ ตน  คือ  ผ้าขาวเทียน ๑  ผ้าขาวตา ๑  ผ้าขาวคิม ๑  พร้อมกับลูกหลาน ๔ ครัว  กับบ้าน ๔ บ้าน  ทั้งนาและหนองพร้อมกับสิ่งของที่มีศรัทธานำมาถวายเจดีย์  ให้เป็นที่ของผู้อยู่อุปัฎฐากรักษาพระเจดีย์องค์นี้ไปตามประสงค์  ต่อจากนั้นก็เดินทางต่อไปครองเมืองหริภุญชัย (ลำพูน)

ส่วนตอนหน้าจะพาไปดูสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดกันครับ




* d1_1.JPG (241.31 KB, 800x533 - ดู 1454 ครั้ง.)

* d1_2.JPG (275.55 KB, 800x533 - ดู 1242 ครั้ง.)

* d1_3.JPG (191.93 KB, 800x533 - ดู 1424 ครั้ง.)

* d1_6.JPG (321.79 KB, 800x533 - ดู 1412 ครั้ง.)

* d1_4.JPG (306.84 KB, 800x533 - ดู 1503 ครั้ง.)

* d1_5.JPG (263.03 KB, 533x800 - ดู 1220 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 06, 2016, 10:38:10 AM โดย TripChiangmai » บันทึกการเข้า
blacksheep
Jr. Member
**
กระทู้: 59



ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: สิงหาคม 08, 2015, 10:40:07 AM »


น่าไปสักการะ  903
บันทึกการเข้า

konhuleg
บุคคลทั่วไป


อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: กันยายน 05, 2016, 10:06:53 AM »


สำหรับสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดพระธาตุดอยน้อย นั้นมีหลากหลายอย่างด้วยกันครับ และจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ลองตามมาดูกันได้

พระบรมธาตุดอยน้อย วัดพระธาตุดอยน้อย เป็นเจดีย์ทรงหริภุญชัยผสมดอยสุเทพ ศิลปะแบบลังกาทรงระฆังคว่ำ ฐานย่อมุม ฐานกว้าง ๙ เมตร สูง ๒๑ เมตร ซึ่งมีการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ดังนี้

เมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๙ พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ (พระเมืองแก้ว)  ได้คันพบตำนานพระเจดีย์ของพระนางจามเทวีซึ่งพระเจดีย์ในขณะนั้น ได้ปรักหักพังลงเหลือแต่ฐานล่าง  จึงได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์  และโปรดให้จารึกตัวอักษรที่แผ่นศิลาทั้งสองด้าน (เรียกว่า ตัวฝักขาม)  ข้อความในศิลาจารึกนั้น  ได้กล่าวเท้าความถึงพระนางจามเทวี ได้มาสร้างพระเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและขนานตามเขาลูกนี้ว่า สุวัณณะจุลละคีรี คำว่า สุวัณณะจุลละคีรี แปลว่า ภูเขาทองน้อย แต่คำว่าทองหรือทองคำ  ทางเมืองเหนือเรียกสั้นๆ ว่า  คำ ฉะนั้น  สุวัณณะจุลละคีรี  หากจะแปลอย่างเมืองเหนือก็ว่า ดอยคำน้อย แต่คำนิยมเรียกสั้นๆ ว่า  ดอยน้อย

เมื่อสร้างแล้วเสร็จ พระนางก็โปรดให้ผ้าขาว ๔ ตนพร้อมด้วยครอบครัว เป็นผู้คอยเฝ้ารักษาและบำรุงพระธาตุ  แล้วจึงเสด็จไปครองเมืองหริภุญชัย  ส่วนข้อความตามที่ผู้จารึกระบุไว้ว่า  จารึกไว้เมื่อวันพุธแรม ๔ ค่ำเดือน ๑๑ ปีขาล ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าเมกุฏีสุทธิวงศ์(ขึ้นครองราชย์ในระหว่างปี พ.ศ. ๑๐๙๔-๒๑๐๖ ซึ่งเป็นปลายสมัยลานนาเป็นเอกราช    หลังจาก พ.ศ. ๒๑๐๖ แล้ว  ลานนาไทยก็ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าโดยสิ้นเชิง) พระองค์ทรงเห็นว่า พระธาตุดอยน้อยชำรุดทรุดโทรมลง เมื่อพิเคราะห์ดูตามตำนาน  ก็ทรงทราบว่าพระนางจามเทวีทรงสร้างไว้  จึงโปรดให้ขุนดาบเรือนมาทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น  เมื่อทำการบูรณะเสร็จแล้วจึงได้สืบหาตระกูลุปัฏฐากพระเจดีย์ที่สืบสายโลหิต  มาจากผ้าขาวทั้ง ๔ ตน ที่พระนางจามเทวีทรงตั้งไว้ ซึ่งในขณะนั้นมีอยู่ ๒๒ ครัวเรือน จึงพระมีพระแสรับสั่งให้บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้อุปัฏฐากพระเจดีย์สืบไป  ให้รักษาพระเจดีย์ตลอดจนบริเวณอย่าให้รกรุงรัง ส่วนสิ่งของต่างๆ ที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาถวายบูชาพระเจดีย์ ให้เป็นของแก่บุคคลเหล่านั้นทั้งสิ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นเวลาหลายร้อยปีองค์พระเจดีย์ก็ทรุดโทรมลงอีกตามกาลเวลา

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ท่านครูบามหาวรรณเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองได้เป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่งแต่ไม่สำเร็จทำขึ้นไปได้แค่ปากขันหงายเท่านั้นส่วนจะมีเหตุขัดข้องประการใดนั้นไม่ปรากฏ

เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๐  ครูบาศรีวิชัย วัดดอยหล่อ,  ครูบาชมพู  วัดสองแคว และครูบาธนัญชัย  วัดทุ่งท้อ พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์จนสำเร็จ  ต่อมาราว พ.ศ. ๒๔๔๔ มีทายกผู้หนึ่งชื่อว่า น้อยคันธิยะ อยู่บ้านดงก้อมได้พร้อมกันกับชาวบ้าน  สร้างวัดขึ้นที่ม่อนฤาษี  โดยรับเป็นศรัทธาสร้างวิหารแต่ผู้เดียว  เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วได้นิมนต์พระสงฆ์ไปจำพรรษาอยู่ได้สองพรรษา  ชาวบ้านก็ได้พากันโยกย้ายวัด  โดยมิได้บอกให้ทายกผู้นั้นทราบแต่อย่างใด ทายกผู้นั้นจึงได้มอบถวายวิหารที่ตนสร้างนั้นให้แก่ครูบาศรีวิชัย วัดดอยหล่อ เพื่อขอให้นำมาสร้างที่วัดพระธาตุดอยน้อยนี้ ครูบาศรีวิชัยจึงได้ชวนชาวบ้านไปรื้อและขนมาสร้างตามเจตจำนง

พ.ศ. ๒๔๕๓ ครูบาศรีวิชัย ไปเป็นประธานสร้างกำแพงล้อมรอบพระเจดีย์ และสร้างศาลาบาตรไว้ด้านเหนือพระเจดีย์ ๑ หลังด้านใต้ ๑ หลังเพื่อให้เป็นที่พำนักของผู้ไปทำบุญ   

สำหรับส่วนที่ก่อเป็นรูปคล้ายพระเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวิหารสามมุกนั้นเรียกว่า "โขง" เข้าใจว่าเป็นโขงสำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เพราะคนสูงอายุได้เห็นมาและเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า รูปเดิมเป็นสี่เหลี่ยมยกฐานขึ้น   จากพื้นดินนิดหน่อย มีโขงสี่ด้านสันนิษฐานว่า คงสร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับพระเจดีย์  เพราะมีเรื่องเกี่ยวกับพระฤาษีทั้ง ๔ ตนอยู่ทั้ง ๔ ทิศใครอยู่ทิศใดก็สร้างพระพุทธรูปในโขง  ให้หันพระพักตร์ไปทิศนั้น แม้เรื่องการทำพลีกรรมในการที่จะเอาทองคำออกจากบ่อน้ำ  ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็ปรากฏว่าให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระฤาษีทั้ง ๔ ตนก่อน

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ครูบาศรีวิชัย วัดดอยหล่อ ได้ให้รื้อแล้วก่อใหม่แต่นายช่างผู้รับเหมาก่อสร้าง  ได้ทำให้ผิดรูปเดิมไปเลย สภาพของวัดดอยน้อยก่อนที่ยังไม่เกิดเป็นวัดนั้นเป็นป่าไม้ รวกบ้าง ไม้ยืนต้นบ้างอยู่หนาทึบ เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าเช่น  เสือ  ลิง  นกยูง  เป็นต้น  เนื่องจากไม่มีใครอยู่ประจำ  ต่อเมื่อคราวเทศบาลประเพณีจึงมีการแผ้วถางบริเวณพระเจดีย์และทางขึ้นดอยกันครั้งหนึ่ง

ยังมีต่ออีกตอนกับเรื่อง พระธาตุดอยน้อยครับ



* A0001.jpg (218.32 KB, 533x800 - ดู 1152 ครั้ง.)

* A0002.jpg (193.06 KB, 800x533 - ดู 1079 ครั้ง.)

* A0003.jpg (190.53 KB, 800x533 - ดู 1110 ครั้ง.)

* A0004.jpg (148.99 KB, 800x533 - ดู 1247 ครั้ง.)

* A0005.jpg (136.89 KB, 800x533 - ดู 1074 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 06, 2016, 10:37:32 AM โดย TripChiangmai » บันทึกการเข้า
konhuleg
บุคคลทั่วไป


อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: กันยายน 05, 2016, 10:09:16 AM »


เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔  พระอธิการมูลวัดดอยหล่อ ได้พาพวกศรัทธาชาวบ้านมาแผ้วถางที่บริเวณพัทธสีมา และสร้างโรงอุโบสถชั่วคราวขึ้น  แล้วอาราธนาท่านครูบาอินทจักร วัดน้ำบ่อหลวง ซึ่งในเวลานั้นท่านกำลังเดินรุกขมูลอยู่ในเขตอำเภอแม่ริมให้มาเป็นประธานสงฆ์  เข้าปริวาสกรรม คณะศรัทธาชาวบ้าน ได้ปรึกษาหารือกันถึงเรื่องการที่จะบูรณปฏิสังขรณ์  โรงอุโบสถที่วัดพระธาตุดอยน้อยนี้หลายครั้ง ในที่สุดก็ตกลงกันว่าจะร่วมมือกันบูรณปฏิสังขรณ์โรงอุโบสถถาวรขึ้น ฉะนั้นเมื่อเข้าปริวาสกรรมเสร็จแล้ว  ก็เริ่มลงมือทำกัน โดยแรงงานสามัคคีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์  ทำอยู่ประมาณ ๑,๑๐๐ รูปี เมื่อได้บูรณปฏิสังขรณ์โรงอุโบสถขึ้นแล้ว ก็จำเป็นต้องมีผู้อยู่ดูแลรักษาท่านครูบาอินทจักร  ผู้เป็นประธานในการปฏิสังขรณ์ จึงให้ท่านพระอธิการ   มูลวัดดอยหล่อ  ย้ายขึ้นมาอยู่ร่วมกันกับพระคัมภีโร ซึ่งเดินรุกขมูลมาพร้อมกับท่านพระครูบาอินทจักร ให้อยู่ดูแลรักษาโดยให้รวมเป็นสำนักเดียวกัน กับวัดดอยหล่อ เพราะฉะนั้นวัดพระธาตุดอยน้อยจึงรวมชื่ออยู่วัดดอยหล่อ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ตราบจนถึง พ.ศ. ๒๔๙๘ ทางคณะสงฆ์จึงให้แยกเป็นคนละวัด
       
อนึ่ง เมื่อพระอธิการมูล ได้ย้ายมาอยู่วัดพระธาตุดอยน้อยนี้แล้ว ก็ได้พร้อมใจกันทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ไปอาราธนาเอาพระบรมธาตุ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดดอยหล่อ ขึ้นมาประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุดอยน้อย โดยมีความเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสมโดยประการทั้งปวง

พ.ศ. ๒๕๒๗ พระอธิการอุดม อานันโท ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในปัจจุบัน เห็นว่าพระเจดีย์มีรอยร้าวหลายแห่ง ปูนขาวที่ฉาบอยู่ก่อนหมดอายุ ก็ได้กะเทาะออก ทำให้ต้นไม้และหญ้าขึ้น  จึงได้เจริญพรขอแม่จันทร์ฟอง ซึ่งอยู่ที่นันทารามเชียงใหม่    มาเป็นเจ้าภาพในการบูรณะพระเจดีย์ กำแพงล้อมรอบพระเจดีย์ศาลาบาตรด้านใต้พระเจดีย์การบูรณะ ในครั้งนี้ได้ใช้หลักการก่อสร้างสมัยใหม่เข้ามาประกอบ เพื่อจะให้พระเจดีย์ถาวรยิ่งขึ้น  โดยเทคอนกรีตเสริมเหล็กยึดฐานล่างๆ ก่อสร้างให้สวยงาม  แล้วเซาะปูนขาวออกเอาปูนซีเมนต์เข้าฉาบแทน   ทำสีใหม่ทั้งองค์ เมื่อเสร็จแล้วก็ทำสัปทนทองเหลืองใส่สี่มุมเจดีย์อีกด้วย ซึ่งงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ประมาณ   ๕๐๐,๐๐๐ บาท

พ.ศ. ๒๕๓๔ บูรณะวัดร้างเชิงดอยทิศเหนือของวัด ให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรม โดยการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรม กุฏิวิปัสสนากรรมฐาน ๕ หลัง สิ้นทุนทรัพย์ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท

พ.ศ. ๒๕๓๗ การบูรณะพระธาตุ รอการลงลักปิดทอง แต่เกิดแผ่นดินไหวฝนตกหนัก ทำให้พระธาตุทรุดร้าว   จำเป็นที่จะต้องรื้อทองจังโกออกเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ โดยใช้คอนกรีตเสริมเหล็กทั้งองค์โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือเป็นองค์ประธานในการบูรณะ พระครูสาธุกิจจานันท์ (พระครูอุดม อานันโท) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยน้อย เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับข้าราชการอำเภอดอยหล่อ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปกรที่ ๖   เชียงใหม่    ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค ๓

พ.ศ. ๒๕๔๖ พระครูสาธุกิจจานันท์  เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยน้อย ได้ปรึกษาหารือกับอุบาสกอุบาสิกา  เพื่อที่จะสร้างยอดฉัตรทองคำประดิษฐานไว้บนเจดีย์ เพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นมหามงคลอันยิ่งใหญ่ ต่างก็เห็นพ้องต้องกันที่จะร่วมกันสร้างขึ้น จึงได้รวบรวมปัจจัยและทองคำเป็นระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นจึงได้จัดทำยอดฉัตรทองคำขึ้น โดยช่างฝีมือทำทองแบบโบราณ และได้ทำการยกยอดฉัตรทองคำขึ้นประดิษฐานในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

ตอนหน้ามาดูสิ่งที่น่าสนใจอย่างอื่นในวัดกันครับ




* B0001.jpg (204.12 KB, 533x800 - ดู 1120 ครั้ง.)

* B0002.jpg (131.7 KB, 800x533 - ดู 1119 ครั้ง.)

* B0003.jpg (112.4 KB, 800x533 - ดู 1093 ครั้ง.)

* B0004.jpg (181 KB, 800x533 - ดู 1158 ครั้ง.)

* B0005.jpg (177.34 KB, 800x533 - ดู 1115 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 06, 2016, 10:37:48 AM โดย TripChiangmai » บันทึกการเข้า
konhuleg
บุคคลทั่วไป


อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: กันยายน 05, 2016, 10:11:30 AM »


อนุสาวรีย์พระสุพรหมยานเถระ (ครูบาพรหมา พรหมจักโก) จัดสร้างขึ้นโดยคณะศิษยานุศิษย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์น้อมระลึกถึงพระคุณของครูบาฯ ที่มีต่อบรรดาศิษยานุศิษย์ ทั้งบรรพชิตและฆราวาส เป็นการประกาศเกียรติคุณที่ท่านได้บำเพ็ญไว้ในพระพุทธศาสนาอย่างมาก สมกับเป็นพระเถระที่ปฏิบัติถึงอริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา บริบูรณ์ด้วยวิชชาและวิมุติ เป็นปูชนียบุคคลที่ควรบูชาเพื่อให้อนุชนที่มีกุศลจิตประพฤติปฏิบัติตามเป็นเยี่ยงอย่าง

มูลเหตุสำคัญสองประการในการสร้าง คือ ประการแรกเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อท่านครูบาฯ ที่ท่านได้เมตตาแสดงมหากริยาโปรดคณะศิษย์ให้มีปัญญาเข้าใจในธรรมจักขุ (มีดวงตาเห็นธรรมโดยระบบจิตสู่จิต) ในคืนวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ประการที่สอง เนื่องจากท่านครูบาฯ อาพาธหนักหลายเดือน ทางคณะศิษย์ฯ จึงพร้อมใจกันขออนุญาตท่านสร้างรูปเหมือนยืน โดยอาศัยกุศลเจตนาให้ท่านเจริญอิทธิบาทสี่ในการรักษาอาพาธให้หายเป็นปกติ จนสามารถยืนถ่ายรูปทำแบบปั้นรูปเหมือนได้ เมื่อท่านครูบาฯ หายเป็นปกติดีแล้ว คณะศิษย์ฯ จีงสร้างรูปเหมือนไปถวายแก่ท่านที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า เมื่อวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๔

ท่านครูบาฯ ปรารภว่าจะนำรูปเหมือนมาประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุดอยน้อย เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการออกเดินธุดงค์และได้มาจำพรรษาที่วัดนี้เป็นแห่งแรก ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๗ ก่อนมรณภาพ ๓ วัน ท่านครูบาฯ พร้อมด้วยคณะศิษย์ฯ มาเลือกวันที่ก่อสร้างอนุสาวรีย์ ณ ที่นี้ ซึ่งบ่ายหน้าไปทางวัดพระพุทธบาทตากผ้า อนุสาวรีย์แห่งนี้ใช้เวลา ๓ ปีเศษ จึงแล้วเสร็จ และกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๓๑ เมษายน ๒๕๓๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖

อุโบสถ เมื่อพระแม่เจ้าจามเทวีได้เสด็จจากละโว้ (ลพบุรี) ได้มาสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วได้ทำการสร้างอุโบสถผูกพัทธสีมา เพื่อเป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ เมื่อพ.ศ.๑๒๐๑ ในคราวสร้างพระธาตุดอยน้อย พัทธสีมาแห่งนี้มีการสร้างแปลกกว่าที่อื่นๆ คือทางด้านหลังใช้หินทำเป็นรูปท้ายเรือฝังลึกลงไปในฐานอุโบสถ ๓ ศอก ด้านหน้าใช้หินทำเป็นศิลาจารึกปักไว้คล้ายหัวเรือ กว้างประมาณ ๒ ศอก หนาประมาณ ๑ คืบ แต่แตกออกเป็นหลายชิ้นจึงได้เก็บรวบรวมฝังไว้ใต้ฐานอุโบสถ ส่วนหัวเรือมีอักษรจารึกไว้ ได้ย้ายไปข้างพระเจดีย์ทิศใต้

อุโบสถหลังแรกได้ชำรุดทรุดโทรมลง เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่กษัตริย์พระเมืองแก้ว ได้มอบให้ขุนดาบเรือนมาบูรณะพระธาตุและบูรณะอุโบสถขึ้นใหม่เมื่อปีพ.ศ.๒๐๙๖  ต่อมาหลังปี พ.ศ.๒๓๐๐ วัดได้ร้างไปด้วยสงครามพม่ารุกราน ราษฎรย้ายถิ่นฐาน วัดจึงขาดการดูแลจนถึงปีพ.ศ.๒๔๗๕ ครูบาอินทจักร ครูบาพรหมา ครูบาคัมภีระ ครูบามูล ได้มาจำพรรษาบูรณะวัดร้างขึ้นใหม่ ตอนนั้นสภาพของอุโบสถเหลือแต่ฐานล่างมีศิลาจารึกสองแผ่น ด้านหน้าเป็นหัวแหลมคล้ายหัวเรือมีอักษรจารึกไว้ (ในปัจจุบันอยู่ข้างพระเจดีย์ทิศใต้)  ด้านหลังเป็นท้ายตัดเหมือนท้ายเรือได้ถูกผู้ร้ายทุบทำลายไปหลายชิ้น ต่อมาภายหลังจึงรวบรวมฝังไว้ใต้ฐานอุโบสถคราวบูรณะเมื่อพ.ศ.๒๔๗๕ และได้สร้างอุโบสถขึ้นครอบฐานเดิม แต่สภาพของพัทธสีมาคงไว้สภาพเดิมเป็นศิลปะล้านนา บูรณะซ่อมแซมหลังคาเมื่อพ.ศ.๒๕๓๙ ตัวอุโบสถยังคงเป็นปูนขาวเหมือนเดิม นับว่าอุโบสถแห่งนี้ได้สร้างขึ้นถึง ๓ ครั้ง อุโบสถหลังนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างพระธาตุดอยน้อยในปัจจุบันนี้

หอไตร วัดพระธาตุดอยน้อย เป็นสถานที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ใบลานและพระธรรมที่สำคัญๆ ทางศาสนา สร้างด้วยไม้สักทองเป็นศิลปะล้านนาประดับลวดลายด้วยไม้ฉลุและแกะสลักพร้อมทาสีทองในปีพ.ศ.๒๕๔๗ โดยท่านพระครูสาธุกิจจานันท์พร้อมคณะศรัทธาครับ

รูปพระแม่เจ้าจามเทวี (ตรงกลาง) มีพระพี่เลี้ยงอยู่สองข้าง คือเจ้าแม่เกตุวดี (ด้านซ้าย) และเจ้าแม่ประทุมวดี (ด้านขวา) ประดิษฐานภายใน อาศรมแก้วเสด็จแม่เจ้าจามเทวี วัดพระธาตุดอยน้อย ครับ

พระพุทธรูปปางลีลา ประดิษฐานด้านหน้า อาศรมแก้วเสด็จแม่เจ้าจามเทวี วัดพระธาตุดอยน้อย

อาศรมแก้วเสด็จแม่เจ้าจามเทวี วัดพระธาตุดอยน้อย สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณที่ท่านได้สร้างพระบรมธาตุดอยน้อย วัดพระธาตุดอยน้อย




* C0001.jpg (313.64 KB, 800x533 - ดู 1106 ครั้ง.)

* C0002.jpg (286.74 KB, 800x533 - ดู 1104 ครั้ง.)

* C0003.jpg (235.4 KB, 533x800 - ดู 1127 ครั้ง.)

* C0004.jpg (235.34 KB, 800x533 - ดู 1177 ครั้ง.)

* C0005.jpg (300.46 KB, 800x533 - ดู 1124 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 06, 2016, 10:39:48 AM โดย TripChiangmai » บันทึกการเข้า
konhuleg
บุคคลทั่วไป


อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: กันยายน 05, 2016, 10:13:33 AM »


เจดีย์โขง ๙ ยอด (กรุพระ) เป็นเจดีย์โขง (กรุพระ) สร้างโดยพระแม่เจ้าจามเทวี สร้างมาพร้อมกับพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในพ.ศ.๑๒๐๑ เป็นโขง ๙ ยอด เดิมไม่เป็นแบบนี้ ตามประวัติว่ารูปเดิมเป็นฐานสี่เหลี่ยมยกฐานขึ้นจากพื้นดินนิดหน่อย เป็นโขงพระไม่มียอดเป็นโขงสี่ด้านมีศิลปะที่งดงาม มีเสาตรงกลาง มีพระพุทธรูปสี่องค์หันพระพักตร์ไปทั้งสี่ทิศ เดินเวียนรอบเสาได้ ข้างนอกประดับลวดลายปูนปั้น มีเรื่องเกี่ยวกับฤาษี ๔ ตน อยู่ทางทิศใดก็สร้างพระพุทธรูปหันพระพักตร์ไปทางทิศนั้น นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่เก็บพระเครื่ององค์ใหญ่องค์เล็กจำนวนมาก

ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๖๔ ทางครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดดอยหล่อ ครูบาวัดสองแคว ครูบาวัดท่าสันยศ และพระสงฆ์ทั้งหลายได้ร่วมกันบูรณะ แต่ช่างผู้รับเหมาได้ทำการสร้างครอบของเดิม โดยได้ทำผิดจากรูปเดิมเป็นเจดีย์ ๙ ยอดเป็นศิลปะแบบพม่า เพราะยุดนั้นศิลปวัฒนธรรมของล้านนาถูกครอบงำจากวัฒนธรรมของพม่า การก่อสร้างจึงเปลี่ยนแปลงจากเดิมไป

พ.ศ.๒๕๕๐ เจดีย์โขงพระได้ชำรุด พระครูสาธุกิจจานันท์ เจ้าอาวาสได้บูรณะโดยมีแม่ชีรัชดา อมาตยกุล - คุณเตชู คุณเพ็ญศรี นางสาวยาใจ บุนนาค พร้อมด้วยญาติธรรมทั้งหลายเป็นเจ้าภาพยกฉัตรวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐

พระพุทธรูปพระเจ้าทันใจ ได้ทำพิธีก่อสร้างตามแบบล้านนาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒ เริ่มเวลา ๐๓.๒๙ น. แล้วเสร็จเวลา ๑๙.๒๙ น. และทำพิธีพุทธาภิเษกให้เสร็จภายในวันเดียวกัน คณะศิษยานุศิษย์พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วไปร่วมสร้าง

ส่วนพระพุทธรูปหินสามองค์ เป็นพระพุทธรูปหินแกะสลักศิลปะเชียงแสน (ปัจจุบันได้ปิดทองใหม่ทั้งหมด) ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๕๐ เมตร สูง ๒.๒๙ เมตร (องค์ใหญ่) และขนาดหน้าตักกว้าง ๐.๙๙ เมตร สูง ๑.๔๐ เมตร (องค์เล็ก) ลักษณะเนื้อหินคล้ายกับหินที่มี ณ วัดพระธาตุดอยน้อยแห่งนี้ ช่างสมัยโบราณได้แกะสลักเป็นพระประธานที่วัดร้างเชิงดอย (ปัจจุบันเป็นสำนักแม่ชีจามเทวี) ในอดีตองค์พระงดงามมากประดิษฐานรวมกับพระพุทธรูปหินองค์เล็กองค์น้อยจำนวนมาก

ในปีพ.ศ.๒๔๖๐ กรมทางหลวงได้ขอหินจากวัดเพื่อนำไปสร้างถนนสายเชียงใหม่ – ฮอด คนงานก็เอาหินที่เป็นกำแพงวัดร้างและบริเวณใกล้เคียงไปจุนเกือบหมด อีกทั้งองค์พระพุทธรูปยังถูกโจรผู้ร้ายทุบหักเป็น ๓ ท่อน ทั้งสามองค์เพื่อหวังหาสมบัติแต่ไม่สมปรารถนาเพราะองค์พระเป็นหิน

ในปีพ.ศ.๒๕๑๑ พระอาจารย์บุญเลา ปัญญาทีโป เจ้าอาวาสในขณะนั้น ได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสามองค์ซึ่งหักเป็นหลายส่วนมาบูรณะใหม่ และอัญเชิญมาประดิษฐานบนวัดในปัจจุบันแทนที่ศาลาการเปรียญหลังเดิม ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าพระพุทธรูปทั้งสามองค์ใครเป็นผู้สร้างและสร้างสมัยใด เหตุไฉนจึงประดิษฐานที่วัดร้างทั้งๆ ที่วัดพระธาตุดอยน้อยสร้างมาแล้วหนึ่งพันกว่าปี

ตอน 6 http://www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/index.php/topic,8674.0.html#.VcQ37nHtmko


* D0001.jpg (206.99 KB, 533x800 - ดู 1104 ครั้ง.)

* D0002.jpg (201.68 KB, 800x533 - ดู 1103 ครั้ง.)

* D0003.jpg (173.07 KB, 800x533 - ดู 1066 ครั้ง.)

* D0004.jpg (304.42 KB, 800x533 - ดู 1128 ครั้ง.)

* D0005.jpg (232.92 KB, 800x533 - ดู 1073 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
konhuleg
บุคคลทั่วไป


อีเมล์
« ตอบ #6 เมื่อ: กันยายน 05, 2016, 10:19:36 AM »


พระบรมสารีริกธาตุ ที่ประดิษฐานอยู่วัดพระธาตุดอยน้อยนี้  มีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว สีดอกพิกุลแห้ง ปัฏฐานกลมเกลี้ยงซึ่งได้อัญเชิญมาจากวัดพระธาตุศรีจอมทองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยท่านครูบาศรีวิชัยได้ขอกับท่านครูบามหาวรรณไว้   เพราะในขณะนั้นวัดพระธาตุศรีจอมทอง   มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่สององค์ด้วยกัน คือ เป็นของเดิมองค์หนึ่ง  และเป็นของพุทธศาสนิกชนชาวพม่า  นำมาประดิษฐานไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗   อีกองค์หนึ่ง  ต่อมาครูบาศรีวิชัย   จึงให้พระปวนพรหมเสโน  สามเณรแสนเรือนป้อม   และสามเณรจู  ไปรับพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง  ท่านครูบามหาวรรณจึงถือโอกาสให้พระยาพิชัย (ขณะนั้นเป็นกำนัน)  มอบพระบรมสารีริกาตุให้กับพระเณรที่วัดดอยหล่อ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ ทางคณะสงฆ์ให้แยกวัดดอยหล่อและวัดพระธาตุดอยน้อยเป็นคนละวัด   อนึ่งเมื่อพระอธิการมูล  ได้ย้ายมาอยู่ที่วัดพระธาตุดอยน้อยนี้แล้ว   ก็ได้พร้อมใจกันทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์  ไปอาราธนาเอาพระบรมสารีริกธาตุซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดดอยหล่อขึ้นมาประดิษฐานที่วัดพระธาตุดอยน้อยโดยมีความเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสมโดยประการทั้งปวง

อนึ่งวัดพระธาตุดอยน้อยเคยมีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุตั้งแต่ในอดีตกาลมาแล้ว   เมื่อถึงวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ เหนือ (๖ ใต้) พุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศก็ได้พากันมากราบนมัสการพระธาตุดอยน้อยแห่งนี้   เมื่อยังไม่ได้บูรณะขึ้นเป็นวัด  ทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่พุทธศาสนิกชนนำมาถวายก็ตกเป็นของข้าพระธาตุ  ที่พระนางจามเทวีทรงตั้งขึ้น   ต่อมาภายหลังทางเจ้าอาวาสวัดดอยหล่อจึงนำเอาทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไปบูรณะวัดทั้งสอง  คือ วัดดอยหล่อ และวัดพระธาตุดอยน้อย (ขณะนั้นยังไม่ได้แยกวัด)

ปัจจุบันวัดพระธาตุดอยน้อย มี พระครูสาธุกิจจานันท์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลดอยหล่อ เขต ๒  ท่านพระครูได้พัฒนาวัดและรักษาศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของวัดมาโดยตลอด และยังมีความสามารถทางด้านอักษรล้านนา  และความชำนาญการด้านวรรณกรรมและประติมากรรมทางพระพุทธศาสนาเชิงอนุรักษ์   เช่น การลงรักปิดทอง การทำฉัตร  เป็นต้น

ปัจจุบันวัดพระธาตุดอยน้อยก็ได้เอาวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ เหนือ เป็นงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุหรืองานประจำปีของวัดตามที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่อดีตกาล

ส่วนตอนหน้าจะมาเล่าเรื่องของ อภินิหารแห่งองค์พระธาตุ ที่ต้องขอบอกว่าฟังกูไว้หูก่อนนะครบ เพราะของแบบนี้มันต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านและการฟังพอสมควร คือถ้ามันอย่างงั้นแล้ว เดี๋ยวจะหาว่าผมพาหลงงมงายเอาดื้อๆ

ตอน 7 http://www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/index.php/topic,8675.0.html#.VcQ4NHHtmko


* E0001.jpg (177.34 KB, 800x533 - ดู 1106 ครั้ง.)

* E0002.jpg (173.96 KB, 800x533 - ดู 1070 ครั้ง.)

* E0003.jpg (301.65 KB, 800x533 - ดู 1081 ครั้ง.)

* E0005.jpg (297.22 KB, 533x800 - ดู 1070 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
konhuleg
บุคคลทั่วไป


อีเมล์
« ตอบ #7 เมื่อ: กันยายน 05, 2016, 10:22:07 AM »


ส่งท้ายกันด้วยเรื่องของเรื่องของ อภินิหารแห่งองค์พระธาตุ ที่คาดว่าหลายคนคงสนอกสนใจไม่น้อย

เอ่ยถึง พระธาตุดอยน้อยนี้ เคยปรากฏอภินิหารเป็นที่ปรากฏแก่ชนทั่วไปเสมอ จนเป็นที่เลื่องลือทั่วๆ ไปว่าเป็นของวิเศษควรสักการบูชาเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อกันว่ามีขุมทรัพย์อยู่ภายในถ้ำ  ซึ่งยังไม่ทราบว่าปากถ้ำอยู่ตรงไหนเพราะถูกปิดมานานแล้ว  แต่เคยมีผู้พบเห็นรุกขเทวดาที่เฝ้ารักษาอยู่ที่นั้น แสดงตัวปรากฏอยู่เสมอ

สถานที่ดอยน้อยนี้ เดิมมีแต่พระเจดีย์และพัทธสีมาตั้งอยู่ แต่ไม่เคยมีวัดมาก่อนปรากฏตามศิลาจารึกของพระเจ้าแผ่นดินเชียงใหม่  ซึ่งมีอยู่ที่วัดพระธาตุดอยน้อยนี้ว่า “พระเจดีย์นี้พระนางจามเทวีทรงสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  ซึ่งพระนางได้อัญเชิญมาจากเมืองละโว้ (ลพบุรี) ”พระเจดีย์นี้ถือกันว่ามีอภินิหารศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะถึงแม้ในเวลาที่ไม่มีใครอยู่รักษา ก็ไม่เคยถูกผู้ใดทำลายให้เสียหายไป...

ครั้งหนึ่งเมื่อตนเองยังหนุ่มได้เคยไปแอบนอนที่วัดพระธาตุดอยน้อยตั้งหลายวัน เพื่อพยายามขึ้นเจาะพระเจดีย์ แต่ก็ไม่สามารถทำได้  เพราะถ้าขึ้นไปในเวลากลางวันก็จะมีฝูงนกกาเป็นจำนวนมากมาบินวนเวียนบ้างก็ร้อง  บ้างก็ทำท่าจิก ถ้าขึ้นไปในเวลากลางคืนก็จะได้ยินเสียงคนคุยกันเดินขึ้นดอยมาแต่ก็ฟังไม่ได้ศัพท์  เมื่อลงมาถึงก็ไม่เห็นมีใครอีก

ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีมานี้ มีผู้ร้ายขึ้นไปบนพระเจดีย์เพื่อทำการขุดเจาะพระเจดีย์ แต่พอลงมือเจาะเท่านั้นก็มีฝูงนกนับร้อยมาบินวนเวียน  บ้างก็จิกเอา  บ้างก็ร้องให้สัญญาณแก่ชาวบ้านใกล้เคียง เมื่อชาวบ้านเห็นเหตุการณ์ประหลาดนี้  จึงพากันขึ้นไปบนดอยเห็นผู้ร้ายนั่งอยู่บนเจดีย์  จึงเรียกลงมาจับตัวไว้ แต่เพราะผู้ร้ายยังไม่ได้เอาอะไรจึงปล่อยตัวไป

ส่วนเรื่องของ พัทธสีมาที่อยู่รอบอุโบสถมีเหลือแต่ฐาน มีหินสีมาล้อมรอบอยู่เป็นปกติดี  ตามเดิมสันนิษฐานว่าคงสร้างในคราวเดียวกันกับพระเจดีย์  เพราะปรากฏว่าเมื่อครั้งพระนางจามเทวีเสด็จมาก็มีพระสงฆ์ตามมาด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อพักแรมที่ใดนานก็คงผูกพัทธสีมาขึ้นเป็นที่ทำสังฆกรรม  และพัทธสีมานี้ก็สร้างแปลกกว่าที่อื่นๆ คือทางหลังใช้หินทำเป็นรูปท้ายเรือฝังลึกลงไปในฐานอุโบสถประมาณ ๓ ศอก ด้านหน้าใช้ศิลาจารึกปักเขียนไว้คล้ายหัวเรือ ซึ่งเมื่อครั้งบูรณปฏิสังขรณ์ พ.ศ. ๒๔๗๕  ท้ายเรือยังมีปรากฏอยู่กว้างประมาณ ๒ ศอ  หนาประมาณคืบเศษ แต่แตกออกจากกันเป็นหลายชิ้น   โดยถูกผู้ร้ายขุดแล้วเอาไปเผาไฟจึงได้เก็บรวบรวมฝังไว้ในอุโบสถเสีย เพราะในเวลานั้นยังไม่มีการนิยมกันในเรื่องโบราณวัตถุ  ส่วนหัวเรือนั้นในเวลานี้ได้ย้ายไปตั้งไว้ที่ลานพระเจดีย์ เนื่องจากข้อความในศิลาจารึกนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระเจดีย์

แล้วมาต่อกันกับเรื่องราวที่เหลือครับ




* H0001.jpg (302.82 KB, 800x533 - ดู 1142 ครั้ง.)

* H0002.jpg (174.81 KB, 800x533 - ดู 1071 ครั้ง.)

* H0003.jpg (177.72 KB, 800x533 - ดู 1067 ครั้ง.)

* H0004.jpg (235.23 KB, 800x533 - ดู 1050 ครั้ง.)

* H0005.jpg (212.79 KB, 533x800 - ดู 1096 ครั้ง.)

* H0006.jpg (157.66 KB, 533x800 - ดู 1061 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 06, 2016, 10:39:25 AM โดย TripChiangmai » บันทึกการเข้า
konhuleg
บุคคลทั่วไป


อีเมล์
« ตอบ #8 เมื่อ: กันยายน 05, 2016, 10:24:29 AM »


จากเรื่องของพัทธสีมาและข่อความศิลาจารึก หลักฐานที่ยืนยันให้สันนิษฐานอีกแห่งหนึ่งคือ สำนักสงฆ์ที่ตั้งอยู่เชิงดอยทางทิศเหนือ ห่างจากพระเจดีย์ประมาณ ๔ เส้น ที่สำนักสงฆ์นี้มีซากกุฏิซากวิหารมีพระพุทธรูปทั้งใหญ่และเล็กหลายสิบองค์  ล้วนเป็นศิลาทั้งสิ้นต่อจากสำนักสงฆ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๓ เส้น (บริเวณทุ่งนาปัจจุบันนี้) เคยได้รับคำบอกเล่าจากคนสูงอายุซึ่งได้เคยเห็นมาว่าเป็นบ้านร้างแต่ไม่ทราบว่าเป็นบ้านของใครสันนิษฐานว่าคงเป็นที่ประทับแรมของพระนางจามเทวี  สร้างขึ้นชั่วคราวเพื่อทรงสร้างพระเจดีย์นั่นเอง เพราะมีหลักฐานสำคัญอยู่ในบริเวณนั้นคือ  มีบ่อน้ำเล็กๆ ลึกประมาณ ๓ ศอก มีน้ำเต็มเปี่ยมอยู่เสมอทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง แต่ไม่มีใครนึกว่าสำคัญแต่ประการใด ต่อมาภายหลักจึงได้ปรากฏว่าเป็นบ่อน้ำสำคัญ เพราะมีทองคำอยู่ในนั้นมาก ปรากฏตามข้อความในลายแทงว่า

“ที่สุมสามเส้ามีทองคำอยู่สามลูกลูกที่หนึ่งหนักหนึ่งหมื่นเมื่อผู้ใดประสงค์จะเอาให้ทำพิธีกรรมคือแต่งขันข้าว ๔ ขันมีปลาปิ้ง ๔ ตัวเทียนเล่ม ๔ บาทดอกไม้ขาว ๔ ดอกทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พระฤาษี ๔ ตนเสียก่อนแล้วจึงนำออกมาได้เมื่อนำออกมา  แล้วให้จำหน่ายปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ให้สิ้น ๑ ลูกแล้วจึงนำเอา ๒ ลูกที่เหลือไปตามความประสงค์”   

ตามข้อความที่ปรากฏนั้นแสดงว่าบ้านร้างนี้ เป็นสถานที่ประทับแรมของพระนางจามเทวีจริง  ส่วนคำว่า “สุมสามเส้า” นั้นเพียงแต่รู้ๆ และเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้นแต่ไม่มีใครทราบว่าอยู่ ณ ที่ใด ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ มีพวกนักขุดหาของใต้ดินรู้เรื่องนี้   จึงได้ไปตรวจดู  พบบ่อน้ำและทองคำจริงๆ จึงผลัดกันลงไปดึงเอาลูกทองคำออกจากที่ แต่ดึงออกไม่ได้ เพราะทองคำนั้นวางอยู่ในแอ่ง  โดยมีหินลูกใหญ่ประมาณผลส้มเกลี้ยง ๓ ลูกวางเป็นเชิงรองไว้แล้วเอาหินใหญ่อีกก้อนหนึ่งวางทับไว้บนเชิงนั้น ลูกทองคำนั้นก็ใหญ่กว่าเชิงจึงนำออกมาไม่ได้  เมื่อนักขุดพยายามจนสุดความสามารถก็ไม่สามารถนำออกมาได้  จึงช่วยกันตักน้ำออกจากบ่อ  แต่จะพยายามเท่าใดน้ำก็ไม่แห้ง จึงหาวิธีใหม่โดยคิดจะงัดเอาหินที่ทับไว้ข้างบนนั้นออก  จึงพากันไปยืมชะแลงที่บนวัด  โดยโกหกเจ้าอาวาสว่ามารับจ้างขุดเหมืองที่เชิงดอยนี้  แต่เจ้ากรรมไปโดนใส่หินก้อนใหญ่เข้าจึงจำเป็นต้องใช้เหล็กชะแลงงัดจึงจะได้ ฝ่ายเจ้าอาวาสก็ได้ให้ไปตามความประสงค์  เมื่อได้แล้วจึงนำไปงัดหินแต่พอเอาเหล็กชะแลงงัดเท่านั้น   หินที่รองอยู่ข้างล่างก็ถล่มลงไปทันทีพร้อมกับเสียงดังครึกๆ ทำเอาพวกนักขุดตกใจอกสั่นขวัญหนีพากันวิ่งหนีไปคนละทิศละทาง

นอกจากบ่อน้ำสำคัญนี้แล้ว ตามประวัติที่เล่าสืบต่อกันมามีอยู่ว่า พื้นที่ดอยน้อยนี้มีถ้ำใหญ่  ซึ่งพระนางจามเทวีได้เอาเครื่องราชูปโภคเช่น  พาน ถาดทองเหลือง  เป็นต้น บรรจุไว้เป็นจำนวนมาก  เมื่อชาวบ้านจะทำบุญกันก็จะไปยืมของในถ้ำมาใช้เสมอ เมื่อนานไปของที่นำไปใช้นั้นก็หายบ้าง ไม่ส่งคืนบ้าง ฝ่ายพระสงฆ์พิจารณาเห็นว่าถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้สืบไปของในถ้ำก็จะสูญหายไปหมดสิ้น  จึงได้นำก้อนหินมาปิดปากอย่างมิดชิด ไม่ให้คนภายหลังได้สังเกตเห็น เรื่องถ้ำนี้แม้จะเป็นเรื่องเล่าปรัมปรามาเป็นร้อยๆ ปีแล้วก็ตาม แต่มีหลักฐานพิสูจน์ให้น่าเชื่อถืออยู่คือ ตรงที่ปิดปากถ้ำนั้นประมาณ ๒๐-๓๐ ปี เทพารักษ์จะนำสิ่งของมาวางให้เห็นสักครั้งหนึ่งเป็นหีบใบใหญ่       

นอกจากถ้ำนี้แล้ว ที่ท้องแม่น้ำปิงตรงหน้าอุโบสถนั้นเป็นวังลึกประมาณ ๑๐ ศอก ในวังน้ำนั้นมีหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งขนาดเท่าบาตรลักษณะกลมมีลายเป็นจุดๆ พื้นขาวจุดดำ เรียกกันว่า “หินคัน” เพราะเมื่อใครไปถูกเข้าจะเกิดเป็นตุ่มคันเกิดขึ้นทั้งตัว  คันจนทนไม่ไหว  ผู้ที่คันจะต้องไปนอนเกลือกกลิ้งทรายร้อนสักครู่จึงจะหายคัน โดยสืบทราบว่าหินคันนี้ทำขึ้นจากอำนาจเวทมนต์  ข้างในมีแผ่นตะกรุดเป็นแผ่นทองคำกว้าง ๔ นิ้ว ทำไว้สำหรับกลบทับของดีๆ เช่น เพชรนิลจินดา  เป็นต้น ถ้าใครมีวิธีแก้แล้วก็จะไม่คัน

สุดท้ายและท้ายสุดนี้ วัดพระธาตุดอยน้อย แห่ง อ.ดอยหล่อ ขอบอกว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งนี้ที่ไม่ควรพลาด ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ พุทธศาสนา และวิวทิวทัศน์ธรรมชาติ สวยงามสะดุดตากันครับ


* I0005.jpg (237.92 KB, 800x533 - ดู 1015 ครั้ง.)

* I0004.jpg (177.66 KB, 800x533 - ดู 987 ครั้ง.)

* I0003.jpg (185.81 KB, 800x533 - ดู 1031 ครั้ง.)

* I0002.jpg (204.64 KB, 800x533 - ดู 1006 ครั้ง.)

* I0001.jpg (210.79 KB, 800x533 - ดู 1037 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
auto
Administrator
Hero Member
*****
กระทู้: 5733


**Chiang Mai, I love you**


ดูรายละเอียด
« ตอบ #9 เมื่อ: กันยายน 06, 2016, 10:48:38 AM »


ขอบคุณ เรื่องราว ที่เที่ยว อ.ดอยหล่อ อีกแห่ง ที่น่าไปเยือนครับ
บันทึกการเข้า

หน้า: 1 ขึ้นบน พิมพ์ 
จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ  |  วัดในจังหวัดเชียงใหม่  |  หัวข้อ: ตามรอยโบราณศักดิ์สิทธิ์ 3000 ปี ที่วัดพระธาตุดอยน้อย (ฉบับเต็ม) « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  




Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.5 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.089 วินาที กับ 21 คำสั่ง