หลังจากที่เล่ากันไปหน่อยนึงแล้วถึงความเป็นมาของบ้านเหมืองกุง เราก็จะมาเล่าต่อถึงในส่วนที่เหลือกันครับเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุงมีลักษณะแต่ละครอบครัวต่าง ทำส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน โดยพ่อค้าคนกลางในหมู่บ้านจะนำเครื่องปั้นดินเผาใส่รถบรรทุกส่งต่อไปขายยังฝาง เชียงดาว และพร้าว ส่วนพ่อค้าคนกลางนอกหมู่บ้านที่มารับเครื่องปั้นดินเผาไปขายมีไม่มากเพียง 5% เท่านั้น และนอกจากนั้นก็จะมีชาวบ้านบางส่วนนำไปขายเองโดยนำหม้อน้ำและคนโทหาบใส่ตะกร้าใบใหญ่ไปขายที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาในแถบนั้นจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านน้ำต้น" ตามคนโทหรือน้ำต้นที่ชาวบ้านเหมืองกุงทำขายนั่นเอง นอกจากนั้นยังนำไปขายที่ตลาดต้นลำไยและตลาดหลวงเพื่อส่งให้กับพ่อค้าคนจีนอีกด้วย
ในยุคนั้นเป็นช่วงเฟื่องฟูของการทำเครื่องปั้นดินเผา น้ำต้นของบ้านเหมืองกุงมีชื่อเสียงจนเป็นที่กล่าวขานกันว่ามีคุณภาพดีที่สุดในอาณาจักรล้านนาเพราะน้ำต้นที่ทำออกมามีความบางเบาและทนทาน จับรินแล้วคอน้ำต้นไม่หักง่าย ใส่น้ำแล้วเย็นทำให้ผู้ดื่มได้รับความสดชื่น และดินของบ้านเหมืองกุงจะเก็บน้ำได้ดีเพราะว่าเป็นดินในชั้นทราย ไม่ได้เป็นดินหน้านาซึ่งจะอุ้มน้ำได้น้อยกว่าแต่นอกจากบ้านเหมืองกุงยังมีหมู่บ้านอื่นอีกที่มีการปั้นหม้อน้ำและคนโทใส่น้ำ ได้แก่ บ้านน้ำต้นสันป่าตอง แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้วเนื่องจากไม่มีการต่อยอดของคนรุ่นหลัง อย่างไรก็ตาม ยังมีบ้านกวนวัวลาย(ตำบลหารแก้ว) ที่ปั้นหม้อน้ำและหม้อแกงเพื่อใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหาร เช่น ขนมจีน แต่ใช้ดินวัตถุดิบคนละอย่างกับการปั้นหม้อน้ำและวิธีการปั้นก็แตกต่างกับบ้านเหมืองกุงด้วย
ในปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาที่เคยนิยมใส่น้ำดื่มกิน กลับกลายเป็นภาชนะอลูมิเนียม แก้วหรือพลาสติก ทำให้การสั่งผลิตน้ำต้นเริ่มน้อยลง ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงเข้าไปทำงานรับจ้างในตัวเมืองทำให้ชาวบ้านที่ทำงานเครื่องปั้นดินเผาเหลืออยู่ไม่มากนัก แต่หลังจากที่หมู่บ้านมีการตั้งกลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุงในปี พ.ศ. 2545 และได้รับเลือกจากองค์กรพัฒนาชุมชน อ.หางดง และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เป็นหมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยวเมื่อปี พ.ศ. 2548 จึงทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญและรวมตัวกันมากขึ้นจนกระทั่งปัจจุบันมีประมาณ 22 ครัวเรือนที่ทำอาชีพเครื่องปั้นดินเผาอย่างจริงจัง
ชาวบ้านเริ่มพัฒนากระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาโดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ จากเดิมอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตคือครกกระเดื่องใช้ตำดินให้ร่วน แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนามาเป็นเครื่องโม่ดินไฟฟ้า รวมทั้งเครื่องร่อนดินหรือเครื่องกรองดินซึ่งในอดีตใช้เป็นตะแกรงแต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น เครื่องร่อนดินไฟฟ้าซึ่งมีความสะดวกกว่ามาก ในด้านของอุปกรณ์ในการปั้นคือ แป้นหมุนโดยใช้มือหมุน (เรียกว่า จ๊าด) ซึ่งในอดีตทุกครัวเรือนจะปั้นโดยใช้แป้นมือหมุนนี้ ต่อมาจึงมีการนำเอาเครื่องจักรมาช่วย เช่น แป้นหมุนมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้กระบวนการผลิตมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้นและสามารถ ผลิตผลิตภัณฑ์ได้มากกว่าเดิม นอกจากนั้นชาวบ้านยังมีการปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การสร้างลวดลายที่แปลกใหม่ และการแต่งสีสันให้ทันสมัย อีกทั้งยังมีการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าอีกด้วย เช่น โคมไฟ กระถาง อ่างบัว หรือแจกัน เป็นต้น
ตอน 3
http://www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/index.php/topic,8609.0.html#.VZYJx_k0HLA