พระไตรปิฎกฉบับล้านนาแห่งแรก @ วัดร่ำเปิงสถานที่ตั้ง : เลขที่ 1 หมู่ที่ 5 ถนนคันคลองชลประทาน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
พิกัด : 18.775081,98.948646
วัดร่ำเปิง หรืออีกชื่อเรียกหนึ่งว่า วัดตโปทาราม ตั้งอยู่บริเวณชุมชนร่ำเปิง เชิงดอยสุเทพ ทางด้านหลังของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัดร่ำเปิงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติฯ ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2542 และ สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2547
ประวัติของวัดร่ำเปิงเปิดหาอ่านเจอมีใจความว่า มีพระธุดงค์รูปหนึ่งปักกลดตรงบริเวณวัดร่ำเปิงในปัจจุบัน ท่านทูลพระเจ้ายอดเชียงรายว่า เมื่อตอนกลางคืนท่านเห็นรัศมีสว่างบริเวณต้นมะเดื่อใกล้กับจุดปักกลด จึงสงสัยว่าน่าจะมีพระธาตุประดิษฐานอยู่บริเวณนั้น เมื่อพระเจ้ายอดเชียงรายทราบดังนี้ จึงอธิษฐานว่า ถ้าที่แห่งนั้นมีพระบรมธาตุฝังอยู่ขอให้ช้างพระที่นั่งที่ท่านกำลังทรงไปหยุด ณ ที่แห่งนั้น จากนั้นช้างเดินไปหยุดที่ใต้ต้นมะเดื่อ พระองค์จึงขุดดินและพบพระธาตุเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ในผอบดิน พระองค์จึงทรงทำพิธีสมโภช และอธิษฐานขอเห็นอภินิหารของพระบรมสารีริกธาตุนั้น จากนั้นจึงบรรจุลงในผอบทองแล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ และจารึกประวัติการสร้างวัดนี้ลงในศิลาจารึกเป็นตัวหนังสือฝักขาม โดยมีพระมเหสีดำเนินการสร้างแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งที่เป็นพระมหาเถระและผู้สร้างฝ่ายอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นประธาน และพระพุทธรูปตามซุ้มที่พระธาตุเจดีย์ และได้สร้างพระไตรปิฏก รวมถึงพระราชทานทรัพย์อีกเป็นจำนวนมหาศาล
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาพื้นที่วัดและลักลอบขุดพระธาตุเจดีย์ได้นำวัตถุโบราณและพระพุทธรูปไป ส่วนอุโบสถและวิหารชำรุดทรุดโทรมลง วัดร่ำเปิงจึงมีสภาพกลายเป็นวัดร้างมาหลายยุคหลายสมัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้สร้างพระวิหารขึ้นใหม่ จากนั้นอาราธนาพระภิกษุชาวบ้านร่ำเปิงรูปหนึ่งชื่อ หลวงปู่จันทร์สม หรือ ครูบาสม มาปกครองดูแลวัดจนวิหารสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2516 ในปีเดียวกันท่านถึงแก่มรณภาพ วัดจึงขาดพระจำพรรษาอยู่เกือบปี
พระวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธานนั้นมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมดูรกตามาก แผ่นศิลาจารึกได้จมดินอยู่ในวิหาร กระทั่งปี พ.ศ. 2484 คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ประชุมตกลงกันให้อัญเชิญพระประธานไปประดิษฐานไว้ ณ ด้านหลังพระวิหารวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ในคูเมืองเชียงใหม่ และได้ร่วมกับกรรมการวัดทั้งผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ทำการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้ทำการบูรณะอุโบสถที่มีอยู่เดิม มีผู้มีจิตศรัทธาช่วยซ่อมให้ได้ใช้ในการปฏิบัติสังฆกรรมมาจนถึงปัจจุบัน พระพุทธรูปที่เป็นองค์พระประธานในพระอุโบสถนั้นมีชื่อว่า หลวงพ่อศรีอโยธยา
วัดร่ำเปิง เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐานทางภาคเหนือที่ทำการอบรมพระกรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน 4 ปัจจุบันมีชาวไทยและชาวต่างชาติ สนใจมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกันอย่างมากมาย นอกจากนี้วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดแห่งแรกที่มีพระไตรปิฎกฉบับล้านนา อีกทั้งเป็นแหล่งรวบรวมที่มีพระไตรปิฎกฉบับภาษาต่างๆ มากที่สุดในโลก
by Traveller Freedom