ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
พฤศจิกายน 27, 2024, 06:30:48 AM
หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก
ข่าว: ประกาศ  โพสหัวข้อเดียวซ้ำๆ กัน รับสิทธิ์ โดนลบกระทู้ และโชคดีได้รับสิทธิ์แบนฟรี 90 วันครับ


จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ  |  แนะนำ โครงการหลวง Royal Project  |  หัวข้อ: ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ : พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: 1 ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ : พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต  (อ่าน 3489 ครั้ง)
konhuleg
บุคคลทั่วไป
« เมื่อ: พฤษภาคม 08, 2015, 11:00:31 AM »


การท่องเที่ยวจะว่าไปแล้ว ก็มีให้เลือกจิ้มได้เที่ยวกันหลากหลายแบบนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวทางศิลปะวิทยาการ, ประวัติศาสตร์, ธรรมชาติ, นันทนาการ, วัฒนธรรม, เชิงสุขภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจากการท่องเที่ยวหลากหลายประเภทนั้น มีการท่องเที่ยวแบบหนึ่งที่ผมจะพาไปทำความรู้จักกัน ก็คือการท่องเที่ยวในเชิงนิเวศ (Eco-tourism) อันหมายถึง การเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวที่มีลักษณะทางธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น โดยอาจมีเรื่องราวทางวัฒธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องโดย การจัดการการท่องเที่ยวในแหล่งนั้น จะต้องมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องมีกิจกรรมที่ส่งเสริม ให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศนั้น มีการจัดการสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมของท้องถิ่น เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดจิตสำนึกต่อการรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยผมได้เลือกเอา “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” มาเป็นสถานที่พาทุกท่านไปเที่ยวกันครับ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ถ้าขับรถจากตัวเมืองเชียงใหม่ มุ่งหน้าไปเรื่อยๆ ตามเส้นทางเชียงใหม่ - ดอยสะเก็ด จากนั้นพอเลยตรงแยกไปตัวอำเภอดอยสะเก็ด มุ่งหน้าสู่จังหวัดเชียงราย ไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตรเห็นจะได้ (ไปตามป้ายบอกทาง) ทางเข้า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะอยู่ทางด้านฝั่งขวามือ

ใครจะไปเที่ยว ก็ขอให้ไปในช่วงวันทำการนะครับ คือในวัน-เวลาราชการ ถ้าไปกันหลายคน เห็นต้องมีขั้นตอนการขอเข้าศึกษาดูงานศูนย์ฯ ด้วย แต่ถ้าไปกันไม่กี่คน (แบบผมไปคนเดียว ฮ่าๆๆ) ก็ไม่ต้องขอครับ เข้าไปดูกันเลย

สำหรับที่มาที่ไปนั้น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2525  ให้พิจารณาตั้งขึ้นบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ขอบเขตพื้นที่ โครงการประมาณ 8,500 ไร่ โดยมีพระราชประสงค์ที่ให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษาทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาต่างๆ ในบริเวณต้นน้ำเหมาะสมและเผยแพร่ให้ราษฎรนำไปปฏิบัติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธารซึ่งศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะทำการศึกษา การพัฒนาป่าไม้พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลักต้นทางเป็นการศึกษาพัฒนาด้านป่าไม้ ปลายทางเป็นการศึกษาพัฒนาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษา ด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเป็นศูนย์ ที่สมบูรณ์แบบที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์แล้วนำไปปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป ดังมีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” หรืออีกนัยหนึ่ง “สรุปผลและการพัฒนา” ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้

แล้วมาต่อกันอีกหลายตอนกับเรื่อง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ที่มีอะไรน่าสนใจเยอะแยะเหลือเกิน


* DSCF6577.JPG (320.66 KB, 800x533 - ดู 1021 ครั้ง.)

* DSCF6475.JPG (326.14 KB, 800x533 - ดู 703 ครั้ง.)

* DSCF6476.JPG (249.78 KB, 800x533 - ดู 594 ครั้ง.)

* DSCF6477.JPG (268.35 KB, 800x533 - ดู 726 ครั้ง.)

* DSCF6478.JPG (202.11 KB, 800x533 - ดู 617 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 08, 2016, 10:15:18 AM โดย art57110 » บันทึกการเข้า
DDjung
Sr. Member
****
กระทู้: 374



ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 09, 2015, 10:31:27 AM »


สวยน่าไปชม  :onio:
บันทึกการเข้า
konhuleg
บุคคลทั่วไป


อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: ตุลาคม 08, 2016, 09:57:43 AM »


เล่าถึงที่มาที่ไปและที่ตั้งของ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ กันไปแล้ว มาดูวัตถุประสงค์ของโครงการ บ้าง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำห้วยฮ่องไคร้ เขตพื้นที่ โครงการประมาณ 8,500 ไร่ ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ

1. เป็นศูนย์กลางแบบเบ็ดเสร็จที่มีการศึกษาทดลองและสาธิตในลักษณะสหวิทยาการเสมือนหนึ่งพิพิธภัณฑ์- ธรรมชาติที่มีชีวิต สำหรับราษฎรได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้แล้วนำไปปฏิบัติได้

2. เพื่อศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ด้านทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ ดิน และระบบเกษตร รวมทั้งระบบนิเวศลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ และการจัดการลุ่มน้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม

3. เป็นศูนย์กลางข้อมูลการพัฒนา บูรณาการ และแลกเปลี่ยนข้อมูล บริการข้อมูลข่าวสารทั้งในด้านวิชาการ และเชิงปฏิบัติ เพื่อประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม

4. ขยายผลการพัฒนาสู่ประชาชนในหมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์ฯ และโครงการบริการการพัฒนาในระดับพื้นที่ ให้ดำรงชีวิตที่พออยู่พอกิน และสามารถพึ่งตนเองได้

5. พัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ลุ่มน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์และ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมตามแนวพระราชดำริ

ส่วนเป้าหมายของโครงการนั้น มีดังต่อไปนี้                       

1. พัฒนาแหล่งน้ำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับสนับสนุนงานศึกษาการพัฒนาด้านต่างๆ ของศูนย์ และจัดให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของราษฎร หมู่บ้านรอบศูนย์ ที่เหมาะสมร้อยละ 70

2. ศึกษารูปแบบการพัฒนาป่าไม้ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าในพื้นที่ให้ได้ 100% ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์และสร้างจิตสำนึกให้แก่ราษฎร โดยเฉพาะหมู่บ้านรอบศูนย์ ในการอนุรักษ์ทรัพยาการป่าไม้

3. ศึกษาพัฒนาวิธีการและรูปแบบการอนุรักษ์และน้ำที่เหมาะสมกับภูมิประเทศภาคเหนือตอนบน
4. ศึกษาและทดสอบการปลูกพืชต่างๆ ที่เหมาะสมทั้งพืชสวนพืชอุตสาหกรรมพืชผักพืชไร่ ข้าว และเห็ด

5. ศึกษาการอยู่ร่วมกันของพืชต่างๆ ในพื้นที่ต่างกับสภาพความเป็นจริง และคัดเลือกพันธุ์เพื่อบริการสู่เกษตรกร

6. ศึกษารวบรวมอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่หายาก

7.ศึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม พืชอาหารสัตว์ รวมทั้งสัตว์ปีก โดยเน้นการศึกษาการเลี้ยงโคนมที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

8. ศึกษาเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์กบ และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ชนิดต่างๆที่พบในประเทศไทย

9. ศึกษาเกี่ยวกับการวางระเบียบการจับปลาในแหล่งน้ำ เทคนิคและส่งเสริมการเลี้ยงปลา

10. พัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของราษฎรหมู่บ้านรอบศูนย์ ให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง โดยมีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80,000 บาท/ครอบครัว/ปี ตลอดจนมีพัฒนาการทางสังคมอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานของความเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) ของทางราชการ

11. พัฒนาศักยภาพของคน ทางด้านจิตใจ ความคิด ให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนรวม มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีโลกทัศน์กว้าง และส่งเสริมให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี

แล้วตอนหน้าจะพาไปตะลุยดูและศึกษางานด้านวิชาการว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ มีอะไรน่าสนใจบ้างครับ



* zpb_0001.jpg (241.2 KB, 800x533 - ดู 556 ครั้ง.)

* zpb_0002.jpg (105.12 KB, 800x533 - ดู 460 ครั้ง.)

* zpb_0003.jpg (285.06 KB, 800x533 - ดู 465 ครั้ง.)

* zpb_0004.jpg (348.14 KB, 800x533 - ดู 481 ครั้ง.)

* zpb_0005.jpg (257.09 KB, 800x533 - ดู 517 ครั้ง.)

* zpb_0006.jpg (177.4 KB, 800x533 - ดู 472 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
konhuleg
บุคคลทั่วไป


อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: ตุลาคม 08, 2016, 09:59:39 AM »


มา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ การท่องเที่ยวในเชิงนิเวศหลักๆ ส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านวิชาการครับ ซึ่งก็จะมีด้วยกันถึง 10 หมวด และจาก 10 หมวดที่ว่า ผมจะยกมาแค่บ้างส่วนและพาท่านผู้อ่านไปเที่ยวชมกัน

เริ่มกันที่อันแรกเลย กลุ่มงานศึกษาและพัฒนาประมง  จัดทำเพื่อหารูปแบบการจัดการบริหารแหล่งน้ำและทรัพยากรประมงให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดจนศึกษาวิจัยและทดสอบ เพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสามารถนำผลงานการศึกษาขยายผลสู่เกษตรกร และเป็นแหล่งสาธิตแก่ผู้สนใจทั่วไปเข้าศึกษาและดูงาน โดยงานศึกษาและพัฒนาประมง ก็จะถูกซอยย่อยออกมาเป็นประมาณนี้ คือ

การศึกษาด้านทรัพยากรประมง
ใช้สำรวจและศึกษาสัตว์น้ำและทรัพยากรประมงทั้งชนิดและปริมาณรวมทั้งคุณภาพน้ำในเขตลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ เพื่อที่จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรที่มีอยู่ และการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรดังกล่าวหลังจากมีการจัดการแหล่งน้ำ

การจัดการบริหารแหล่งน้ำ
ศึกษาวิจัยในด้านการจัดการแหล่งน้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ของศูนย์ฯ ดำเนินการโดยวิธีการที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม เช่น การจัดการประมงในสภาพธรรมชาติ การสร้างเขตสงวนพันธุ์สัตว์น้ำ การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มเติมลงในแหล่งน้ำ การทำการประมงในแหล่งน้ำ และการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้บริหารการประมงในแหล่งน้ำ เป็นต้น

การศึกษาและสาธิต
ทำการศึกษาชนิดของปลาที่เหมาะสม สำหรับการเลี้ยงในกระชัง โดยศึกษาอัตราความหนาแน่น อัตราการเจริญเติบโต อัตรารอดตาย และต้นทุนในการเลี้ยง พบว่าปลาหลายชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ดีในการเลี้ยงในกระชัง เช่น ปลานิลดำ ปลานิลแดง ปลากดหลวง ปลากดคัง และปลาแรด นอกจากนี้ยังศึกษาถึงการเพาะพันธุ์ปลานิลในกระชัง โดยศึกษาอัตราการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสม การวางไข่ในรอบปี และผลผลิตลูกปลาขนาด 1 นิ้วที่ได้ต่อเดือน

การเลี้ยงปลาระบบน้ำไหลผ่าน
การสาธิตการเลี้ยงปลาระบบน้ำไหลผ่านนี้ได้ทำการเลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์ที่มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา โดยปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ที่อยู่ระดับสูงกว่าบ่อให้ผ่านบ่อเลี้ยงปลาได้อย่างหนาแน่น เนื่องจากมีปริมาณออกซิเจนมากพอ และมีการถ่ายเทของน้ำตลอดเวลาโดยพบว่าปลาหลายชนิด เช่น ปลาดุก ปลากดหลวงปลานิลดำและปลานิลแดง เจริญเติบโตได้่ดี

สถานแสดงพันธุ์ปลา
แสดงพันธุ์ปลาที่พบในแหล่งน้ำบริเวณหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และภายในบริเวณศูนย์ฯ พันธุ์ปลาที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ของไทยให้แก่เยาวชน และผู้ที่สนใจทั่วไปเข้ามาศึกษาชนิดพันธุ์สัตว์น้ำจืด ทำให้ได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้าง และปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด

การขยายผลสู่เกษตรกร             
ขยายผลที่ได้จากการศึกษาทดลอง ไปสู่เกษตรกรในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ในรูปแบบต่าง ๆ คือ การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารแหล่งน้ำประจำหมู่บ้าน การเลี้ยงปลาในกระชัง การเลี้ยงปลาแบบน้ำไหล การเลี้ยงปลาแบบยังชีพ การประมงในโรงเรียน การประมงในการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ การประมงในเกษตรแบบผสมผสาน นอกจากนี้ยังบริการวิชาการในด้านการให้คำปรึกษาและจัดการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมงแก่เกษตรกรและบุคคลทั่วไป

แล้วตอนหน้ามาต่อกันในกลุ่มงานศึกษาและพัฒนาอาชีพเพาะเลี้ยงกบ กันครับ


* zpb_2001.jpg (234.34 KB, 800x533 - ดู 500 ครั้ง.)

* zpb_2002.jpg (170.27 KB, 800x533 - ดู 480 ครั้ง.)

* zpb_2003.jpg (227.27 KB, 800x533 - ดู 448 ครั้ง.)

* zpb_2004.jpg (346.52 KB, 800x533 - ดู 473 ครั้ง.)

* zpb_2005.jpg (198.21 KB, 800x533 - ดู 453 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
konhuleg
บุคคลทั่วไป


อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: ตุลาคม 08, 2016, 10:09:11 AM »


ใกล้ๆ กันกับ สถานแสดงพันธุ์ปลา ของกลุ่มงานศึกษาและพัฒนาประมง ผมจะพาท่านผู้อ่านมาชมใน กลุ่มงานศึกษาและพัฒนาอาชีพเพาะเลี้ยงกบ ครับ ซึ่งถ้าใครสนใจกันในเรื่องกบไม่ควรพลาด

กลุ่มงานศึกษาและพัฒนาอาชีพเพาะเลี้ยงกบนี้ ถูกก่อตั้งเพื่อนำผลที่ได้จากงานศึกษาวิจัย มาพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงกบให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นเขตต้นน้ำลำธารของภาคเหนือและในพื้นที่ใกล้เคียง นำไปขยายผลสู่เกษตรกรเพื่อให้เป็นอาชีพเสริมรายได้ ร่วมกับการทำการเกษตรกรรมในลักษณะของเกษตรกรรมแบบผสมผสานและเกษตรกรรมในรูปแบบของทฤษฎีใหม่ โดยชนิดกบที่นำมาเพาะเลี้ยงมี 2 ชนิด ด้วยกัน ได้แก่ กบนา ซึ่งเป็นกบพื้นเมืองมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hoplobatrachus rugulosus และกบบูลฟร๊อก เป็นกบที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rana catesbeiana

กบนาหรือกบพื้นเมือง ลักษณะทั่วไปของกบนาพบอาศัยอยู่ทั่วไปในธรรมชาติทุกภาคในประเทศไทยโดยมีลักษณะผิวด้านหลังมีสีน้ำตาลจุดดำ ผิวหนังขรุขระมีรอยย่นที่ริมฝีปากมีแถบดำใต้คางมีจุดดำ หรือแถบลายดำ เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนัก 200 - 400 กรัม ลักษณะกบนาตัวผู้ มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย มีน้ำหนัก 200 - 300 กรัมเมื่อโตเต็มที่และพร้อมผสมพันธุ์จะมองเห็นกล่องสีดำที่ใต้ลำคอ ซึ่งเกิดจากการที่ส่งเสียงร้องเรียกต้วเมียในช่วงฤดูผสมพันธุ์ลำตัวของตัวผู้ในช่วงนี้จะมีสีเหลืองนิ้วเท้าด้านหน้าจะมีตุ่มที่ขยายใหญ่ขึ้นมองเห็นได้ชัด ซึี่งในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูผสมพันธุ์ตุ่มน้ำจะหายไป ตุ่มมีประโยชน์ในการใช้เกาะตัวเมีย ส่วนลักษณะกบนาตัวเมีย มีขนาดโตกว่าตัวผู้ มีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 300 - 400 กรัม ตัวเมียที่พร้อมจะผสมพันธุ์ท้องจะมีลักษณะอูมเคลื่อนไหวช้าและข้างลำตัวจะมีตุ่มเมื่อคลำดูมีลักษณะสากมือ ตุ่มที่ด้านข้างลำตัวแสดงถึงความพร้อมของการผสมพันธุ์ของตัวเมีย

ในส่วนของกบบูลฟร็อกหรือกบกระทิง มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริการเหนือ ถูกนำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยเมื่อประมาณ 15 ปี ที่ผ่านมา ลักษณะลำตัวด้านหลังมีสีเขียวปนน้ำตาล และมีจุดประทั่วตัว ที่ขามีลายคาด ผิวมีลักษณะเรียบลื่นกว่ากบนาลักษณะกบบูลฟร๊อกตัวผู้ มีวงหูขนาดใหญ่กว่าตา ตัวผู้ที่โตเต็มที่มีขนาดตั้งแต่ 250 - 350 กรัม บริเวณใต้คางจะมีสีเหลืองอมเขียวและมีลักษณะพองอูมเมื่อส่งเสียงร้องเรียกตัวเมียนิ้วเท้าขาหน้าด้านในมีขนาดใหญ่และมีตุ่มตัวผู้ที่มีความพร้อมในการผมสมพันธุ์มีอายุตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป และลักษณะกบบูลฟร๊อกตัวเมีย จะมีวงหูขนาดเล็กกว่าตา เมื่อโตเต็มที่มีขนาดตั้งแต่ 300 - 450 กรัม บริเวณใต้คางจะมีสีขาว ลักษณะท้องพองอูม ตัวเมียที่มีความพร้อมในการผสมพันธุ์มีอายุตั้งแต่ 16 - 18 เดือนขึ้นไป

ถามถึงเรื่องข้อดีข้อเสียต้องบอกว่า กบนาจะเด่นในเรื่องของการเจริญเติบโตเร็ว สามารถจับขายได้ เพียง 3-4 เดือน แต่ปัญหาคือ มันชอบจำศีลในช่วงหน้าหนาว ส่วนกบบูลฟร็อกเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี แม้กระทั่งในฤดูหนาว และไม่มีการจำศีลเหมือนกบนาแต่อย่างใด แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกันตรงที่ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงค่อนข้างนานกว่ากบนา แถมรูปร่าง ผิวหนัง หน้าตาไม่ชวนน่ารับประทานซักเท่าไหร่

ตอนหน้าจะพาไปทำความรู้จักกับ กลุ่มงานศึกษาและพัฒนาแหล่งน้ำ กันครับ


* zpb_4001.jpg (329.21 KB, 800x533 - ดู 475 ครั้ง.)

* zpb_4002.jpg (314.4 KB, 800x533 - ดู 456 ครั้ง.)

* zpb_4003.jpg (283.2 KB, 800x533 - ดู 440 ครั้ง.)

* zpb_4004.jpg (233.31 KB, 800x533 - ดู 449 ครั้ง.)

* zpb_4005.jpg (233.1 KB, 800x533 - ดู 455 ครั้ง.)

* zpb_4006.jpg (197.06 KB, 800x533 - ดู 452 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
konhuleg
บุคคลทั่วไป


อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: ตุลาคม 08, 2016, 10:11:09 AM »


ในส่วนของ กลุ่มงานศึกษาและพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ได้ดำเนินการศึกษา ทดลอง วิจัย ทางด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาลุ่มน้ำขนาดเล็ก การศึกษารูปแบบที่เหมาะสมของแบบฝายต้นน้ำลำธาร การศึกษาและพัฒนาแบบจำลองการฟืิ้้นฟูพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร จัดทำแผนงานและงบประมาณ การพิจารณาโครงสร้างเบื้องต้นการสำรวจสภาพพื้นที่ทางปฐพีวิทยาและธรณีวิทยา สภาพลุ่มน้ำ สภาพการเพาะปลูก สภาพทางอุทกวิทยา การออกแบบเพื่อการก่อสร้างและบำรุงรักษา การก่อสร้างปรับปรุงและบำรุงรักษาแหล่งน้ำ การส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการศึกษา ทดลอง วิจัยต่าง ๆ และเพื่อการอุปโภค-บริโภค ภายในศูนย์ฯ หมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์และศูนย์ฯสาขางานแผนงานและงบประมาณรวมทั้งการจัดทำเอกสารทางวิชาการ เพื่อประกอบการฝึกอบรมประชาสัมพันธ์และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้นำไปประยุกต์ใช้หรือสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ งานศึกษาทดลองวิจัย ก็จะมีทั้ง การศึกษาการใช้หญ้าแฝกเพื่อชะลอความเร็วของน้ำ การศึกษาผลผลิตน้ำ (Water Yield) ของลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ส่วนงานพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน มีดังต่อไปนี้
1. ดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำ 
    - ขุดสระเก็บน้ำพร้อมอาคาร
    - ก่อสร้างโรงสูบน้ำบ่อบาดาลและระบบส่งน้ำ
    - ก่อสร้างประตูระบายน้ำ
    - ก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร   บริเวณพื้นที่หมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ   
      หมู่ที่บ้านโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงฯ  หมู่บ้านโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง   
      และพื้นที่ยุทธศาสตร์  8  จังหวัดภาคเหนือตอนบน
    - ดำเนินการปรับปรุงแหล่งน้ำ
    - ดำเนินการปรับปรุงทางและสะพาน

2.งานบูรณะถนนลูกรังในเขตโครงการ (ทางลำเลียงใหญ่)
     ภายในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ อ.ดอยสะเก็ด   จ.เชียงใหม่   

 3.งานบูรณะถนนลูกรังในเขตโครงการฯ  (ทางลำเลียงย่อย) 
    ซ่อมแซมถนนลูกรัง ทาง เข้าอ่างเก็บน้ำของโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงฯ
    อ.จอมทอง  อ.ฮอด  จ.เชียงใหม่

 4.ราดยางถนนเข้าหัวงานโครงการ พัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงฯ  อ.จอมทอง    อ.ฮอด   จ.เชียงใหม่

เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับกลุ่มงานศึกษาและพัฒนาแหล่งน้ำ คือระบบท่อส่งน้ำของห้วยฮ่องไคร้ ที่ระบายน้ำลงสู่ลำห้วยให้กับฝายเก็บกักน้ำต่างๆ ในระบบไส้ไก่ และระบบก้างปลาไว้ (จินตนาการไปเลยว่ามันมีลักษณะคดเหมือนไส้ไก่และแตกกระจายเป็นกางปลาจริงๆ) แล้วสร้างฝายปิดกั้นน้ำในคูไว้เป็นช่วงๆ ให้น้ำขังอยู่ในคูได้เป็นระยะเวลานาน เพื่อให้น้ำซึมลงไปเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน ส่วนฝายที่ใช้ทำก็จะเป็นฝายไม้ไผ่ง่ายๆ ที่ชาวบ้านสามารถเอาไปทำได้

ทั้งนี้ ในหลวงได้ใช้แบบหลักการเหมือนแผนที่ประเทศไทย ให้พื้นที่ชันสูงสุดเหมือนภาคเหนือ ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ก่อนจะส่งต่อน้ำไหลมายังส่วนกลาง ที่เปรียบเสมือนภาคกลางที่ทำการเกษตรปลูกข้าว พืชผัก ผลไม้ได้ และสุดท้ายตรงปลายทางส่งน้ำของห้วยฮ่องไคร้ก็เปรียบเสมือนภาคใต้ เอาไว้ใช้เป็นแหล่งประมงเลี้ยงสัตว์น้ำ

ตอนสุดท้ายเดี๋ยวจะพาไปเที่ยวสวนหกศูนย์กันครับ


* zpb_5001.jpg (232.94 KB, 800x533 - ดู 457 ครั้ง.)

* zpb_5002.jpg (260.06 KB, 800x533 - ดู 465 ครั้ง.)

* zpb_5003.jpg (192.9 KB, 800x533 - ดู 445 ครั้ง.)

* zpb_5004.jpg (210.65 KB, 800x533 - ดู 790 ครั้ง.)

* zpb_5005.jpg (279.68 KB, 800x533 - ดู 475 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
konhuleg
บุคคลทั่วไป


อีเมล์
« ตอบ #6 เมื่อ: ตุลาคม 08, 2016, 10:13:39 AM »


สวนหกศูนย์ฯ เป็นส่วนหนึ่งภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ครับ อยู่เลยจากกลุ่มงานศึกษาและพัฒนาอาชีพเพาะเลี้ยงกบ ลงมาไม่ไกลกันมาก

ถ้าจะให้นิยามความเป็น สวนหกศูนย์ฯ แล้วล่ะก็ คงต้องบอกว่าเป็นคล้ายๆ กับสวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั้งพืชผักพื้นเมือง  พืชสมุนไพร  ไม้ดอกหอม  พืชอุตสาหกรรม  ไม้ผล  และไม้ดอกไม้ประดับ ที่เป็นทั้งแหล่งศึกษา และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจไปในตัว

ในช่วงที่ผมไปนั้นต้องบอกว่าหลายๆ ส่วนของสวนยังจัดการไม่เรียบร้อยเท่าไรนัก ก็เลยได้เดินดูและขับรถสำรวจแค่บางพื้นที่ โดยภายในสวนหกศูนย์ฯ นั้นก็จะมีหลายๆ ส่วนด้วยกันที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็น เรือนล้านนา เรือนอีสาน เรือนภาคใต้ เรือนไทยภาคกลาง เรือนไทยบนน้ำ ศาลาแสดงผลงานการเกษตร อาคารนิทรรศการ เรือนเพาะชำ สถานีวัดน้ำฝน และทะเลเทียม

อย่างในส่วนของตัวเรือนต่างๆ นั้น ก็จะถูกสร้างเพื่อบ่งบอกถึงเอกลักษณ์เรือนไทยแต่ละภาคให้ได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของความเป็นอยู่ภาคนั้นๆ ส่วนศาลาแสดงผลงานการเกษตร เรือนเพาะชำ ก็จะเน้นในเรื่องของพันธุ์พืชต่างๆ เช่น งานศึกษาและพัฒนาหญ้าแฝกท้องถิ่น เป็นงานที่ดำเนินการต่อเนื่องในการคัดเลือกพันธุ์เพื่อการทนร่มและทนสภาพแวดล้อมอื่น ๆ รวมถึงศักยภาพในการขยายพันธุ์จากเมล็ดเพื่อลดปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตกล้าหญ้าแฝก ตลอดจนการเปลืองเนื้อที่ในการขนส่งกล้าหญ้าแฝก

และถ้าผมจำไม่ผิด การสาธิตและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสัตว์ปีกด้วยอย่างพวกเป็ด ห่าน ที่ใช้ศึกษาทดลองหาวิธีการเลี้ยงดูที่เหมาะสมที่สามารถนำไปปรับใช้สำหรับเกษตรกรรายย่อย และกระตุ้นให้เกษตรกรเกิดความตื่นตัวและ มีความสนใจที่จะนำความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปใช้ในการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ของตนเองให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ที่เหลือประเภทไม่ดอกไม้ประดับต่างๆ ยังดูไม่มากตาเท่าที่ควรครับ คาดว่ายังอยู่ในช่วงของการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ภายในสวนให้ดูดี ซึ่งเรื่องนี้ ผมคิดว่า ถ้าทำออกมาเสร็จเรียบร้อย แล้วทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นล้ำเป็นสัน รับรองว่ามันคงพุ่งกระฉูดอย่างแน่นอน เพราะชาวเชียงใหม่ ก็จะได้มีสวนดอกไม้ให้เที่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูของไม้ดอกไม้ประดับ

จากงานกลุ่มด้านวิชาการที่พาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักมา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ก็ยังมีอีกหลายกลุ่มงานให้ได้ชมและศึกษากันอีกด้วยนะครับ ที่ผมไม่ได้เอามาเล่าทั้งหมด อย่างงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ งานส่งเสริมด้าน การเกษตร งานศีกษาและพัฒนาการปศุสัตว์ งานศึกษาและพัฒนาที่ดิน งานศึกษาและพัฒนาอนุรักษ์พันธุ์ข้าว และงานศึกษาพัฒนาการปลูกพืช

เรียกได้ว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ สมกับที่เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ดังพระราชดำริของในหลวงจริงๆ ครับ


* zpb_6001.jpg (326.6 KB, 800x533 - ดู 459 ครั้ง.)

* zpb_6002.jpg (234.53 KB, 800x533 - ดู 454 ครั้ง.)

* zpb_6003.jpg (286.83 KB, 800x533 - ดู 456 ครั้ง.)

* zpb_6004.jpg (268.3 KB, 800x533 - ดู 435 ครั้ง.)

* zpb_6005.jpg (221.59 KB, 800x533 - ดู 433 ครั้ง.)

* zpb_6007.jpg (287.12 KB, 800x533 - ดู 433 ครั้ง.)

* zpb_6006.jpg (335.17 KB, 800x533 - ดู 481 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ขึ้นบน พิมพ์ 
จองที่พักราคาถูกทั่วประเทศโทร 053266550-2  |  เชียงใหม่ - ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงใหม่ - ที่พัก โรงแรม การเดินทาง วัดจังหวัดเชียงใหม่ ร้านอาหาร สถานที่เที่ยวกลางวัน กลางคืน ฯลฯ  |  แนะนำ โครงการหลวง Royal Project  |  หัวข้อ: ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ : พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  




Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.5 | SMF © 2006-2007, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.087 วินาที กับ 21 คำสั่ง