ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาหยุดยาวหลายวันกันเลยทีเดียวครับ (1-5 พฤษภาคม 2558) หลายๆ คนคงถือโอกาสนี้หนีไปเที่ยวพักผ่อนเพื่อชาร์จแบตให้กับตัวเอง บางคนไม่ไปเที่ยวก็ใช้เวลาพักผ่อนกันอยู่ที่บ้าน ทำกิจกรรมอย่างอื่นไป ส่วนผมก็ไม่ได้ไปไหนหรอกครับ มาวนๆ เวียนๆ แถวๆ ประตูท่าแพ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวมีงาน มหัศจรรย์ประเพณีท่องเที่ยวไทย ในปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 จัดขึ้น
ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปีนี้เป็นปีการท่องเที่ยววิถีไทย สร้างการรับรู้ถึงเสน่ห์ความเป็นไทยที่เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่น ว่าแล้วกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้จัดงาน มหัศจรรย์ประเพณีท่องเที่ยวไทย ในปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 ขึ้น เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวตามประเพณี เทศกาลวิถีไทย เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่
ภายในงานก็มีการจัดจำลองประเพณีที่น่าสนใจของแต่ละภูมิภาคในรูปแบบด้วยกันครับ ที่เป็นไฮไลต์เลยคือ สวนแสงประเพณีไทย 5 ภาค ซึ่งมีการออกร้านค้าของดี ของเด็ดในบรรยากาศวิถีไทย 5 ภาค ให้ได้ชมการแสดงทางวัฒนธรรมประเพณีหลากหลาย เริ่มกันที่ภาคเหนือจะมีประเพณีจองพารา เป็นประเพณีบูชาจองพาราของชาวไทยใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเป็นประเพณี ที่สำคัญและมีคุณค่าต่อสังคม เป็นงานบูชาพระพุทธเจ้าเพื่อความสุข ได้บุญกุศล และความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว และหมู่บ้าน ครอบครัวใด หมู่บ้านใดได้จัดทำ จองพาราบูชาพระพุทธเจ้า เชื่อว่าครอบครัวจะมีความสุข ส่งผลไปถึง การประกอบอาชีพ ขณะเดียวกัน หมู่บ้านใดได้ช่วยกันจัดทำจองพาราบูชาไว้ ที่วัดประจำหมู่บ้านตลอด 7 วัน หลังวันออกพรรษา มีความเชื่อว่าทุกคนในหมู่บ้าน จะมีความสุขกันทั่วหน้า และส่งผลไปถึงการประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ ได้ผลผลิตดีด้วย
ประเพณีอีกอันที่น่าสนใจของภาคเหนือคือ ประเพณีลอยกระทงสาย เป็นประเพณีเฉพาะท้องถิ่นของชาวจังหวัดตาก ซึ่งโดยทั่วไปการลอยกระทงไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เช่น ต้องมีกระทงซึ่งประดิษฐ์ขึ้นลักษณะคล้ายดอกบัวบาน แต่ของจังหวัดตากใช้กระทงทำไม่เหมือนใคร คือ ใช้กะลามะพร้าวเป็นตัวกระทง ภายในมีไส้กระทงเป็นมะพร้าวแห้งชุบน้ำมัน สำหรับความเชื่อในการลอยกระทงนั้นก็คล้ายกับชาวไทยในภาคอื่นๆ คือเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาพระแม่คงคา แต่ในบางครั้งก็เชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที อันเป็นคติความเชื่อเหมือนกับภาคกลาง แต่บางทีก็เชื่อว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระโมคคัลลีบุตรมหาสาวก (ตามอย่างความคิดอิทธิพลของพม่าที่แพร่กระจายอยู่ในดินแดนล้านนา)
แล้วมาตามดูของภาคอื่นๆ ที่เหลือครับตอนจบ >>>
http://www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/index.php/topic,8428.0.html#.VUsEq47tmko