เที่ยววัดพุทธมาก็หลายร้อยที่ คราวนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเที่ยววัดคาทอลิก ในเชียงใหม่บ้าง โดยสถานที่ที่ผมจะพาไปทำความรู้จักนั้น คือ อาสนวิหารพระหฤทัย หรือวัดพระหฤทัย ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันตกจากประวัติความเป็นมาแต่แรกเริ่ม (ที่ยาวเหยียด) อาสนวิหารพระหฤทัย เป็นวัดคาทอลิกแห่งแรกในเขตภาคเหนือตอนบน เป็นวัดศูนย์กลางของสังฆมณฑลเชียงใหม่ และเป็นวัดประจำตำแหน่งของพระสังฆราชมิสซังเชียงใหม่มีเขตการปกครอง 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน ประวัติอันยาวนานของวัดพระหฤทัย เริ่มจากการที่ประเทศสยามได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ทุกคน จึงทำให้นักบวชในศาสนาต่างๆ ได้เผยแพร่ธรรมอย่างอิสระ ศาสนาคริสต์ก็เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จาก ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาตั้งแต่ธรรมทูตยุคแรก ราวปี ค.ศ.1565 มีการขอธรรมทูตจากมะละกาเข้ามาเผยแพร่ศาสนาด้วยสาเหตุทางการเมือง ธรรมทูตชุดแรกเป็นคณะดอมินิกัน ชื่อคุณพ่อเยโรนิโม ดา กรูส และคุณพ่อเซบัสติอาโน ดี กันโต ท่านทั้งสองเดินทางมาถึงอยุธยาราว ปี ค.ศ.1567 และพำนักอยู่กับพ่อค้าชาวโปรตุเกส ที่มาตั้งรกรากอยู่ในอยุธยา ซึ่งให้การต้อนรับคุณพ่อเป็นอย่างดี
คุณพ่อได้พยายามเรียนรู้การใช้ภาษาไทย และเมื่อเห็นว่าสามารถสื่อสารกับคนไทยได้จึงเริ่มการสอนคำสอนในทันที การเผยแพร่ศาสนาเป็นไปในทางที่ดี มีชาวไทยจำนวนมากที่มาฟังคำสอนจากท่านและตัดสินใจหันมานับถือศาสนาคริสต์ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1669ประเทศสยามจึงได้รับการยกฐานะเป็นมิสซังอย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระสันตะปาปา เคลเมนต์ที่ 9 จากเอกสารทางการของพระศาสนจักร ชื่อ Cum Sicut ลงวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1669 และ Speculatores ลงวันที่ 13 กันยายน ค.ศ.1669 ปีเดียวกัน พระสังฆราชฟรังซัว ปัลลือ และพระสังฆราชปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลาม็อตซึ่งเป็นผู้เสนอเรื่องต่อกรุงโรม หลังจากรับการยกฐานะขึ้นเป็นเขตมิสซังแล้ว ได้มีการเรียกดินแดนแห่งนี้ใหม่อย่างเป็นทางการ ว่ามิสซังสยาม
300 ปีต่อมา หลังจากการเผยแพร่ศาสนาในภาคกลางของประเทศไทยประสบความสำเร็จ ภารกิจของพระเจ้าในเขตภาคเหนือได้เริ่มขึ้นราวปี ค.ศ.1843 โดยพระสังฆราช ปัลเลอกัวมอบหมายให้คุณพ่อกรังยังค์ และคุณพ่อวากัลป์คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.)เดินทางไปเชียงใหม่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ.1843 ท่านทั้งสองต้องเดินทางรอนแรมตามป่าเขาและเสี่ยงภัยอันตรายจากสัตว์ป่าเป็นเวลานานถึง 45 วัน จึงมาถึงเชียงใหม่ ในบ่ายวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1844ในระยะแรกคุณพ่อทั้งสองได้รับการต้อนรับจากเจ้าเมืองเป็นอย่างดีแต่หลังจากนั้นไม่นานเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็เริ่มมีท่าทีที่เปลี่ยนไป จึงทำให้คุณพ่อทั้งสองท่าน ต้องล้มเลิกภารกิจงานแพร่ธรรมในภาคเหนือทั้งหมด และเดินทางกลับกรุงเทพฯ
ไว้มาต่อกันอีกตอนให้จบครับตอนจบ >>>
http://www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/index.php/topic,8396.0.html#.VUKTXY7tmko