ตามตำนานเทพาพิทักษ์ดอยหลวงเชียงดาว ศาลเจ้าหลวงคำแดงสถานที่ตั้ง : แก่งปันเตา อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
พิกัด : 19.283559,98.968143
บทความนี้โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน มีเนื้อหาเหนือธรรมชาติเกี่ยวข้องกับภูตผี เกินกว่าที่วิทยาศาสตร์จะพิสูจน์ได้ ทั้งนี้เป็นความเชื่อของชาวบ้านในอดีต เป็นเรื่องราวที่พูดถึงสืบต่อกันมานานตั้งแต่บรรพบุรุษ จริงเท็จประการใดคงไม่มีใครให้คำตอบได้ หากแต่การรับรู้คือคุณค่าที่ผู้อ่านพึงจะได้รับ..
เชื่อว่านักท่องเที่ยวหลายคนขณะกำลังเดินทางอยู่บนท้องถนนเคยได้ผ่านศาล หรือรูปปั้นอนุสาวรีย์ตามท้องถิ่นต่างๆ โดยที่ไม่ทราบว่าศาลนั้นมีความสำคัญอย่างไร อนุสาวรีย์ท่านผู้นั้นคือใครกัน ผมเองมีโอกาสได้พบเห็นศาลและ
อนุสาวรีย์ของเจ้าหลวงคำแดง ที่ตั้งอยู่ห่างๆ กันถึง 3 แห่งด้วยกัน คือ
บ้านเชียงเคี่ยน จังหวัดเชียงราย
บ้านแก่งปันเตา และ
ถ้ำเชียงดาว ในอำเภอเชียงดาว จึงได้เกิดแรงกระตุ้นในการใคร่รู้ค้นหาเรื่องราวทั้งหมดของท่านเจ้าหลวงผู้นี้
จากการสืบค้นจากข้อมูลของนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ รวมถึงตำนานพื้นเมืองต่างๆ ในเขตล้านนา ทำให้ทราบว่าตำนานของ
เจ้าหลวงคำแดงผูกโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ของ
ดอยหลวงเชียงดาว มหาดอยของคนเชียงดาว อันได้ถูกถ่ายทอดจากผู้คนจำนวนมากด้วยเนื้อหาอันหลากหลายที่แม้ใจความจะต่างกันออกไป แต่จุดสุดท้ายจะจบที่ปลายทางเดียวกัน คือ ท่านผู้นี้คือเทพารักษ์พิทักษ์ดอยหลวงเชียงดาว
ตำนานเกี่ยวกับเจ้าหลวงคำแดง ซึ่งนามเดิมคือ "
เจ้าสุวรรณคำแดง" ท่านเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขา เป็นเจ้าแห่งมวลผี เป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนาอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และ
ถ้ำเชียงดาวซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเมืองเทวาของเจ้าหลวงคำแดง ตั้งอยู่เชิงดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเป็นขุนเขาที่ชาวล้านนานับถือว่าเป็นดอยศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของผีเมืองทุกองค์ตั้งแต่ก่อน
พญามังรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ ผีเมืองเชียงใหม่มีเจ้าหลวงคำแดงเป็นเจ้าปกครองเหนือกว่าผีเมืองทุกเหล่าตน
ว่ากันว่าทุกวันพระ ผีทุกตนในเมืองเชียงใหม่จะไปร่วมประชุมที่ดอยหลวงเชียงดาว ใต้ดอยมีห้องโถงขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นห้องประชุม (ปัจจุบันคือ
ถ้ำเชียงดาว) นอกจากนี้ผีที่ดอยหลวงเชียงดาวได้เก็บข้าวจากชาวนาทุกคนที่วางไว้เซ่นไหว้พระแม่โพสพและเป็นค่าน้ำหัวนา ซึ่งจะนำข้าวไปวางไว้ที่หัวนาก่อนที่ชาวนาจะนำข้าวมาใส่ในยุ้งฉาง ข้าวเหล่านี้ผีดอยจะนำมากิน แล้วจะเหลือเพียงเปลือกหรือแกลบไว้ ซึ่งจะเก็บแกลบไว้ในถ้ำแห่งหนึ่ง ถ้ำแห่งนั้นชื่อว่า "
ถ้ำแกลบ" (ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยว) ความศักดิ์สิทธิ์ของดอยหลวงเชียงดาวมิเพียงแต่ชาวบ้านจะเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว พระสงฆ์ในเขตล้านนาก็ได้แต่งคัมภีร์ใบลานชื่อ
ตำนานถ้ำเชียงดาว ไว้หลายสำนวน ทั้งที่พบในเชียงใหม่และจังหวัดอื่นในล้านนา ทั้งเชียงราย พะเยา ลำปาง รวมถึงการพบในคัมภีร์ใบลานที่
วัดอภัย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
มีหลายเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาในยุคต้นพุทธกาล กล่าวถึงประมุขแห่งปวงเทพเทวาได้ดำริให้จัดทำสิ่งวิเศษเพื่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าศรีอาริยะเมตตรัยที่จะมาตรัสรู้พระสัจธรรมในอนาคต ได้เล็งเห็นว่า
ถ้ำเชียงดาวเป็นสถานที่เหมาะสมแก่การเก็บรักษาของวิเศษเหล่านั้น เพราะลึกเข้าไปในถ้ำจนสุดประมาณมิได้ ซึ่งก็มีเค้าความจริง เพราะในปัจจุบันไม่ว่าวิทยาการจะก้าวล้ำไปเพียงใด ถ้ำเชียงดาวก็ยังไม่สามารถสำรวจให้ครบจบประมาณความลึกได้
ตำนานของเจ้าหลวงคำแดง ระบุว่า ท่านเป็นบุตรของเจ้าเมืองพะเยา นามว่า
สุวรรณคำแดง พระบิดาได้สั่งให้เจ้าหลวงคำแดงไปรักษาด่านชายแดนเพื่อป้องกันศัตรู (ปัจจุบันคือ
บ้านช่างเคี่ยน จังหวัดเชียงราย) วันหนึ่งได้พบกับสาวงามนางหนึ่ง จึงได้ติดตามนางไปแต่ไม่พบ เจอเพียงกวางทอง จากนั้นเจ้าหลวงคำแดงก็ติดตามเจ้ากวางทองไป ซึ่งกวางทองมุ่งหน้าสู่เขาใหญ่ลูกหนึ่ง แล้วกลายร่างเป็นหญิงสาวเข้าไปในถ้ำเชียงดาว เจ้าหลวงคำแดงจึงตามเข้าไปแล้วไม่กลับออกมาอีกเลย ชาวบ้านเชื่อว่าพระองค์สิงสถิตรักษาถ้ำเชียงดาว จึงตั้งศาลไว้ชื่อว่า
ศาลเจ้าหลวงคำแดง พร้อมกับรูปปั้น
กวางทองด้วย
ความศรัทธาในความเชื่อของคนท้องถิ่นได้ตอกย้ำความสำคัญของดอยหลวงเชียงดาวให้มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะถือว่าเป็นพุทธสถานอีกแห่งหนึ่งซึ่งชาวพุทธและชาวล้านนาทั้งปวงจะมากราบไหว้ ที่สำคัญคือ มีดวงวิญญาณของ
เจ้าหลวงคำแดงสิงสถิตอยู่นั่นเอง..
by Traveller Freedomติดตามบทความสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้ที่
www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/index.php/topic,7968.0.html#.U9oDafl_sig