อยากจะเล่าเกี่ยวกับต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงให้ทุกคนฟังหน่อยค่ะ ว่าต้นไม้ชนิดนี้แปลกและพิเศษกว่าต้นไม้อื่นๆ อย่างไรบ้าง หม้อข้าวหม้อแกงลิง เป็นสกุลของพืชกินสัตว์ในวงศ์ Nepenthaceae ส่วนชื่อหม้อข้าวหม้อแกงลิง (Monkey Cups) มาจากตำนานที่ว่าลิงได้ดื่มน้ำฝนของพืชชนิดนี้ หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. Lowland คือ กลุ่มที่กำเนิดในระดับความสูงต่ำกว่า 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลลงมา หรือมีอุณหภูมิตอนกลางวัน ตั้งแต่ 80-95F หรือ 27-35C และกลางคืน ตั้งแต่ 70-80F หรือ 21-27ํC
2. Highland คือ กลุ่มที่กำเนิดในระดับความสูงมากกว่า 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป หรือมีอุณหภูมิตอนกลางวัน ตั้งแต่ 70-85F หรือ 21-29C และกลางคืน ตั้งแต่ 50-65F หรือ 12-18C
หม้อ (Pitcher) ของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง คือ เครื่องมือหรือกับดักที่ใช้หลอกล่อเหยื่อที่เป็นสัตว์หรือแมลง สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ให้เดินเข้าหากับดัก โดยอาศัยกลิ่นเลียนแบบของเหยื่อ ที่อาจเป็น น้ำหวาน กลิ่นแมลงตัวเมีย หรือสีสันที่สะดุดตาบวกกับกลิ่นที่เย้ายวนเร้าใจ เป็นเครื่องดึงดูดเหล่าสัตว์หรือแมลงทั้งหลายมาสู่กับดักมรณะนี้ ด้านในและใต้ส่วนที่งุ้มโค้งของปากหม้อ (peristome หรือ lip) เป็นส่วนที่สร้างน้ำหวาน เมื่อเหยื่อหลงเข้ามาตอมน้ำหวานบริเวณปากหม้อที่ถูกเคลือบด้วยสารที่มีลักษณะลื่นมัน ผิวเป็นคลื่นตามแนวลงภายในหม้อ เหยื่อจึงมีโอกาสลื่นพลัดตกลงไปในหม้อได้อย่างง่ายดาย และภายในหม้อจะมีน้ำย่อยรออยู่ เมื่อมองดูต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงเผิน ๆ ก็เหมือนกับต้นไม้จำพวกเถาเลื้อยทั่วไป แต่เมื่อหันมาดูที่บริเวณปลายใบ โอ้!! พระเจ้าจอร์ช มันเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์อะไรอย่างนี้ เพราะมันมีหม้อกลม ๆ ที่ด้านบนมีฝาปิด ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าหม้อเหล่านี้คือลูกของไม้ต้นนั้น ๆ เมื่อมารู้ว่ามันคือ
หม้อ (Pitcher) ที่เป็นเครื่องมือหรือกับดักที่ใช้ล่อเหยื่อ ก็สงสัยอีกว่ามันจะจับเหยื่อหรือแมลงยังไง หลายคนคิดว่า เมื่อแมลงหลงเข้าไปในหม้อนั้นแล้ว ฝาหม้อที่อยู่ด้านบนจะงับปิดลงมา เพื่อขังเหยื่อหรือแมลงนั้นไว้ภายในหม้อ เพื่อกินเหยื่อหรือแมลงเหล่านั้นต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถึงเหยื่อหรือแมลงจะตกลงไปภายในหม้อสักเท่าไร ฝาหม้อ (lid) นั้นก็จะไม่หุบปิดลงมาแต่อย่างใด และที่เราเห็นเป็นหม้อลูกใหญ่นั้น ก็ไม่ใช่ลูกหรือผลแต่อย่างใด มันคือแผ่นใบแท้ที่แปลงสภาพห่อตัวเป็นรูปหม้อ ส่วนปลายใบก็กลายเป็นฝาปิด กันน้ำฝนไม่ให้ตกลงในหม้อมากเกินไป จนปริมาณน้ำย่อยที่ผลิตได้เจือจางลง หรือมากจนกระทั่งน้ำเต็ม หม้อไม่สามารถกักเหยื่อหรือแมลงไว้ได้
หม้อข้าวหม้อแกงลิง จะผลิตหม้อแรก ๆ เป็นหม้อล่าง (Lower Pitcher) ซึ่งมักจะมีสีสันสดใส เพื่อทำหน้าที่ล่อเหยื่อหรือแมลงให้มาติดกับ เมื่อต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงเติบโตสูงขึ้น เนื่องจากเป็นประเภทไม้เถาเลื้อย จึงจำเป็นต้องมีที่ยึดเกาะเพื่อพยุงลำต้นให้ตั้งตรงขึ้นไปกับต้นไม้อื่น ๆ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ให้สามารถส่งยอดขึ้นไปรับแสงแดดได้มากขึ้น มันจึงพัฒนาก้านใบให้ม้วนเป็นวงเกาะเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบข้าง และรูปทรงของหม้อจะเปลี่ยนไป เพราะลดบทบาทในการหาอาหารลง โดยปีก (Wing) จะหดสั้นหรือหายไป เพื่อไม่ขัดกับการยึดเกาะของก้านใบ สีสันของหม้อก็จะลดลง ก้นหม้อจะเรียวเล็กลงด้วย เพราะไม่ต้องใช้เป็นเครื่องล่อเหยื่อหรือแมลง และทำหน้าที่ย่อยอาหารอีกต่อไป
เราเรียกหม้อแบบนี้ว่า หม้อบน (Upper Pitcher)
ก็อยากให้ผู้อ่านได้เข้าใจเกี่ยวกับต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ก็เลยไปหาข้อมูลมาซ่ะเพียบเลยค่ะ ข้อมูลนี้มาจากเว็บ
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=fasaiwonmai&month=07-2011&date=18&group=2&gblog=158 ค่ะ