สักการะพระเจ้าเงินล้าน นมัสการพระธาตุเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ วัดธาตุคำสวัสดีเพื่อนๆ ชาวทริปเชียงใหม่อีกครั้ง วันนี้เลดี้ดาริกาขอพาเพื่อนๆ ไปเที่ยวชม วัดธาตุคำ วัดที่ว่ากันว่าเก่าแก่ และมีความสำคัญไม่น้อยกว่าพระอารามใดๆ ในเมืองเชียงใหม่ แม้ว่ากาลเวลาผ่านไป ทำให้ทุกวันนี้วัดธาตุคำเป็นเพียงพระอารามเล็กๆ บนถนนสุริวงศ์ ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ น้อยคนนักจะรู้จักก็ตามเรื่องราวของวัดธาตุคำที่เลดี้ดาริกากำลังเล่าให้เพื่อนๆ ฟังต่อไปนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อสันนิษฐาน โดยนักประวัติศาสตร์ล้านนา อ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแหล่ง ทั้งที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ที่เล่าขานกันมา ไปจนถึงข้อสันนิษฐานจากหลักฐานทางโบราณคดีและศิลปวัตถุที่ยังคงมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้างวัดธาตุคำ ก็คล้ายกับพระอารามอีกหลายๆ แห่งในดินแดนล้านนาที่ไม่ทราบประวัติการสร้างชัดเจน แต่อย่างไรก็ดี เงื่อนงำทางประวัติศาสตร์จากเอกสารหลักฐานต่างๆ ทำให้นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานกันว่า พระอารามแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของราชวงศ์มังราย อายุอานามราวๆ ๖๐๐ ปีแล้ว เดิมชื่อวัดกุฎีคำ ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกกันสั้นๆ ว่าวัดใหม่ ดูจากพระประธานในพระอุโบสถและลักษณะการสร้างวัด คาดว่าน่าจะเป็นวัดหลวงซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้น และเป็นวัดใหญ่มาก่อน ต่อมาเมื่อพม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ พระอารามแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างไปชั่วระยะเวลาหนึ่งพระเจดีย์ประธานวัดธาตุคำ
จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๗ พระเจ้ากาวิละได้อพยพครัวไทเขิน ไทลื้อมาจากสิบสองปันนา และเชียงตุงมาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ พระองค์ทรงจัดสรรพื้นที่ในเขตกำแพงเมืองชั้นในด้านทิศใต้ให้ตั้งถิ่นฐาน ในครั้งนั้น เจ้าสารัมพยภูมินนรินทราเขมาธิปติราชา เจ้าผู้ครองนครเชียงตุงก็ได้ย้ายมายังเมืองเชียงใหม่ พร้อมไพร่ฟ้าข้าไทยอีกจำนวนหนึ่ง พระอารามหลายๆ แห่งในบริเวณนั้น อาทิ วัดนันทาราม วัดยางกวง และรวมไปถึงวัดกุฎีคำก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในเวลาใกล้ๆ กันพระอุโบสถ
ความพิเศษของวัดธาตุคำคือพระวิหาร และพระเจดีย์ของวัด เนื่องจากสร้างอยู่บนพูนดินสูงประมาณ ๓ เมตร ซึ่งในเมืองเชียงใหม่พบการสร้างวิหารลักษณะนี้อยู่เพียง ๒ แห่ง อีกแห่งหนึ่งคือวิหารและพระธาตุเจดีย์วัดป้านปิง พระวิหารของวัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ โครงสร้างอาคารก่ออิฐถือปูน ภายในประดิษฐานพระประธานสำฤทธิ์ขนาดใหญ่ โดดเด่นจากวันอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง เพราะส่วนใหญ่จะหล่อพระประธานจากปูน นักประวัติศาสตร์ล้านนาจึงสันนิษฐานว่าคงเป็นวัดที่กษัตริย์สร้างขึ้น เพราะการจะหล่อพระสัมฤทธิ์ได้ต้องใช้กำลังทรัพย์มาก ซึ่งชาวบ้านทั่วไปคงทำไม่ได้ด้านหลังพระวิหารมีพระเจดีย์ประธานของวัดตั้งอยู่บนพูนดินระดับความสูงเดียวกัน พระเจดีย์องค์นี้เป็นที่นับถือของชาวบ้าน และเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์มาก มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมงดงาม เป็นเจดีย์แบบล้านนา ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จ รองรับองค์ระฆังหกเหลี่ยม ปิดทองจังโกทั้งองค์ งดงามมาก พระธาตุองค์นี้จึงเป็นที่มาของชื่อใหม่ของวัดว่า วัดธาตุคำ คือวัดที่มีพระธาตุสีทองอร่ามวิหารพระเจ้าเงินล้าน
ด้านข้างพระเจดีย์เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนาผสมรัตนโกสินทร์ เพราะตัวอาคารสูงโปร่ง ผิดแผกไปจากสถาปัตยกรรมทั่วไปของล้านนา แต่ลักษณะการตกแต่งยังเป็นแบบล้านนา หน้าบันม้าต่างไหม ประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร พระเจ้าเงินล้าน พระพุทธรูปสัมฤทธิ์
พระเจ้าเงินล้าน พระพุทธรูปสำริด ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ล้านนา ล้ำลือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ และมีนามเป็นมงคล จึงมีคนนับถือและนิยมมากราบไหว้ขอพร ประดิษฐานอยู่ในอาคารหลังยาวภายในบริเวณวัด เพื่อนๆ คนไหนอยากขอพรให้มีเงินมีทองโชคลาภก็ได้นะคะเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา