วัดป่าแดง ความเงียบสงบท่ามกลางความวุ่นวายหลังมอชอหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอีกย่านหนึ่งที่ครึกครื้นอยู่ตลอดเวลา เพราะเต็มไปด้วยหอพัก ร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ มากมาย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าแถวนี้ก็มีวัดด้วย ไม่ได้หมายถึงวัดอุโมงค์นะคะ แต่เป็นวัดเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเนินเขา อยู่ไม่ไกลจากย่านหลังมอ ครั้งนี้อยากจะพาเพื่อนๆ ไปหาความสงบที่วัดนี้กันค่ะบันไดนาคทางขึ้นวัดป่าแดง
วัดป่าแดงมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จากปากทางเข้าซอยวัดอุโมงค์ตรงถนนสุเทพ ประมาณ ๒๐๐ เมตร จะพบกับทางแยกทางขวามือตรงข้ามกับ 7-11 เลี้ยวเข้าไปประมาณ ๖๕๐ เมตร ก็จะถึงวัด บรรยากาศในวัดร่มรื่นและเงียบสงบ
ทางเข้าวัดเป็นบันไดนาคทอดยาวขึ้นสู่เนินเขา คล้ายๆ กับพระธาตุดอยสุเทพ เมื่อขึ้นไปถึงด้านบน จะพบกับความสงบร่มรื่นของดงไม้แดง อันเป็นที่มาของชื่อวัด วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๗๔ โดยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แหงราชวงศ์มังราย เพื่อเป็นสถานที่พำนักของพระมหาญาณคัมภีร์และคณะที่เดินทางกลับมาจากการศึกษาพุทธศาสนาจากศรีลังกา ซึ่งพระมหาญาณคัมภีร์ได้อัญเชิญพระไตรปิฎก พระพุทธรูป และต้นโพธิ์จากศรีลังกามาปลูกที่วัดแห่งนี้อีกด้วยวัดป่าแดงจึงกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายสิงหลในดินแดนล้านนา พระเจ้าติโลกราชทรงผนวชที่วัดนี้เมื่อปี ๑๙๙๐ อีกด้วย ต่อมาเมื่อพม่าเข้ามายึดครองดินแดนล้านนา ทำให้วัดป่าแดงและวัดอื่นๆ ถูกปล่อยให้รกร้าง จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ได้มีการบูรณะให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมจนถึงในปัจจุบันพระวิหารวัดป่าแดง สถาปัตยกรรมเก่าแก่ เรียบง่าย
พระวิหารโบราณสถาปัตยกรรมล้านนา คือปูชนียสถานแห่งแรกที่เราพบหลังจากเดินขึ้นบันไดมากว่า ๑๒๐ ขั้น หลังคาซ้อนกัน ๓ ชั้น ช่อฟ้าและนาคสะดุ้งพึ่งได้รับการบูรณะเมื่อไม่นานมานี้ หน้าบันอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นลายปูนปั้นพรรณพฤกษาและรูปสัตว์ต่างๆ มีแก้วลูกใหญ่สีเขียวประดับอยู่ด้านบนสุด ประตูทางเข้าแปลกไม่เหมือนใคร เป็นไม้แกะสลักเป็น ๘ เหลี่ยมประดับด้วยกระจกหลายสี ด้านหลังมีกู่ที่ติดกับพระวิหารอีกด้วย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๕๕ นิ้ว สูง ๗๒ นิ้ว จำลองมาจากพระเจ้าเก้าตื้อในพระอุโบสถวัดสวนดอกพระเจดีย์อยู่ด้านหลังพระวิหาร มีอยู่ ๒ องค์ องค์ที่อยู่ตรงกลางเป็นเจดีย์ศิลปะล้านนาผสมกับพม่า สร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อเป็นสถานที่บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์พระองค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์มังราย ฐานเป็นสี่เหลี่ยมย่อเก็จยกสูงเหนือขึ้นไปเป็นฐานอีกชั้นหนึ่ง แต่ละด้านมีซุ้มโขง ถัดขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำประดับด้วยกระจกสีตามแบบฉบับพม่า ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง ๕ ชั้น ส่วนเจดีย์อีกองค์หนึ่งเป็นศิลปะล้านนาตั้งอยู่บนฐานย่อเก็จรับกับมาลัยเถา ๕ ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังคว่ำ ส่วนยอดเป็นฉัตร ๕ ชั้น องค์นี้สันนิษฐานว่าภายในบรรจุอัฐิของเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งก็เป็นได้พระอุโบสถโบราณ
ด้านหลังพระอุโบสถ
หลังจากชมศาสนสถานบนเนินเขาแล้ว ขากลับอย่าลืมแวะชมพระอุโบสถที่อยู่ด้านล่างด้วยนะคะ พระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี ๑๙๙๕ โดยพระเจ้าติโลกราช โดยสร้างบนสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบิดาและพระราชมารดาเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา