ชมพระอุโบสถล้านนาเก่าแก่ ณ วัดอุโบสถเรามักจะเห็นความเก่าแก่ของพระวิหารที่ประดับด้วยลวดลายการแกะสลักไม้ที่สวยงามอยู่ทั่วไปในหลายๆ วัดของเมืองเชียงใหม่ แต่วัดหนึ่งที่มีจุดเด่นไม่เหมือนใคร เพราะอาคารโบราณที่เก่าแก่สวยงามไม่ใช่พระวิหาร แต่เป็นพระอุโบสถล้านนา อายุกว่า ๑๐๐ ปี พระอารามนี้อยู่ไม่ไกลนักจากตัวเมืองนัก เราจะไปเยือนวันนอกเมืองกันอีกครั้ง วัดอุโบสถวัดอุโบสถ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางสู่วัดนี้ เริ่มต้นจากตลาดต้นพะยอม มุ่งหน้าลงใต้ไปตามถนนคันคลองชลประทาน ประมาณ ๕.๖ กิโลเมตร จะถึงสามแยกอุโบสถวารีประทาน เลยแยกไปอีก ๒๐๐ เมตร ชิดขวาข้ามสะพาน และเข้าไปในซอยที่อยู่ตรงกับสะพานอีก ๔๐๐ เมตร พระอุโบสถเก่าแก่รูปทรงคลาสสิค
ใบเสมาเรียบง่ายแบบโบราณบอกเขตการทำสังฆกรรม
ทราบเพียงว่าวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๕ ไม่ปรากฏหลักฐานและตำนานการสร้างแน่ชัด ภายในวัดเงียบสงบ และร่มรื่น ต้นมะม่วงใหญ่ให้ความร่มเย็นกับผู้มาเยือน ไฮท์ไลท์ของวัดนี้คือ พระอุโบสถสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณอายุมากกว่า ๑๕๐ ปี อาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ หลังคาซ้อนกัน ๒ ชั้น หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา และแก้วอังวะรูปร่างคล้ายอัญมณี ราวบันไดมีรูปปั้นเทวดา ๒ องค์ แต่น่าเสียดายที่พระอุโบสถหลังนี้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างทรุดโทรมพระวิหารแบบล้านนาสร้างใหม่
พระประธานในวิหาร
พระวิหาร อยู่ข้างๆ กับพระอุโบสถโบราณ สถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาซ้อนกัน ๒ ชั้น หน้าบันเป็นงานแกะสลักไม้รูปพรรณพฤกษา และลิง ราวบันไดเป็นรูปมกรคายนาค ผนังด้านนอกบริเวณประตูทางเข้าเป็นจิตรกรรมเรื่องราวเกี่ยวกับการแสดงโอวาทปาติโมกข์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน ส่วนที่ฝาผนังเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ และทศชาติชาดกพระเจดีย์ประธานของวัด
พระเจดีย์ อยู่ด้านหลังพระวิหาร ศิลปะล้านนาอิทธิพลสุโขทัย องค์เจดีย์มีกำแพงแก้วล้อมรอบอยู่ แต่ละมุมมีฉัตรประดับไว้ ฐานด้านล่างสุดเป็นสี่เหลี่ยม มีลายปูนปั้น ๑๒ นักษัตรอยู่โดยรอบ เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวย่อเก็จ รองรับกับฐานอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งในแต่ละด้านมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ถัดขึ้นไปเป็นชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมซ้อนกัน ๒ ชั้นรับกับองค์ระฆังคว่ำ ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง ๙ ชั้น ศาลาพระเจ้าทันใจ เป็นอาคารไม้สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ ภายในประดิษฐานพระเจ้าทันใจ เชื่อว่าหลายคนต้องเคยสงสัยว่าทำไมต้องชื่อพระเจ้าทันใจ ก็เพราะว่าพระเจ้าทันใจเป็นพระพุทธรูปที่ต้องสร้างให้เสร็จภายใน ๑ วัน ถ้าสร้างไม่เสร็จถือว่าเป็นพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไป พระเจ้าทันใจจะบันดาลความสำเร็จให้กับผู้อธิษฐานได้อย่างทันใจสมดั่งนามของพระองค์แม้ว่าวัดอุโบสถจะไม่ใช่วัดที่โด่งดังเหมือนวัดในเมือง แต่ก็มีพระอุโบสถโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับวัดอื่น จึงอยากเชิญชวนให้เพื่อนๆ ที่ชอบทัวร์วัดเป็นชีวิตจิตใจลองแวะมาเยือนวัดแห่งนี้กันนะคะเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา