เยือน วัดหนองสี่แจ่ง ชมความงามของวัดในชนบทเรื่องราวของวัดวาอารามในเขตชนบทแถบอำเภอสารภียังไม่จบ วันนี้เลดี้ ดาริกาขอพาเพื่อนๆ ย้อนกลับไปตามเส้นทางถนนสุดคลาสสิกที่มีต้นยางสูงใหญ่เป็นพระเอก ถนนเชียงใหม่ ลำพูน (สายเก่า) กันอีกครั้งค่ะ คราวนี้เราไปไกลกว่าเดิม (ไกลกว่าวัดพระนอนป่าเก็ดถี่) นิดเดียว ปลายทางของเราอยู่ที่ วัดหนองสี่แจ่ง ค่ะซุ้มประตูโขงทางเข้าวัด
วัดหนองสี่แจ่ง ตั้งอยู่ที่บ้านหนองสี่แจ่ง ตำบลหนองแฝก อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ในเขตหมู่บ้านชนบทเล็กๆ เงียบสงบ ห่างจากเมืองเชียงใหม่ไม่มากนัก พระอารามเล็กๆ ในหมู่บ้านชนบทแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๙๘ มีอายุประมาณ ๑๖๐ ปี ราวสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ถือว่ามีอายุไม่มากนักเมื่อเทียบกับพระอารามเก่าแก่แห่งอื่นๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่เรื่องราวของชุมชนหนองสี่แจ่งนั้นเก่าแก่กว่ามากทีเดียวหมู่บ้านแห่งนี้มีอายุเก่าแก่ย้อนกลับไปได้กว่า ๗๐๐ ปี เก่าแก่พอๆ กับเมืองเชียงใหม่เลยทีเดียว ตามประวัติเล่าว่าท้าวไชย หรือพระยาไชย เป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้านแห่งนี้ขึ้น ว่ากันว่าในสมัยโบราณมีหนองน้ำอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัด กว้างและยาว ๓๐ ตารางวา เสมอกันหมดหมดทุกทิศ เนื่องจากบริเวณหมู่บ้านเป็นที่ลุ่ม ในฤดูฝนน้ำบ่าไหลเข้ามาสมทบ ทำให้น้ำท่วมบ้านและเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านเสียหาย ครูบาอุต ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองสี่แจ่งในสมัยนั้น พร้อมด้วยผู้ศรัทธาได้ช่วยกันขุดลอกหนองน้ำ และสร้างทางระบายน้ำ พระวิหารวัดหนองสี่แจ่ง
ดินที่ได้จากการขุดลอกหนองน้ำนำมาปั้นอิฐสร้างวิหารวัดหนองสี่แจ่ง ชื่อ วัดหนองสี่แจ่ง จึงได้มาจากหนองน้ำแห่งนั้น คำว่า แจ่ง ในภาษาเหนือ แปลว่า มุมภาพจิตรกรรมเหนือกรอบประตูทางเข้าพระวิหาร
บริเวณวัดหนองสี่แจ่งค่อนข้างกว้างขวาง และร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ที่ปลูกไว้อย่างมีระเบียบ สภาพภายในวัดสะอาดเรียบร้อยมาก พระวิหารขนาดใหญ่ สถาปัตยกรรมล้านนา ตั้งเป็นจุดเด่นอยู่กลางลานวัด ประดับตกแต่งอ่อนช้อยสวยงาม ดูใหม่ โอ่อ่า และสวยงามมาก บันไดทางขึ้นพระวิหารขนาบด้วยนาคสองตัวน่าเกรงขาม หน้าบันพื้นสีเขียวเลื่อมพราย ประดับด้วยลวดลายพรรณพฤกษาตามแบบวิหารล้านนาสมัยหลัง เหนือกรอบประตูเป็นภาพจิตรกรรมเรื่องราวพุทธประวัติหอไตรที่นี่ก็สวยงามมาก
ปูนปั้นนูนสูงรูปเทวดานางฟ้าประดับหอไตร
หอไตรวัดหนองสี่แจ่ง เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาสร้างใหม่ที่จัดได้ว่าสวยงามอีกแห่งหนึ่ง ลักษณะเป็นหอไตรสองชั้น หลังคาซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น ชั้นหนึ่งประดับลายปูนปั้นนูนต่ำสูงรูปเทวดาและนางฟ้าสวยงาม ชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้ลงรักปิดทองสวยงามไม่แพ้กันพระเจดีย์วัดหนองสี่แจ่ง
ซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป
ด้านหลังพระวิหารมีพระเจดีย์ประธานของวัดตั้งอยู่ เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ฐานสีเหลี่ยม องค์เจดีย์ย่อเก็จ มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ทั้งสี่ด้าน เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวกลมซ้อนกันสามชั้น รองรับองค์ระฆัง ยอดบนสุดประดับด้วยฉัตรสีทองสวยงามพระอุโบสถ
พระอุโบสถของวัดมีลักษณะคล้ายพระวิหาร แต่หลังเล็กกว่า สถาปัตยกรรมแบบล้านนา บันไดมีนาคสองัวขนาบข้างอยู่ หน้าบันลวดลายวิจิตรงดงามมาก เหนือกรอบบานประตูพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังสีเข้มแต่ทว่าสวยงามเป็นเรื่องราวในป่าหิมพานต์ และสัตว์ในตำนานพระพุทธศาสนาเหนือกรอบประตูพระอุโบสถ เขียนภาพจิตกรรมเรื่องป่าหิมพานต์
เสียดายที่อาคารหลายๆ แห่งภายในวัดปิดไว้ จึงไม่สามารถเข้าชมภายในได้ อาจเป็นเพราะว่าพระอารามแห่งนี้เป็นเพียงวัดประจำหมู่บ้าน ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวก็ได้ แต่ถึงแม้เราจะไม่ได้ชมข้างใน แต่ก็นับว่าโชคดีที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมวัดแห่งนี้ ทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจมากก่อนเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา