เที่ยว วัดหางดง ชมพระวิหารเก่างดงามตามแบบฉบับล้านนาแต้ๆเลดี้ ดาริกาเคยพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับวิหารไม้ วัดต้นเกว๋น วิหารไม้ที่งดงามบริสุทธิ์ตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนากันมาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่รู้ว่ามีใครติดใจ และเริ่มหลงรักสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นล้านนาจากบทความนั้นหรือไม่ แต่สำหรับฉัน สถาปัตยกรรมแบบล้านนาสมัยเก่าแท้ๆ ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง หรือแต่งแต้มจนฉูดฉาดเกินงาม สื่อถึงจิตวิญญาณแบบล้านนาที่มาพร้อมกับความเรียบง่าย ครั้งนี้ได้โอกาสดี ขอพาเพื่อนๆ ไปเยี่ยมวิหารเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งนอกเมืองเชียงใหม่ที่มีเสน่ห์สะดุดตาสะดุดใจไม่แพ้กัน วิหารวัดหางดงวัดหางดง ตั้งอยู่ที่ตำบลหางดง อำเภอหางดง การเดินทางมาไม่ยากเย็นอะไรนัก จากสี่แยกห้างเซ็นทรัล เชียงใหม่แอร์พอต ขับรถมุ่งลงใต้ ใช้เส้นทางเชียงใหม่-หางดง ตรงไปประมาณ ๑๑ กิโลเมตรก็เข้าสู่ตัวอำเภอหางดง สังเกตทางแยกด้านขวามือ อยู่ติดกับตลาดสดเทศบาลอำเภอหางดง เลี้ยวเข้าไปตามเส้นทางนั้นประมาณ ๒๐๐ เมตร เลี้ยวขวาอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็ถึงแล้วค่ะ วัดหางดงอยู่ทางซ้ายมือ เดิมพระอารามแห่งนี้ชื่อว่า วัดสันดอนแก้ว สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๐๒๗ ช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนารุ่งเรืองมาก มีการสร้าง และบูรณะวัดวาอารามหลายแห่ง กระทั่งพม่าเข้ามาปกครองล้านนา วัดหลายแห่งถูกทำลาย บางแห่งก็ถูกทิ้งให้รกร้าง แต่วัดสันดอกแก้วยังคงอยู่ เพราะมีผู้นำชุมชนคอยบูรณปฏิสังขรณ์อยู่เสมอ วัดนี้จึงเป็นศูนย์กลางชุมชน ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับสภาพชุมชนที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้สักว่า วัดบ้านดง ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ แขวงแม่ท่าช้างได้ยกฐานะเป็นอำเภอหางดง วัดบ้านดง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดหางดง เพื่อให้สอดคล้องกับชื่ออำเภอมาจนถึงปัจจุบันวิหารวัดหางดงสวยสดงดงามตามแบบล้านนา
หน้าบันสวยงามมาก
เดินทางมาถึงวัด มองผ่านประตูเข้าไปภายใน วิหารสีแดงเปลือกมังคุดตั้งเด่นเป็นสง่าประทับใจผู้มาเยือนเมื่อแรกเห็น สถาปัตยกรรมล้านนาโบราณบริสุทธิ์ งดงามสมส่วน เพิ่งได้รับการบูรณะไปเมื่อไม่นานมานี้ วิหารจึงยังมีสภาพสมบูรณ์ และคงรูปแบบดั้งเดิมไว้อย่างดี ด้านหน้าพระวิหารมีสิงห์ปูนปั้นสองตัวประดับไว้ ตัวอาคารกว้าง ๗.๙๐ เมตร ยาว ๒๕ เมตร หลังคาลดหลั่นซ้อนกันสามชั้น ช่อฟ้า และนาคสะดุ้งทำจากไม้ประดับด้วยกระจกสีสันต่างๆ ยิ่งสวยงามมากขึ้นเมื่อสะท้อนแสงแดด หน้าบันแบ่งออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมคล้ายกับฝาปะกน (ฝาบ้านเรือนไทยภาคกลาง) เรียกหน้าบันลักษณะนี้ว่า ม้าต่างไหม เป็นเอกลักษณ์สำคัญของสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ประดับด้วยลายปูนปั้นรูปเทพพนม ลายพรรณพฤกษา และแก้วขนาดใหญ่สีต่างๆ บันไดขนาบข้างด้วยมกรคายนาค ทางเข้าพระวิมีสองทาง คือด้านหน้า และด้านข้างทางทิศใต้เป็นมุขเล็กๆ สำหรับพระสงฆ์เข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาลายปูนปั้นประดับงานสถาปัตยกรรม ละเอียดอ่อนช้อยมาก
ลักษณะอาคาร
มุขทางเข้าด้านข้างสำหรับพระสงฆ์
ภายในพระวิหารประดิษฐานพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัยปิดทองทั้งองค์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๙๗ นิ้ว สูง ๙๙ นิ้ว ด้านหลังพระประธานมีลายปูนปั้นปิดทองสวยงาม ฝาผนังมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องรามเกียรติ์ เสาประดับลายปูนปั้นไม่ซ้ำแบบกันพระอุโบสถสถาปัตยกรรมล้านนา สร้างใหม่
พระอุโบสถ อยู่ด้านข้างพระวิหารทางทิศเหนือ สถาปัตยกรรมล้านนา สร้างขึ้นใหม่ หลังคาลดหลั่นซ้อนกันสามชั้น หน้าบันเป็นลายปูนปั้นพรรณพฤกษา ซุ้มทางเข้ามีลายปูนปั้นรูปช้างเอราวัณ ประตูลายรดน้ำรูปเทวดา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน ส่วนฝาผนังเป็นจิตรกรรมพุทธประวัติกรอบประตูพระอุโบสถ
วัดหางดงถือเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งที่สร้างขึ้นในยุคที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในดินแดนล้านนา เป็นศูนย์กลางชุมชนมาตั้งแต่อดีต จนกลายมาเป็นวัดประจำอำเภอในปัจจุบัน อีกทั้งยังคงคุณค่าความงามทางพุทธศิลป์โบราณไว้อย่างสมบูรณ์เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา