เยือน วัดบ้านฟ่อน ชื่นชมความงามระหว่างทางเราออกเดินทางเพื่ออะไร? บางคนเดินทางเพื่อไปทำธุระ บางคนเดินทางเพื่อไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ หลายคนทิ้งงานทิ้งการเพื่อออกเดินทางตามความฝันของตน ทุกคนย่อมมีเป้าหมายที่แตกต่างกันทั้งในแง่ของจุดหมายปลายทาง และจุดประสงค์ที่ออกเดินทาง หลายครั้งปลายทางของเราก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ใจใฝ่หา แต่อาจพบความงดงามบางอย่างระหว่างทางโดยไม่คาดคิด การออกเดินทางครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่เลดี้ ดาริกาค้นพบบางอย่างระหว่างทาง และอยากนำเสนอเพื่อนๆ ค่ะวัดวุฑฒิราษฎร์หรือ วัดบ้านฟ่อน ตั้งอยู่บนถนนหมายเลข ๑๒๖๙ หางดง-สะเมิง ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง เดิมชื่อว่า วัดสันขวางบ้านฟ่อน สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๓ โดยพระอธิการชัย อภิชโย แม้ว่าวัดนี้จะเป็นเพียงวัดเล็กๆ ระหว่างทางไปอำเภอสะเมิงเท่านั้น แต่ภายในวัดกลับมีอะไรที่น่าสนใจ และน่าค้นหาพระอุโบสถวัดบ้านฟ่อน สีสันฉูดฉาดสะดุดตามากๆ
เพียงแค่แรกเห็นวัดนี้ ฉันก็บอกกับตัวเองว่าไม่แวะคงไม่ได้เสียแล้ว รีบเลี้ยวรถเข้าไปเยี่ยมชมภายในวัดกันดีกว่านะคะ บรรยากาศภายในวัดค่อนข้างร้อน เพราะเป็นพื้นปูน และไม่ค่อยมีต้นไม้ สถานที่สำคัญสะดุดตาเมื่อแรกเห็นคือ พระอุโบสถหลังงามใหม่เอี่ยม ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น และกระจกสีสันต่างๆ ปูนปั้นคนครึ่งนาคขนาบบันไดทางขึ้นพระอุโบสถ
หน้าบันพระวิหารประดับตกแต่งวิจิตรงดงามมาก
ตัวอุโบสถตั้งอยู่บนฐานสูงประมาณครึ่งเมตร ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีป้ายเตือนชัดเจนว่า สตรีห้ามเข้า ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และธรรมเนียมปฏิบัติของภาคเหนือ ผู้หญิงก็อย่าเพิ่งน้อยใจไปนะคะ แม้เราจะไม่ได้เข้าไปภายใน แต่เราก็สามารถบูชาพระด้วยใจได้ ว่ากันว่าที่ห้ามสตรีเข้าเขตพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์นั้น เพราะเชื่อกันว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือมีของมีอาคมฝังอยู่ ถ้าผู้หญิงเดินข้ามหรือเหยียบย่ำของอาคมเหล่านั้นอาจเสื่อม และอาจเป็นภัยต่อตัวผู้หญิงคนนั้น เห็นเหตุผลแบบนี้แล้วค่อยเบาใจว่ามีคนเป็นห่วง ฮ่าๆลวดลายปูนปั้นเหนือบานประตู
ภาพจิตรกรรมด้านหน้าพระอุโบสถ
หน้าบันพระวิหารมีปูนปั้นเป็นซุ้มซ้อนกันขั้นไปหกชั้น ประดับลวดลายพรรณพฤกษา และหมู่เทวดานางฟ้ารำฟ้อน ละเอียดอ่อนช้อยงดงามมาก ใต้ชายคาเป็นปูนปั้นนูนต่ำ ๑๒ นักษัตร เสาทุกต้นประดับปูนปั้นบนพื้นกระจก ราวบันไดทั้งสองข้างขนาบด้ายคนครึ่งนาค ซุ้มประตูทางเข้าโดดเด่นด้วยลายพญานาค และพรรณพฤกษาบนพื้นกระจกสีต่างๆ บานประตูรูปเทวดาถือดาบแกะไม้ ผนังด้านหน้าวาดภาพจิตรกรรมเทวดาและยักษ์เอาไว้พระวิหารวัดบ้าฟ่อน
กรอบประตูพระวิหาร
พระวิหาร ตั้งอยู่กลางวัด สถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันมีลายปูนปั้นพรรณพฤกษาบนพื้นกระจกสีเขียว ซุ้มประตูรูปสามเหลี่ยม ด้านบนมีนกยูงสัญลักษณ์ของล้านนา บานประตูเป็นงานไม้รูปเทพพนม ผนังด้านหน้าเป็นจิตรกรรมรูปนางอัปสรโปรยดอกไม้ พระเจดีย์ อยู่ด้านหลังพระวิหาร องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสองชั้น เหนือขึ้นไปเป็นฐานยกสูงมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ทั้งสี่ด้าน ถัดขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทองเจ็ดชั้นศาลาพระนอน
ชมความงามของอาคารสถานต่างๆ ภายในวัดกันจบอิ่มใจแล้ว ก็อย่าลืมไปกราบ ครูบาดวงดี ยติโก เพื่อขอพรและเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ถือว่าอริยสงฆ์สำคัญรูปหนึ่งของล้านนาที่มีอายุพรรษามากที่สุด ในเดือนตุลาคมปีนี้ (๒๕๕๗) จะมีอายุครบ ๑๐๐ พรรษา ท่านเป็นทั้งพระนักพัฒนา และปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรมอย่างเคร่งครัด คอยอบรมสั่งสอนพระสงฆ์ สามเณร และชาวบ้าน จึงเป็นที่เคารพของชาวเชียงใหม่ และประชาชนในจังหวัดใกล้เคียงเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา