เที่ยว วัดดับภัย กราบขอพรพระเจ้าดับภัยเพื่อความเป็นสิริมงคลวัดดับภัย ฟังแล้วดูประหลาดหู แต่ก็เป็นชื่อที่ติดหู จำง่าย ดูเชื้อเชิญจนเลดี้ ดาริกาอยากเข้าไปทำความรู้จักสักหน่อย แม้ว่าชื่อจะฟังดูแปลก แต่พินิจพิจารณากันให้ดีๆ แล้วเป็นชื่อที่มีความหมายดี ให้พลังในทางบวกมากๆ เพราะ ดับภัย หมายถึง การไม่มีเพศภัยใดๆ มาย่ำกรายชีวิตเราได้นั่นเอง จึงไม่แปลกเลยที่พระอารามแห่งนี้จะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในวัดมงคลนาม คือมีชื่อเป็นมงคลของเมืองเชียงใหม่ ในบทความนี้ขอพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับพระอารามแห่งนี้กันค่ะวัดดับภัย ตั้งอยู่บนถนนสิงหราช ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เดิมชื่อว่า วัดตุงกระด้าง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๐ ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์มังราย ตามตำนานเล่าว่า มีขุนนางคนหนึ่งชื่อว่า พระยาอภัย เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก จึงสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาองค์หนึ่ง ชื่อว่า พระเจ้าดับภัย เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำครอบครัว ประดิษฐานเอาไว้ในห้องนอนของตน ไม่ว่าจะไปที่ใดก็จะนำพระเจ้าดับภัยไปด้วยเสมอ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเอง และบริวารวิหารวัดดับภัย สถาปัตยกรรมล้านนา
เมื่อพระยาอภัยล้มป่วยลง ไม่มีหมอคนไหนรักษาได้ ท่านอธิษฐานขอพรต่อพระเจ้าดับภัยให้ตนหาย ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ของพระเจ้าดับภัย อาการป่วยของท่านค่อยๆ ทุเลาลง จนหายขาดในที่สุด พระยาอภัยย้ายมาปลูกเรือนใกล้กับวัดตุงกระด้าง พร้อมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์วัดให้มีสภาพที่ดีขึ้น แล้วอัญเชิญพระเจ้าดับภัยมาประดิษฐานที่วัดตุงกระด้าง พระอารามแห่งนี้จึงได้รับการขนานนามใหม่ว่า วัดดับภัย จนถึงทุกวันนี้ลายปูนปั้นกรอบประตูพระวิหาร
ลายรดน้ำบานประตูพระวิหาร
พระวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา และกระจกสีสันต่างๆ ซุ้มโขงประตูวิหารเป็นลายปูนปั้นสัตว์นานาชนิด ผนังด้านหน้ามีจิตรกรรมรูปพระพุทธเจ้า เทวดา และนางอัปสรโปรยดอกไม้ พระประธานในวิหาร ด้านหน้า (องค์เล็ก) คือพระเจ้าดับภัย
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ด้านหน้าพระประธานเป็นที่ประดิษฐาน พระเจ้าดับภัย พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่ง เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป เชื่อกันว่าใครก็ตามที่ประสบภัยต่างๆ ให้มากราบไหว้ท่าน ก็จะหมดภัยได้สมดั่งชื่อของพระพุทธรูปอันเป็นมงคล ฝาผนังพระวิหารมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติพระเจ้าทันใจ
ด้านหน้าวิหารมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ประวัติเล่าว่าในสมัยพระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่พระองค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน หลังจากพระองค์เสด็จกลับมาจากกรุงเทพฯ มหานครทุกครั้ง จะต้องมาที่วัดดับภัยเพื่อนำน้ำในบ่อนี้ไปสรงน้ำพระพุทธมนต์ จากนั้นจึงไปวัดเชียงมั่นเพื่อสืบดวงชะตา พระเจดีย์ ตั้งอยู่หลังพระวิหาร ศิลปะล้านนา ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น เหนือขึ้นไปจากนี้บุหุ้มด้วยทองจังโก องค์ระฆังทรงกลมสีทอง ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง ๗ ชั้นพระอุโบสถ
พระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านหลังพระเจดีย์ สถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษาและดอกบัวบนกระจกสีฟ้า ทางเข้าเป็นซุ้มโขง ผนังด้านหน้ามีจิตรกรรมรูปเทวดาและนางอัปสร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย จีวรริ้ว ส่วนที่ผนังมีจิตกรรมพุทธประวัติภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ
การมาไหว้พระเจ้าดับภัยเพื่อหวังให้ท่านช่วยดับภัยต่างๆ ที่เข้ามาเป็นมรสุมรุมเร้าชีวิต แม้ว่าจะเป็นการปฏิบัติที่ไม่สามารถหวังผลให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ อย่างน้อยก็เป็นขวัญกำลังใจให้เราต่อสู้กับภัยจนสามารถเอาชนะได้ในที่สุด วัดนี้เดินทางไปง่ายมากเลยค่ะจากหน้าวัดพระสิงห์ไปทางทิศเหนือข้ามสี่แยกไฟแดงไปเพียง 150 เมตร ก็ถึงวัดเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา