ภาพจิตรกรรมวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ชมงานศิลปะชั้นครูในบรรดางานศิลปะโบราณทุกแขนง ภาพจิตรกรรม เป็นสิ่งที่ดูแลรักษาได้ยากที่สุด เพราะไม่ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และกาลเวลา หากเปรียบเทียบจำนวนภาพเขียนโบราณที่ยังคงเหลือให้เห็นค่อนข้างสมบูรณ์กับงานประติมากรรม และสถาปัตยกรรมนั้นถือว่าเหลืออยู่น้อยมาก แต่ฉันชอบภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังมากที่สุด เพราะเปรียบเสมือนภาพที่ถ่ายทอดเรื่องราว และวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละยุคสมัย ภาพจิตรกรรมโบราณเป็นตัวแทนบอกเล่าอดีตได้อย่างดีวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่
งานจิตรกรรมล้านนาเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่เคยเฟื้องฟูมาในอดีต ปัจจุบันหาดูได้ยาก ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักแม้กระทั้งคนที่ไม่ได้คลั่งไคล้ ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ พูดแล้วต้องร้อง อ๋อ! ต้องยกความดีความชอบให้กับจังหวัดน่าน ที่ทำให้ภาพจิตรกรรมล้านนาเก่าแก่ในวัดภูมินทร์มีชื่อเสียงโด่งดัง ไม่ต่างกับภาพเขียนโมนาลิซ่าในพิพิธภัณฑ์ลูฟ ที่ใครไปฝรั่งเศส เป็นต้องอยากหาโอกาสไปดูสักครั้ง ในเชียงใหม่ก็มีภาพจิตรกรรมพอหลงเหลือให้เห็นหลายวัด วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จัก วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ชมภาพจิตรกรรมน้ำเอกอีกชิ้นของล้านนากันค่ะซุ้มโขงกรอบประตูวิหารลายคำ ละเอียดอ่อนช้อยมาก
กู่ด้านหลังวิหารลายคำ
วัดพระสิงห์เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ภายในวัดเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่หลงใหลศิลปะล้านนา เพราะที่นี้มีศิลปวัตถุแทบทุกแขนงของล้านนาไว้ให้ศึกษาเรียนรู้ สำหรับบทความนี้เราขอพาเพื่อนๆ เน้นเยี่ยมชมวิหารลายคำ และภาพจิตรกรรมภายในพระวิหารวิหารลายคำ ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวงของวัด ใกล้ๆ กับพระอุโบสถและเจดีย์ เป็นวิหารสถาปัตยกรรมล้านนาบริสุทธิ์ หลังไม่ใหญ่โตนัก แต่เก่าแก่และงดงามมาก ภายในประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ หนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียง นอกจากพระพุทธสิหิงค์แล้ว ไฮไลท์สำคัญของพระวิหารหลังนี้ที่ทำให้พิเศษกว่าวิหารแห่งอื่นคือภาพจิตกรรมฝาผนังภายในวัดที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ และเขียนเต็มทั้งผนังสวยงามมากภาพจิตรกรรมวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ วาดขึ้นราวๆ สมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยจิตรกรชื่อเจ๊กเส่ง เป็นภาพจิตรกรรมล้านนาที่มีอิทธิพลศิลปะกรุงเทพฯ เข้ามาผสมผสานได้อย่างลงตัว และมีกลิ่นอายของศิลปะตะวันตกอยู่ด้วย ผนังด้านซ้ายเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องสังข์ทอง ด้านขวาเรื่องสุวรรณหงส์ ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็น ๒ ใน ๕๐ เรื่องจากปัญญาสชาดก งานวรรณกรรมที่เขียนขึ้นโดยเลียนแบบชาดก (เรื่องราวแต่ละชาติของพระพุทธเจ้า) ภาพจิตรกรรมในวิหารลายคำนี้เขียนด้วยสีเขียวและครามมาก แต่ก็มีสีสันสดใส สวยงาม น่าติดตาม จิตรกรเขียนภาพได้อย่างอิสระ สอดใส่ลูกเล่น และอารมณ์ของศิลปินลงไปในภาพได้อย่างน่าสนใจ ภาพผู้คนที่ปรากฏอยู่ในงานจิตรกรรมนี้มีลักษณะการแต่งกาย และขนบวิถีชีวิตตามอย่างคนลล้านนาทุกประการ ทั้งการนุ่งผ้าของสตรี การสักลายที่ขา และการแต่งกายของบุรุษภาพจิตรกรรมปิดทองล่องชาด ด้านหลังพระประธาน
นอกจากภาพเขียนสีแล้ว ด้านหลังพระพุทธสิหิงค์ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นภาพจิตรกรรมแบบปิดทองล่องชาด ใช้เทคนิคการฉลุกระดาษปิดทองลงบนพื้นสีแดงชาด ด้านหลังพระประธานใช้ทองมากเป็นพิเศษ ลวดลายละเอียด สวยงามมากเพื่อนๆ คนไหนมาเยือนวัดพระสิงห์ นอกจากหอไตร วิหารหลวง พระอุโบสถไม้ และเจดีย์แล้ว อย่าลืมเข้าไปชมภาพจิตรกรรมภายในวิหารลายคำ หลังเล็กแต่แจ๋วมากๆ ค่ะ เพราะภาพจิตรกรรมภายในนั้นถือเป็นเพชรน้ำเอก งานฝีมือชั้นครูเลยทีเดียวเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา