วัดผาลาด เมื่อพระศาสนาผสานกับธรรมชาติมาเที่ยวเชียงใหม่หลายคนคงไม่พลาดไปเยือนพระธาตุดอยสุเทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าระหว่างทางขึ้นดอยสุเทพมีวัดสวยงามแห่งหนึ่งซ่อนเร้นอยู่ใต้เงาไม้น้อยใหญ่ ครั้งนี้จึงขันอาสาพาเพื่อนๆ ไปรู้จักวัดที่หลายคนผ่านไปมาโดยไม่ให้ความสนใจ แต่สำหรับชาวเชียงใหม่ที่ขึ้นไปเที่ยวดอยสุเทพบ่อยๆ ก็คงจะเคยเห็นป้ายชื่อวัด ผาลาด กันมาบ้าง ไปทำความรู้จักกันเลยดีกว่าค่ะว่าแท้จริงแล้ววัดนี้น่าสนใจ และสวยงามมากขนาดไหน สมกับที่โม้ไว้หรือเปล่าศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปโดดเด่นอยู่ริมถนนสู่ดอยสุเทพ
วัดผาลาด มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "วัดสกิทาคา" ตั้งอยู่เลขที่บ้านห้วยผาลาด ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตามถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ ห่างจากอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยประมาณ 4.5 กิโลเมตร ทางเข้าวัดมีจุดสังเกตคือศาลา 2 หลัง กับป้ายชื่อวัดสีแดง สมัยผ่านไปมาเส้นทางนี้ช่วงแรกๆ เราก็นึกว่ามีอยู่แค่นี้ ที่ไหนได้มีอะไรมากมายซ่อนเร้นอยู่ในป่าด้านล่าง ขับรถลงไปประมาณสัก 200 เมตรก็มาถึงตัววัด ใครจะจอดรถไว้ริมถนนข้างบนแล้วเดินลงมาก็ได้ พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในศาลาริมทาง
ภาพแรกที่เห็นแล้วประทับใจคือการตกแต่งวัดที่ไม่ต่างไปจากรีสอร์ท วัดตั้งอยู่บนเชิงเขาเหนือหน้าผาที่ลาดชัน ได้ยินเสียงน้ำตกไหลกระทบหินประสานกับเสียงหรีดหริ่งเรไร ช่างน่ารื่นรมย์เสียจริง ไม่ได้เว่อร์เกินไปนะคะ บรรยากาศภายในวัดร่มรื่นมาก
ตำนานการสร้างพระธาตุดอยสุเทพเล่าเอาไว้ว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเสี่ยงทายหาสถานที่สร้างพระธาตุ โดยปล่อยให้ช้างเดินไป หากช้างหยุดที่ใดก็จะประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่นั่น ช้างย่อเข่าลงบริเวณที่ตั้งวัดแห่งนี้ แต่ก็ลุกเดินต่อไปจนถึงดอยอ้อยช้าง จึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุ ณ ที่แห่งนั้น ปัจจุบันคือพระธาตุดอยสุเทพ บริเวณที่ช้างหยุดย่อเขาลงครั้งแรกก็สร้างเป็นวัดแห่งนี้ส่วนชื่อ ผาลาด ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่าเดิมเรียกว่า วัดผะเลิด แปลว่า ลื่น เนื่องจากบริเวณนี้ทั้งคนและช้างมักลื่นล้มกันประจำ ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดผาลาด ตามห้วยผาลาดที่ไหลผ่านบริเวณวัด พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์สีขาวล้วน สัดส่วนสวยงามมาก
พระวิหาร ตั้งอยู่กลางวัด แต่เดิมสร้างในสมัยพระเจ้ากือนา แต่ก็พังทลายจนเหลือแต่ฐาน จึงสร้างหลังใหม่ขึ้นมาทดแทน พร้อมๆ กับเมื่อครั้งครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ โดยเลี่ยงไม่ให้ทับกับที่ตั้งวิหารหลังเดิม เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมล้านนาผสมพม่า ฝีมือช่างชาวพม่า หน้าบันประดับด้วยไม้แกะสลักรูปนกยูง ประดับกระจกสีฟ้าเขียว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบชาวลั้วะ คาดว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ากือนา วิหารของวัดผาลาด
พระประธานภายในพระวิหาร
พระเจดีย์ อยู่ด้านหลังพระวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา ศิลปะล้านนา ได้รับการบูรณะพร้อมๆ กับพระวิหารจึงมีรูปแบบศิลปะพม่า เพราะเป็นฝีมือช่างชุดเดียวกัน ฐานสี่เหลี่ยมรองรับฐานย่อเก็จหลายชั้น องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ประดับลายปูนปั้นยักษ์ ส่วนยอดแหลมไม่มีฉัตรกางกั้น ในอดีตเคยถูกขุดเจาะเอาของมีค่าออกไปจนยอดพังลงมา ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมจนอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พระเจดีย์ทรงพม่า
วิหารพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ สถาปัตยกรรมร่วมสมัย ตัวอาคารก่อด้วยอิฐ หลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น ประตูด้านหน้ามีจิตรกรรมสวยงามรูปเทวดาสององค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธเจ้า 5 พระองค์วิหารพระเจ้าห้าพระองค์
บานประตูวิหารพระเจ้าห้าพระองค์ เขียนภาพสวยงาม
พระประธานภายในพระวิหารพระเจ้าห้าพระองค์
พระพุทธรูปหน้าผา เดิมคาดว่าที่ตั้งวิหารแบบพม่าที่ตั้งนิยมสร้างบนแนวผา ปัจจุบันหลงเหลือให้เห็นเพียงส่วนฐาน เคยประดิษฐานพระพุทธรูปเชียงแสน หนึ่งในนั้นคือ พระไล่กา ว่ากันว่าคนโบราณลงอาคมเอาไว้ในพระพุทธรูปดังกล่าว เพื่อไม่ให้อีกา สัตว์แห่งความโชคร้าย บินผ่านวัด ต่อมาถูกทำลายไปสมัยทำสงครามกับพม่า ภายหลังชาวไทใหญ่ที่อพยพลี้ภัยสงครามมาอาศัยในบริเวณนี้ได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ แต่เป็นศิลปะแบบไทใหญ่พระพุทธรูปหน้าผา
ห้วยผาลาดเป็นลำธารที่ไหลผ่านด้านหน้าพระพุทธรูปหน้าผา น้ำจะไหลไปทางทิศตะวันออก ซึ่งในบริเวณนั้นจะเป็นหน้าผาลาดชันลงเรื่อยๆ กลายเป็นน้ำตกขนาดเล็ก จุดนี้เรามองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่ได้ด้วยจากบริเวณวัดมองเห็นวิวเมืองเชียงใหม่
บ่อน้ำทิพย์
ภายในวัดยังมีอีกสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมาก ทั้งบ่อน้ำทิพย์ วิหารเก่าวัดสามยอบ ศาลาพระพุทธรูป ลานปฏิบัติธรรมที่ร่มรื่น และประติมากรรมปูนปั้นต่างๆ ใครที่มาเที่ยวต้องติดใจความสงบงาม และบรรยากาศร่มรื่นราวกับหลุดมาสู่โลกอีกใบหนึ่ง วัดนี้เป็นสถานปฏิบัติธรรมของอุบาสกอุบาสิกา เวลาที่มาเยี่ยมชมต้องสำรมกิริยาวาจา แต่งกายสุภาพเคารพสถานที่กันด้วยนะคะเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา