นมัสการพระธาตุปีจอที่ วัดเกตการาม หัวใจฝั่งตะวันออกของแม่ปิงพระธาตุประจำปีเกิดเป็นคติความเชื่อของชาวล้านนา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพม่า เชื่อกันว่าสัตว์ประจำปีนักษัตรจะพาดวงวิญญาณที่พร้อมเกิดใหม่มาพักที่เจดีย์แห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่อวิญญาณถึงเวลาไปเกิดใหม่ ก็จะไปสถิตอยู่ที่กระหม่อมของบิดาก่อน 7 วัน จากนั้นจึงเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์ของมารดาต่อไป เมื่อมนุษย์คนนั้นหมดอายุไข ดวงวิญญาณก็จะกลับไปสถิตอยู่ที่เจดีย์ประจำปีเกิดนั้นตามเดิมคติความเชื่อดังกล่าวทำให้พระธาตุเจดีย์สำคัญในภาคเหนือ อีสาน (บางแห่ง) และในพม่า กลายเป็นพระธาตุปีนักษัตร ผู้ศรัทธามักหาโอกาสไปสักการะพระธาตุปีเกิดของตน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ในจังหวัดเชียงใหม่มีพระธาตุปีเกิดอยู่ถึง 5 แห่ง ครั้งนี้ขอพาเพื่อนๆ ไปกราบไหว้พระธาตุประจำปีจอที่วัดเกตการาม บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงวัดเกตการามตั้งอยู่บนถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เดิมชื่อว่า วัดสระเกษ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1971 ในรัชสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน พระองค์ทรงโปรดให้พระยาเมือง พระยาคำ และพระยาลือ สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น ชื่อ วัดเกตการาม มาจากคำว่า เกศ ซึ่งเป็นชื่อของพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าพระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี
ศิลปะล้านนา อิทธิพลสุโขทัย ประดับกระจกสีสวยงาม
พระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี เป็นพระธาตุประจำปีจอ ศิลปะล้านนาอิทธิพลสุโขทัย ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จ แต่ละมุมมีเจดีย์บริวารและปูนปั้นพญาครุฑ พระพุทธรูปปางประทานพรประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำ 4 ด้าน องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำประดับกระจกสี และทองจังโกดุนลาย ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 7 ชั้น สร้างจำลองพระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาไว้บนโลกมนุษย์ องค์พระธาตุเอียงเล็กน้อย เป็นความตั้งใจของผู้สร้าง ไม่ได้เกิดจากการทรุดตัว เพราะไม่ต้องการให้ยอดเจดีย์ชี้ขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงความอ่อนน้อม และไม่ล่วงเกินต่อพระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณีองค์จริง นอกจากจะบูชาเจดีย์ด้วยธูปเทียนแล้ว ชาวล้านนายังบูชาด้วยโคมอีกด้วย เพื่อให้โคมดังกล่าวลอยไปนมัสการพระธาตุบนสวรรค์นั่นเองวิหารหลวงวัดเกตการาม สถาปัตยกรรมล้านนา
ด้านหลังพระวิหารประดับกระจกสี
ภายในวิหาร โอ่อ่า สวยงามมาก
หมู่พระประธานภายในวิหารหลวง
พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระปรพธานในพระวิหาร
พระวิหาร อาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาเรียงซ้อนกัน 5 ชั้น ชั้นนอกสุดเป็นมุขคลุมบริเวณบันไดนาค หัวเสาประดับด้วยแก้วอังวะ หน้าบันประดับงานไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษา หลังพระวิหารประดับกระจกแก้วสีต่างๆ เป็นลวดลายสวยงามมาก พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยธรรมมาสน์สำหรับเทศนาชาวบ้าน ศิลปะแบบล้านนา
บานประตูพระวิหาร
ศิลาจารึกวัดเกตการาม ตั้งอยู่มุขด้านข้างพระวิหาร
พระอุโบสถอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ติดกับกุฏิ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมล้านนา จุดเด่นของอาคารนี้คืองานแกะสลักไม้และลายปูนปั้นที่อ่อนช้อย และยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ บันไดเป็นมกรคายนาคสีคล้ำ หน้าบันประดับลายพรรณพฤกษา ประตูไม้แกะสลักรูปเทพพนมสององค์เขียนสีทองบนพื้นแดง ผนังด้านหน้าประดับด้วยปูนปั้นรูปกิเลน สิงโต และปลา ศิลปะแบบจีน แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของชาวจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานริมน้ำปิงตั้งแต่อดีต]
พระอุโบสถ ประดับลายปูนปั้นวิจิตรมาก
บานประตูอุโบสถ
กุฏิพระสงฆ์ สามเณร เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว เดิมเป็นอาคารโรงเรียนนักธรรมสำนักวัดสระเกษ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2462 โดยจีนอินทร์ และนางจีบ ซิ้มกิวฮั่วเซ้ง เพื่อใช้เป็นโรงเรียนสอนนักธรรม บาลี ปริยัติธรรม ต่อมาไม่มีการเรียนการสอน จึงปรับปรุงเป็นกุฏิพระสงฆ์ สามเณรกุฏิสงฆ์และสามเณร เป็นอาคารไม้ วิจิตรสวยงามมาก
พิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม เดิมเป็นกุฏิเจ้าอาวาส สร้างขึ้นโดยความร่วมมือกันระหว่างทางวัดและชุมชน จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อเก็บโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย เช่น พระพิมพ์ต่างๆ ตาลปัตร คัมภีร์ เงินโบราณ ภาชนะเก่าๆ ซึ่งในปัจจุบันหาชมได้ยาก ครั้งหนึ่งเลดี้ ดาริกาเคยเขียนบทความเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไว้แล้วโดยเฉาพะ ใครสนใจลองไปอ่านดูได้ตามลิงค์นี้นะคะhttp://www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/index.php/topic,6839.0.html#.UvhBq2J_ubsพิพิธภัณฑ์ชาวบ้านวัดเกตการาม
วัดเกตตั้งอยู่ในย่านการค้าเก่าแก่ของเชียงใหม่ มีทั้งชาวล้านนาและชาวต่างชาติเข้ามาทำมาค้าขาย และตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ ถ้ามีเวลาแนะนำให้เดินตั้งแต่ตีนสะพานนวรัฐไปจนถึงสะพานนครพิงค์ โดยใช้ถนนเจริญราษฎร์ เพื่อนๆ จะได้สัมผัสความคลาสสิก และมนต์เสน่ห์อีกแบบหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ มีทั้งตึกเก่า ร้านอาหารอร่อย ทั้งร้านกาแฟ ร้านเค้ก สเต็ก ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ รับรองว่าจะต้องชอบแน่ๆ เลยค่ะเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา