วัดลอยเคราะห์ พระอารามเก่าแก่ท่ามกลางโลกสมัยใหม่ใจกลางชุมชนนักท่องเที่ยวต่างชาติเมืองเชียงใหม่ที่ผู้คนขวักไขว่และคึกคักตลอดเวลา ร้านรวงต่างๆ ผับ และบาร์เปิดบริการแก่นักเดินทางทุกค่ำคืนไม่ได้หยุดหย่อน บรรยากาศที่ช่างพลุกพล่านและดูวุ่นวาย แต่ท่ามกลางความวุ่นวายก็ยังมีความสงบสงัดอยู่บ้าง วัดลอยเคราะห์ คือพระอารามที่ยืนหยัดคู่กับเมืองเชียงใหม่มาหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยที่ย่านนี้เป็นเพียงหมู่บ้านแห่งหนึ่งเท่านั้นวัดลอยเคราะห์เป็นวัดอีกแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ที่ผู้คนเดินทางมาทำบุญเพื่อโชคลาภ เพราะมีชื่อที่เป็นมงคล เปรียบเสมือนการลอยทุกข์ลอยโศกให้พ้นตัว ผู้ที่ทุกข์ใจหลายๆ คนจึงหวังพึงวัดช่วยชโลมจิตใจที่หมองหม่น ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่งวัดนี้ตั้งอยู่บนถนนลอยเคราะห์ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ อายุมากกว่า 600 ปีแล้ว ถือว่าเก่าแก่มากที่เดียว เดิมชื่อว่า วัดร้อยข้อ (วัดฮ้อยข้อ) สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 1910 ในสมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ช่วงปลายรัชสมัยพม่ายกทัพมาตีล้านนา และยึดครองล้านนาได้สำเร็จ วัดต่างๆ ในเชียงใหม่จึงถูกทิ้งร้างไปบรรยากาศภายในวัด
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดให้พระเจ้ากาวิละรวบรวม 57 หัวเมืองในดินแดนล้านนาให้เป็นปึกแผ่น เมืองเชียงใหม่จึงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในยุคนั้นด้วย เรียกกันว่าเป็นยุค เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง พระเจ้ากาวิละยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนที่ยังคงอยู่ใต้การปกครองของพม่าได้สำเร็จ และกวาดต้อนชาวเชียงแสนมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ชาวเชียงแสนตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันออกของคูเมืองชาวบ้านฮ่อม ชาวเชียงแสนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาในสมัยนั้นได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดร้อยข้อขึ้นมาใหม่ และนำชื่อวัดในเมืองเชียงแสนมาตั้งเป็นชื่อใหม่ว่า วัดลอยเคราะห์ วัดนี้ได้รับการดูแลจากชุมชนเสมอมา ล่าสุดได้รับการบูรณะในปี พ.ศ. 2550-2551 ซึ่งเป็นการบูรณะที่ยังคงรักษารูปแบบเดิมที่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2408พระวิหารของวัด
กรอบประตูพระวิหารประดับลายปูนปั้นและกระจกสีอ่อนช้อย
พระวิหาร อยู่ทางทิศตะวันตกของวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมล้านนา ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2545 หน้าบันโดดเด่นด้วยลายปูนปั้นพระพุทธรูปปางสมาธิ สัตว์ในวรรณคดี และลายพรรณพฤกษา ที่ละเอียดอ่อนช้อยสวยงามมาก ซุ้มประตูโขงทางเข้าพระวิหารประดับด้วยลายปูนปั้นรูปต่างๆ และกระจกสีบรรยากาศภายในพระวิหารตกแต่งแบบล้านนาสวยงามมาก
หมู่พระประธานในพระวิหาร
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ภายในประดิษฐาน พระพุทธศุภโชคศรีลอยเคราะห์มิ่งมงคล เป็นที่เคารพของชาวบ้าน และประชาชนทั่วไป เนื่องด้วยความศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าหากผู้ใดมาสักการะจะหมดทุกข์โศกทั้งปวง ด้านหลังเป็นจิตรกรรมสีทองบนพื้นสีแดงสวยงามเข้ากันดี ผนังด้านอื่นเป็นจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติพระอุโบสถวัดลอยเคราะห์
ประตูพระอุโบสถลงรักปิดทอง
หมู่พระประธานในอุโบสถ
พระอุโบสถ ด้านข้างพระวิหาร หลายๆ ส่วนของอาคารยังคงใช้ของเดิมจากพระอุโบสถหลังเก่า หน้าบันประดับด้วยลายก้านขดสวยงาม ประตูโบสถ์เป็นลายรดน้ำรูปเทพพนม นาคสะดุ้งที่อยู่ด้านหลังประดับด้วยกระจกสี บันไดทั้งสองข้างไม่เหมือนกัน ข้างซ้ายเป็นมกรคายนาคปากนกแก้วอ้าปาก ส่วนอีกข้างหุบปาก ภายในมีพระปางมารวิชัยเป็นพระประธานพระเจดีย์ของวัด
พระเจดีย์ อยู่ทางทิศเหนือของวัด ศิลปะล้านนา ฐานสี่เหลี่ยม เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวย่อเก็จยกสูง แต่ละด้านมีพระพุทธรูปปางรำพึงประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำ ถัดไปเป็นมาลัยแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 4 ชั้น รับกับองค์เจดีย์ทรงระฆังสีทอง ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 7 ชั้นบรรยากาศภายในวัด
นอกจากนั้นภายในวัดยังเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เพื่อสอนศาสนาพุทธ สอนอักษรล้านนา และดนตรีพื้นเมือง โดยที่นักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเยาวชนวัดลอยเคราะห์จึงเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของคนมีความทุกข์ บางคนยอมเดินทางไกลมาเชียงใหม่เพื่อมาดับทุกข์โดยเฉพาะ เขาเหล่านั้นหวังจะลอยเคราะห์กรรมที่ตนประสบมาให้มันลอยมลายหายไปดั่งชื่อวัด แต่ถึงกระนั้นมันก็เป็นเพียงการบรรเทาความทุกข์ในจิตใจเท่านั้น ที่เหลือมันอยู่ที่การกระทำของตัวเราด้วยว่าจะปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะไปพานพบความทุกข์นั้นอีกเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา