กลุ่มพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ ตอนที่ ๓ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เคยนำเสนอเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์กลางเวียงไปแล้ว ๒ แห่ง คือ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา พิพิธภัณฑ์ทั้ง ๒ แห่งนั้นเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ตามโครงการปรับปรุงพื้นที่ย่านกลางเวียงเชียงใหม่ เขตประวัติศาสตร์ของเมือง ให้กลายเป็นแหล่งการเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวหลักของเชียงใหม่ แต่นอกจากเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ทั้ง ๒ แห่งดังกล่าวแล้ว ยังมี หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์รุ่นพี่ เก๋าที่สุด เพราะทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองมาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าในยุคก่อน ใครมาเชียงใหม่ครั้งแรกก็ต้องมาชมหอศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ เราจะไม่กล่าวถึงก็คงไม่ครบสูตร วันนี้เลดี้ ดาริกาจึงขอพาเพื่อนๆ ไปเยี่ยมหอศิลปวัฒนธรรมกันอีกครั้ง สำหรับเพื่อนๆ ชาวเชียงใหม่ที่รู้จักสถานที่แห่งนี้ดีแล้ว ก็ถือว่ามาย้อนรำลึกความหลัง ส่วนเพื่อนๆ ต่างจังหวัดที่มองหาที่ท่องเที่ยวในเชียงใหม่ ก็ถือโอกาสนี้ไปศึกษาข้อมูลเบื้องต้นพร้อมกันนะคะศิลาจารึกวัดเชียงมั่น (จำลอง)
หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนถนนพระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ ในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ อาคารพิพิธภัณฑ์เคยใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลพายัพ ในยุคที่สยามปกครองด้วยระบบมณฑลเทศาภิบาล หลังจากศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ย้ายออกไปนอกเมือง เทศบาลนครเชียงใหม่ได้เข้าปรับปรุงอาคารและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรมในปัจจุบันนี้ เป็นพื้นที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ เคยเป็นที่ตั้งของเสาอินทขีล หรือเสาหลักเมืองของเชียงใหม่ เรียกบริเวณนี้ว่า สะดือเมือง ก่อนที่พระเจ้าติโลกราชจะย้ายสะดือเมืองไปตั้งไว้ที่วัดเจดีย์หลวง เพียงแค่ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ก็สำคัญมากๆ แล้วใช่ไหมคะเชียงใหม่เปลี่ยนไปเมื่อทางรถไฟมาถึง
วีดีทัศน์แสดงเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของเมืองเชียงใหม่แต่ละยุค
ภายในอาคารแบ่งการจัดแสดงออกเป็นห้องๆ ตามหัวข้อต่างๆ มีเส้นทางบอกให้ผู้มาเยือนเดินอย่างชัดเจน เพื่อที่จะได้ศึกษาเรื่องราวของเมืองเชียงใหม่อย่างครบถ้วน ห้องแรกเป็นการฉายวีดีทัศน์เรื่องราวของเมืองเชียงใหม่ภาพรวมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อปูพื้นความรู้เกี่ยวกับเชียงใหม่แบบกว้างๆ ให้ผู้มาเยือนเสียก่อน ในห้องถัดไปเล่าประวัติของดินแดนตอนเหนือของประเทศตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ การก่อร่างสร้างเมืองของอาณาจักรต่างๆ ของดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำปิง และแม่น้ำกกห้องจำลองเมืิองเชียงใหม่ในอดีต
เมื่อเข้าสู่ห้องจัดแสดงที่ ๓ ก็นำเข้าสู่เรื่องราวกำเนิดเมืองเชียงใหม่ ว่าด้วยตำนานสร้างเมือง ชัยมงคลทั้ง ๗ ประการที่ทำให้พญามังราย และพระสหายตัดสินใจเลือกพื้นที่ราบระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิงสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งต่อมากลายเป็นราชธานีของหัวเมืองทางตอนเหนือทั้งหมด ชัยภูมิของเมืองตามหลักทักษา และศิลาจารึกวัดเชียงมั่นจำลอง ซึ่งบันทึกเรื่องราวของการสร้างเมืองเชียงใหม่ในยุคแรกเริ่มจำลองบ้านและชีวิตของคนเมือง
จำลองตลาดในอดีต
เดินลึกเข้าไปข้างในเป็นห้องจัดแสดงเรื่องราวเมืองเชียงใหม่ยุคใหม่ หลังจากที่มีการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯกับเชียงใหม่ ทำให้วิถีชีวิตและสภาพเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายในพื้นที่ต่างๆ ของเมือง ในห้องจัดแสดงนี้ นอกจากจะมีวีดีทัศน์ให้ชมแล้ว ยังมีแผนที่แสดงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมืองเชียงใหม่ในแต่ละยุคแต่ละสมัยให้เห็นจริงพร้อมๆ กับการเล่าเรื่องผ่านวีดีทัศน์ด้วยจำลองภายในวิหารแบบล้านนา
ชั้นสองของอาคาร ส่วนแรกเป็นห้องจัดแสดงเรื่องราวอดีตกษัตริย์ และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ของราชวงศ์ทิพยจักราธิวงศ์ (พระเจ้าเจ็ดตน) และคุณูปการของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชชายาเปรียบเสมือนสายใยเชื่อมระหว่างหัวเมืองทางตอนเหนือ และสยามประเทศไว้อย่างแนบแน่นในสมัยนั้น นอกจากนี้พระราชายายังทรงทำนุบำรุงศาสนา และศิลปะ พร้อมกับส่งเสริมวิทยาการสมัยใหม่หลายๆ ด้านห้องชาวเขาชนเผ่าต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่
ห้องจัดแสดงวิถีชีวิตของคนเมืองเชียงใหม่ในอดีตหลากหลายเชื้อชาติก็น่าสนใจมาก การจำลองบรรยากาศเมืองในอดีตเอาไว้ทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุก และกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นได้เป็นอย่างดี พ่อค้าผ้าเชื้อสายอินเดีย พ่อค้าชาวจีน ชาวลั้วะ คนเมือง และผู้คนเชื้อสายอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในเมืองเชียงใหม่ รวมไปถึงชาวเขาเผ่าต่างๆ นี้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างเอกลักษณ์ของเชียงใหม่อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ห้องแสดงนิทรรศการหมุนเวียน
นิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับการชมนก
ราคาค่าเข้าชมหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ผู้ใหญ่ชาวไทย ๔๐ บาท ชาวต่างชาติ ๙๐ บาท หรือจะซื้อเป็นแพกเก็จสำหรับพิพิธภัณฑ์กลางเวียงทั้ง ๓ แห่งในราคาพิเศษก็ได้ เนื่องจากหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เปิดบริการมาหลายปีแล้ว สื่อต่างๆ จึงอาจจะดูเก่า และไม่ทันสมัย แต่ยังคงสาระและเนื้อหาไว้อย่างดี หากทางพิพิธภัณฑ์ปรับปรุงให้ดีขึ้น ก็คงจะเป็นหน้าเป็นตาเทียบเท่ากับพิพิธภัณฑ์ใหม่ทั้งสองแห่งได้ หอศิลปวัฒนธรรมเปิดให้ชมทุกวัน ปิดทุกวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ค่ะเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา