ชมพระอุโบสถเงินหลังแรกของโลกที่ วัดศรีสุพรรณย่านถนนวัวลายเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีชื่อเสียงของเมืองเชียงใหม่ นอกจากเป็นที่รู้จักในนามของถนนคนเดินวัวลายทุกๆ วันเสาร์แล้ว ยังเป็นแหล่งศิลปหัตถกรรมเครื่องเงินเครื่องเขินที่สำคัญ เมื่อเราย่างก้าวเข้าสู่ชุมชน ก็มักได้ยินเสียงค้อนกระทบสิ่วดังมาแต่ไกล นี่คือวิถีชีวิตที่ชาวบ้านในย่านนี้ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในชุมชนแห่งนี้มี วัดศรีสุพรรณ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ด้วยเอกลักษณ์ด้านเครื่องเงินนี้เองจึงทำให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างพุทธศาสนา และวิถีชีวิต เกิดสุดยอดงานพุทธศิลป์อันวิจิตร อดใจไม่ได้ที่จะนำเสนอเพื่อนๆ ให้ได้รู้จักกับ Unseen อีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่พระอุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณ เมืองเชียงใหม่
วัดศรีสุพรรณ ตั้งอยู่บนถนนวัวลาย ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ ตามหลักศิลาจารึกหินทรายแดง ระบุเอาไว้ว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2043 ในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย พระองค์ทรงนำพระเจ้าเจ็ดตื้อ หรือพระพุทธปาฏิหาริย์ฯ มาประดิษฐานที่วัด ต่อมาทรงสร้างพระวิหาร พระบรมธาตุเจดีย์ และอุโบสถ ในปี พ.ศ. 2052 ทรงประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ และนำพระเจ้าเจ็ดตื้อมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ ภายหลังได้มีการบูรณะวัด โดยการสร้างพระวิหารขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2403การประดับตกแต่งละเอียดและอ่อนช้อยมาก
ในปี พ.ศ. 2537 พระครูพิทักษ์สุทธิคุณพร้อมด้วยชาวบ้าน ได้ทำการบูรณะวิหารวัดศรีสุพรรณ วาดจิตรกรรมฝาผนัง นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านหัตถกรรมเครื่องเงิน การดุนลายประดับตกแต่งฝาผนังวิหาร นับเป็นจุดเริ่มต้นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยการบูรณาการร่วมกับพระพุทธศาสนาได้อย่างลงตัว ต่อมามีการจัดตั้ง กลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ และปี พ.ศ. 2550 จึงจัดตั้ง ศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณสล่าสิบหมู่ล้านนานวัดศรีสุพรรณ เพื่อสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาของชุมชนให้อยู่สืบไปลวดลายด้านหลังพระอุโบสถ
จุดเด่นของวัดคือพระอุโบสถเงินทรงล้านนาหลังแรกของเมืองไทย ทดแทนหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม สร้างด้วยโลหะเงินและดีบุก โดยฝีมือและภูมิปัญญาของช่างท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงด้านเครื่องเงิน เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา และอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน
ด้านนอกพระอุโบสถประดับตกแต่งด้วยหัตถกรรมเครื่องเงินอย่างวิจิตอลังการ ตั้งแต่หลังคาจนถึงฐาน ด้านหลังเป็นงานดุนลายเล่าเรื่องราวในพุทธประวัติ และความเป็นมาของพระเจ้าเจ็ดตื้อ ด้านในประดิษฐานพระเจ้าเจ็ดตื้อ พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 4 ศอก เนื้อทองสัมฤทธิ์ ฝีมือช่างหลวง องค์สีทองตัด กับสีเงินของพระอุโบสถอย่างสง่างามพระเจ้าเจ็ดตื้อ พระประธานในพระอุโบสถเงิน
นอกจากความงามที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดชมแล้ว ยังมีเรื่องเล่าของรอยกระสุนปืนที่พระบาทซ้ายของพระเจ้าเจ็ดตื้อ ซึ่งเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลก เนื่องจากบริเวณวัดศรีสุพรรณเคยเป็นฐานที่มั่นของกองทัพญี่ปุ่น ใช้หอไตรเป็นหอบัญชาการ ซึ่งในปัจจุบันยังคงความสมบูรณ์ อยู่เคียงข้างพระอุโบสถในทิศตะวันออก เมื่อกองทัพญี่ปุ่นถูกศัตรูบุก กระสุนปืนจึงมาโดนที่พระบาท ปรากฏร่องรอยมาจนถึงปัจจุบันหลักศิลาจารึกประวัติวัดศรีสุพรรณ อยู่ด้านข้างพระวิหารทางทิศตะวันตก จารึกด้วยอักษรฝักขามบนหินทรายแดง เป็นหลักฐานยืนยันว่าวัดศรีสุพรรณสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว เพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชนพระวิหารวัดศรีสุพรรณ รูปแบบล้านนา
พระวิหารทรงล้านนา สร้างขึ้นในสมัยเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2403 ด้านหน้าตั้งแต่ช่อฟ้าจนถึงเสาประดับด้วยลวดลายสีทองสวยงาม เมื่อเข้ามาด้านในพระวิหารจะพบกับพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ ฝาผนังเป็นจิตรกรรมเกี่ยวกับชาดก และพุทธประวัติ มีหัตถกรรมเครื่องเงินการดุนลายประดับตกแต่งที่ฝาผนังอีกด้วยพระประธานภายในพระวิหาร
ภาพจิตรกรรมภายในพระวิหาร
พระเจดีย์ อยู่ด้านหลังพระวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนาน ฐานเป็นสี่เหลี่ยม ตัวองค์เจดีย์เป็นชั้นกลีบบัวคว่ำ-บัวหงาย ซ้อนขึ้นไป 8 ชั้น ต่อด้วยองค์ระฆังคว่ำ และยอดฉัตรเจดีย์ประธานของวัดศรีสุพรรณ
หอไตรเก่าแก่ของวัด
พระพิฆเนศ อยู่บริเวณด้านหน้าหอไตร ขนาดหน้าตักกว้าง 1.25 เมตร สูง 1.50 เมตร ทรงเครื่องศิลปกรรมล้านนา สร้างขึ้นเพื่อเป็นมิ่งขวัญของช่างสิบหมู่พระพิฆเนศ
ศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณสล่าสิบหมู่ล้านนาวัดศรีสุพรรณ และสถานฝึกอบรมศิลปหัตถกรรมเครื่องเงินและเครื่องประดับ อยู่ทางทิศตะวันออกของพระวิหาร เป็นสถานที่ฝึกอบรมภูมิปัญญาด้านเครื่องเงินที่สืบทอดมาเป็นเวลากว่า 200 ปี เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ และฝึกอบรมกับช่างเงินผู้ชำนาญการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าใครพอมีกำลังทรัพย์ก็สามารถบริจาคได้ตามศรัทธานับได้ว่าวัดศรีสุพรรณเป็นอีกวัดหนึ่งที่ผู้มาเยือนเชียงใหม่ต้องแวะมาชมความสวยงามของพระอุโบสถเงินหลังแรกของเมืองไทย และยังได้เรียนรู้ภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องเงินของชาวบ้านอีกด้วยเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา