วัดแม่สาหลวง ชมพระอุโบสถช้างล้อมลายคำ ประณีตศิลป์แห่งล้านนาเอกลักษณ์โดดเด่นของสถาปัตยกรรมในวัดวาอารามภาคเหนือ คือความประณีต และใส่ใจรายละเอียดในการสร้างปูชนียสถาน ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ที่ดึงดูดผู้คนมากมายให้แห่แหนขึ้นมาชมความงามตามแบบฉบับล้านนาแท้ๆ นอกเมืองเชียงใหม่ออกไปไม่ไกลนัก ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในเขตอำเภอแม่ริม เป็นที่ตั้งของวัด แม่สาหลวง วัดในเขตชนบทที่สร้างความประทับใจให้ผู้มาเยือนหลายคนได้อย่างไม่ต้องสงสัย นั่นก็เพราะพระวิหารเก่าแก่ที่ยังคงความประณีตอ่อนช้อย งดงามตามแบบล้านนาไว้ได้อย่างดี วันนี้จะขออนุญาตพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับวัดเล็กๆ แห่งนี้ที่น้อยคนนักจะคิดถึงวัดแม่สาหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านแม่สาหลวง ต. แม่สา อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2374 แต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดดอยน้อย หรือ วัดสมเด็จดอยน้อย ต่อมาย้ายวัดไปอยู่บริเวณสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน มีชื่อใหม่ว่า วัดแม่สาป่าเหมือด หลังจากนั้นจึงย้ายที่ตั้งอีกครั้ง มาอยู่ที่บ้านแม่สาหลวง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดแม่สาหลวง จนถึงปัจจุบันพระอุโบสถช้างล้อมลายคำที่วัดแม่สาหลวง
หน้าบันพระอุโบสถตกปต่งด้วยงานไม้แบบล้านนาประณีตและงดงามมาก
บริเวณกลางลานวัดเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถช้างล้อมลายคำ ศิลปะล้านนาโบราณ ตัวอาคารสร้างด้วยปูน หลังคากระเบื้องดินเผา ที่เหลือใช้ไม้ทั้งหมด ราวบันไดทางขึ้นพระอุโบสถเป็นประติมากรรมพญานาคสีขาว มียักษ์สองตนเฝ้าอยู่บริเวณทางเข้า จุดเด่นของพระอุโบสถหลังนี้ คืองานแกะสลักไม้ในส่วนต่างๆ ของอาคารตั้งแต่ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน เสา ซุ้มประตู-หน้าต่าง ล้วนถูกแกะสลักด้วยฝีมืออันประณีตของช่างในสมัยก่อน โดยรอบพระอุโบสถจะมีประติมากรรมช้างแกะด้วยหินทราย ประดับอยู่โดยรอบ จึงเรียกกันว่า พระอุโบสถช้างล้อมลายแกะสลักไม้บนบานประตูพระอุโบสถ
รูปปั้นช้างล้อมรอบพระอุโบสถ
พระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ นับว่าเป็นสิ่งที่แปลกไม่เหมือนกับการสร้างพระเจดีย์ประธานในวัดแห่งอื่น ที่เจดีย์จะตั้งอยู่หลังพระวิหารหลวงของวัด ลักษณะขององค์เจดีย์คล้ายเจดีย์เหลี่ยมที่เวียงกุมกาม น่าจะได้รับอิทธิพลจากการสร้างเจดีย์ให้สมัยอาณาจักรหริภุญชัย กล่าวคือมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ถึง ๕ ชั้น แต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปในซุ้มด้านละสามซุ้ม ยอดบนสุดประดับด้วยฉัตรสีทองพระอุโบสถเมื่อมองจากด้านหลัง
พระธาตุเจดีย์ ลักษณะคล้ายเจดีย์เหลี่ยม
หอพระไตรปิฎก อยู่ทางทิศใต้ของพระอุโบสถ ลักษณะคล้ายกับหอไตรที่วัดพระสิงห์ในเมืองเชียงใหม่ เป็นอาคารสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ ชั้นล่างเป็นอาคารปูนทาด้วยสีชมพู ส่วนด้านบนเป็นเรือนไม้ ประดับด้วยงานไม้แกะสลัก ลงรักปิดทองสวยงาม หอพระไตรปิฎกมองเห็นอยู่ไกลๆ
พระวิหารทรงไทยประยุกต์ผสมล้านนา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัด เป็นอาคารปูนทั้งหลัง หน้าบัน และเสาประดับด้วยงานกระจกสีสวยงาม ฝาผนังด้านในพระวิหารเขียนภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธประวัติพระวิหารหลวงของวัด
นับได้ว่าพระอุโบสถวัดแม่สาหลวงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และชื่นชมความงามของงานศิลป์ชั้นครูที่หาชมได้ยาก ถึงแม้อาคารสถานต่างๆ ภายในวัดจะถูกละเลยในเรื่องการทำความสะอาดและบำรุงรักษาไปบ้าง นักท่องเที่ยวอาจไม่เจริญตานัก แต่ก็ต้องยอมรับและยกย่องในคุณค่าของงานศิลป์เหล่านี้ หากได้รับการดูแลที่ดีมากขึ้น ฉันเชื่อว่าจะทำให้ผู้มาเยี่ยมชมความงดงามของสถาปัตยกรรมเหล่านี้ไม่น้อยเลยทีเดียวเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา