ย้อนรอยความรุ่งเรืองแห่ง เวียงท่ากาน เมืองโบราณพันปีทุกวันนี้เราพบเห็นร่องรอยความรุ่งเรืองของชุมชนในอดีตได้ทั่วไปในดินแดนล้านนา วัดวาอาราม คุ้มหลวง ข่วงคู ประตูเมือง และกำแพงอิฐเก่าแก่เหล่านี้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาอันยาวนานของชุมชน และวิถีสังคมนั้นๆ ให้พวกเราชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณงามความดีที่บรรพบุรุษสรรสร้างเอาไว้ให้ วันนี้จึงขอพาเพื่อนๆ ออกนอกเมืองเชียงใหม่ไปไกลสักนิด เพื่อย้อนรอยอดีตอันรุ่งเรืองของแผ่นดินล้านนากันที่ โบราณสถานเวียงท่ากานโบราณสถานเวียงท่ากาน บ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
โบราณสถานเวียงท่ากาน ตั้งอยู่บนที่ราบแม่น้ำปิง ในเขตตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ จากการสืบค้นทางโบราณคดี และตำนานต่างๆ สันนิษฐานได้ว่า เวียงท่ากาน อาจมีอายุอานามเก่าแก่กว่าพันปี (พุทธศตวรรษที่ ๑๓) ร่วมสมัยกับอาณาจักรหริภุญชัย (ลำพูน) กลุ่มวัฒนธรรมมอญ-ทวาราวดี ซึ่งเคยยิ่งใหญ่อยู่บนแอ่งที่ราบแห่งนี้มาก่อนล้านนากลุ่มโบราณสถานกลางเวียง (วัดกลางเวียง) เป็นกลุ่มอาคารสถานที่ใหญ่ที่สุดในเขตเวียงท่ากาน
ชื่อ ท่ากาน ปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมือง และเอกสารโบราณหลายฉบับ ตามพงศาวดารโยนกกล่าวไว้ว่า ในสมัยพญามังราย เวียงท่ากาน มีฐานะเป็นเมืองบริวารของเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ เรียกว่า พันนาทะการ เมื่อครั้งที่พญามังรายได้รับต้นโพธิ์จากศรีลังกาจำนวน ๔ ต้น ก็ทรงโปรดให้นำมาปลูกไว้ที่ เวียงพันนาทะการ นี้ด้วย ๑ ต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีความสำคัญไม่น้อยเจดีย์ประธานวัดต้นกอกร้าง นอกเมืองเวียงท่ากานทางทิศตะวันตก
เราเดินทางมายังโบราณสถานเวียงท่ากานด้วยเส้นทางสายเชียงใหม่ ฮอด เลยตัวเมืองสันป่าตองมาเล็กน้อย เลี้ยวซ้ายที่แยกทุ่งเสี้ยว ขับรถไปเรื่อยๆ ปรากฏเจดีย์โบราณ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัดต้นกอก (ร้าง) งดงามเด่นเป็นสง่าอยู่ข้างทาง พระเจดีย์องค์นี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเจดีย์ที่ค้นพบในเขตโบราณสถานเวียงท่ากาน เป็นเจดีย์ทรงระฆังล้านนาตั้งอยู่บนฐานปัทม์ย่อเก็จ ๓ ชั้น บริเวณโดยรอบปรากฏฐานพระวิหาร ตั้งอยู่ด้านหน้าพระเจดีย์ ตามรูปแบบการสร้างวัดอันเป็นเอกลักษณ์ของเผ่าไทแต่เก่าก่อน นอกจากนี้ยังพบฐานอาคารอีกสองแห่ง ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ใด รวมไปถึงบ่อน้ำ และส้วมด้วยฐานอาคารก่ออิฐที่ขุดค้นพบในบริเวณกลุ่มโบราณสถานวัดต้นกอกร้าง
ภายบริเวณกลุ่มโบราณสถานกลางเวียง (วัดกลางเวียง) เป็นที่ตั้งของศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงท่ากาน นักท่องเที่ยวสามารถศึกษาหาความรู้จากนิทรรศการภายในอาคารก่อนออกไปชมสถานที่จริง เพื่อความเข้าใจ และสนุกกับการชมซากปรักหักพังมากขึ้น ภายในอาคารหลังนี้ไม่เพียงแต่มีป้ายสื่อความหมายบอกเล่าประวัติศาสตร์ของที่นี่เท่านั้น แต่ยังจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบที่นี่อีกด้วยศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงท่ากาน
โครงกระดูกมนุษย์เพศหญิง ขุดค้นพบภายในกลุ่มโบราณสถานกลางเวียง
ซากโบราณกลางเวียง เป็นศาสนสถาน (วัดในพระพุทธศาสนา) ๓ แห่ง ตั้งเรียงรายกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยมีกำแพงแก้วกั้นเป็นอาณาบริเวณ ภายในเขตกำแพงแก้ว ปรากฏเจดีย์ที่ยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์หลงเหลืออยู่ ๒ องค์ องค์แรกเป็นเจดีย์ในศิลปะหริภุญชัย ส่วนอีกองค์ที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา นอกจากนี้ยังมีฐานของอาคารอื่นๆ รวมทั้งหมด ๑๘ จุด ซึ่งประกอบด้วย ซุ้มประตูโขง ๒ แห่ง ฐานพระวิหาร และพระอุโบสถ เป็นต้นเจดีย์ศิลปะหริภุญชัย ในเขตโบราณสถานหมายเลข ๑ กลุ่มโบราณสถานกลางเวียง
เจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ในเขตโบราณสถานหมายเลข ๒ กลุ่มโบราณสถานกลางเวียง
พื้นที่โดยรอบกลุ่มโบราณสถานกลางเวียงนี้ นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุมากมาย อาทิ พระพิมพ์ดินเผา คนโทดินเผา พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปหินทราย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีรูปแบบพุทธศิลป์หริภุญชัย โครงกระดูกมนุษย์ และโครงกระดูกม้าอีกด้วย จึงสันนิษฐานได้ว่าเวียงท่ากานอาจก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นชุมชนสำคัญตั้งแต่ครั้งอาณาจักรหริภุญชัยเจริญรุ่งเรืองฐานพระอุโบสถ ในเขตโบราณสถานหมายเลข ๓ กลุ่มโบราณสถานกลางเวียง ปรากฎเสาหินแสดงเขตพัธสีมา
ฐานอาคาร ในเขตโบราณสถานหมายเลข ๓ กลุ่มโบราณสถานกลางเวียง
โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ค้นพบในเขตเวียงท่ากาน คือ โถมีฝาลายคราม ศิลปะจีนสมัยราชวงศ์หยวนตอนปลาย สันนิษฐานว่าในโลกนี้ผลิตขึ้นมาเพียง ๙ ใบเท่านั้น ปัจจุบันโถลายครามใบนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดท่ากาน ใกล้ๆ กับกลุ่มโบราณสถานกลางเวียงนั้นเองโถลายครามมีฝา ศิลปะจีนสมัยราชวงศ์หยวนตอนปลาย (จำลอง)
เมืองเวียงท่ากานโบราณมีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดไม่ใหญ่มากนัก มีคูเมือง และประตูเมืองล้อมรอบ ภายในเขตคูเมืองยังปรากฏโบราณสถานอีกหลายแห่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวัดในพระพุทธศาสนา อาทิ วัดป่าเป้า วัดหนองหล่ม วัดเจ้าก่ำ วัดหัวข่วง วัดอุโบสถ และวัดป่าไผ่ลวก เป็นต้น โบราณสถานแต่ละแห่งอยู่ในพื้นที่สวน แซมด้วยบ้านเรือนของชาวบ้านแถบนี้ คล้ายกับชุมชนเก่าเวียงกุมกามที่อำเภอสารภีกลุ่มโบราณสถานวัดอุโบสถ
เจดีย์ประธานวัดอุโบสถ ทรงปราสาทแบบล้านนา ด้านหน้าปรากฏฐานพระวิหาร
ใครมาเชียงใหม่ก็คงนึกถึง เวียงกุมกาม อันโด่งดัง แต่เมืองเชียงใหม่ยังมีกลุ่มโบราณสถานอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ เวียงท่ากาน ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าพันปี (เก่ากว่าเวียงกุมกามด้วยซ้ำ) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่รักการเรียนรู้ สนใจประวัติศาสตร์ และอยากศึกษาเรื่องราวของชุมชน และวิถีสังคมเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา