นมัสการพระสิงห์หยก วัดอู่ทรายคำฉันเคยบอกกับเพื่อนๆ จากกรุงเทพฯ หลายคนที่มาเที่ยวเชียงใหม่ว่า สำหรับผู้ที่รักงานศิลปะ และวัดวาอารามแบบไทยๆ แล้ว เที่ยวเมืองเชียงใหม่วันเดียวก็ไม่พอ เพราะการเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมอันงดงามวิจิตรที่แทรกตัวอยู่ในเมืองใหญ่นั้น ต้องใช้เวลาละเมียดละไมเป็นพิเศษ จึงจะซึมซับความอ่อนโยนของชิ้นงานต่างๆ ที่ประกอบกันจนเป็นอาคาร ซึ่งสล่า หรือศิลปินพื้นถิ่นในอดีตบรรจงสร้าง และสอดแทรกเรื่องราวเอาไว้ วันนี้ดิฉันยังมีวัดเล็กๆ อีกแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่มานำเสนอวัดอู่ทรายคำ ต.ช้างม่อย อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่
วัดอู่ทรายคำ ตั้งอยู่บนถนนช้างม่อยเก่า ต.ช้างม่อย อ.เมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2384 ในสมัยเจ้าหลวงแผ่นดินเย็น หรือพ่อเจ้าหลวงพุทธวงศ์ (ครองเมืองเชียงใหม่ระหว่าง ปี พ.ศ. 2369 - 2389) โดยอุบาสิกาอุปคำ ซึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงแสน (จังหวัดเชียงราย) อันเนื่องมาจากสงคราม มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตะวันออกของคูเมืองเชียงใหม่ ด้วยศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า จึงร่วมแรงร่วมใจกับชาวบ้านเชียงแสนที่อพยพมาด้วยกัน สร้างวัดอู่ทรายคำขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระวิหารประดิษฐานพระพุทธสิงห์หยกไตรภาคี
ฐานชุกชีภายในพระวิหาร ประดิษฐานพระประธาน และพระพุทธรูปสิงห์หยกสำคัญ
จุดเด่นที่สุดของวัดนี้คือ พระพุทธสิงหิงค์หยกไตรภาคี หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระสิงห์หยก (The Jade Buddha Image) สร้างจากเนื้อหยกธรรมชาติจากพม่า ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นแหล่งหยกชั้นยอดของโลก องค์แรกสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2546 มีขนาด 29 นิ้ว องค์ที่สองและสามสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 มีขนาด 25 นิ้ว และ 20 นิ้วตามลำดับ ทั้งสามองค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ภายใน ต่อมามีการสร้างพระหยกพม่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปางมารวิชัย ศิลปะล้านนาแบบสิงห์หนึ่ง ขนาดหน้าตักกว้าง 29 นิ้ว สูง 41 นิ้ว น้ำหนัก 900 กิโลกรัม ในการนั้นสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชฯ ประธานพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในผอบทองคำไว้ในเศียรพระพุทธรูปอีกด้วยหนึ่งพระพุทธรูปสิงห์หยกสำคัญทั้งสามองค์
พระวิหาร ศิลปะล้านนาผสม เป็นอาคารปูนทั้งหลัง หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นเทพพนม ลายพรรณพฤกษา และลายดอกบัว บนพื้นสีแดง เมื่อเข้ามาด้านในจะพบพระสิงห์หยกทั้งสี่องค์ดั่งที่กล่าวไว้ พระพุทธรูปประธาน ปางมารวิชัย สูง 2.62 เมตร หน้าตักกว้าง 2.22 เมตร ตามตำนานเล่าว่าสร้างตามแบบพระเจ้าเก้าตื้อ พระประธานของวัดสวนดอก ผนังพระวิหารมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องราวพุทธประวัติกู่ธรรมมาสน์ไม้ แกะสลักสวยงาม
พระเจดีย์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2384 ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร มีฐานสามชั้น องค์เจดีย์ทรงระฆังสีทอง ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทองเจ็ดชั้น แต่เดิมคาดว่ามีขนาดเล็ก ต่อมามีการสร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบองค์เดิมเอาไว้พระอุโบสถของวัด
พระอุโบสถ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2427 อยู่ด้านข้างพระวิหาร เป็นศิลปะล้านนาผสม แบบจตุรมุข หน้าบันเป็นลายพญาครุฑ ลายเทพพนม และพรรณพฤกษา จุดเด่นคือบริเวณผนังด้านนอกมีลายปูนปั้นเรื่องสังข์ทอง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของเชียงใหม่หอไตรเรือนไม้ลักษณะสถาปัตยกรรมแตกต่างมีเอกลักษณ์
หอไตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2452 อยู่ทางทิศตะวันออกของวัด เป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ ศิลปะแบบล้านนา ลักษณะการโดดเด่นแตกต่างจากหอไตรของวัดอื่น ฝีมือช่างชั้นครู ชาวเหนือเรียกว่า ประสาทหลังก๋ายพระหยกพม่าองค์ใหญ่ภายในพระวิหาร
แม้ว่าวัดอู่ทรายคำจะเป็นวัดเล็กๆ ตั้งอยู่ในทำเลที่ไม่มีใครสังเกตเห็น แต่ก็เป็นสถานที่รวบรวมงานศิลปกรรมอันมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร นับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่เพื่อนๆ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา