ชมจิตรกรรมฝีมือช่างไทใหญ่ที่ วัดท่าข้าม คุณค่าที่ควรอนุรักษ์ล้านนาคือแผ่นดินแห่งวัดวาอาราม ในเมืองเชียงใหม่ และเมืองใหญ่น้อยในภาคเหนือ ไม่ว่าจะเดินไปมุมไหนก็มีแต่วัด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาอันแน่นแฟ้นของผู้คนที่มีต่อพระพุทธศาสนา วัดชนบทนอกเมืองหลายแห่ง ถึงแม้เป็นวัดเล็กๆ ไม่มีชื่อเสียงมากมายนัก ไม่มีนักท่องเที่ยวหรือผู้คนศรัทธาจำนวนมาก เป็นเพียงวัดของชุมชน แต่บางแห่งอาจซุกซ่อนเรื่องราวน่าสนใจ หรือศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าไว้วิหารล้านนาเก่าแก่วัดท่าข้าม ต.สบเปิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
วันนี้ เลดี้ ดาริกา ขออนุญาตพาเพื่อนๆ ออกไปนอกเมืองเชียงใหม่ไกลสักหน่อย ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ตามเส้นทางเชียงใหม่ ฝาง แล้วแยกไปตามเส้นทางแม่มาลัย ปาย ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร มีแยกเล็กๆ ต้องเป็นคนช่างสังเกตสักหน่อย ในเขตตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง ซึ่งจะพาเราไปยังหมู่บ้านท่าข้าม ที่ตั้งของ วัดท่าข้าม วัดเล็กๆ ที่เราอยากจะนำเสนอในวันนี้ภาพด้านหลังพระวิหาร
วัดท่าข้าม เป็นวัดเก่าแก่ จากประวัติตามสมุดข่อยกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๗ โดยครูบาพรหม สรวิจา เดิมชื่อ วัดสันป่าสักติถัง เพราะตั้งอยู่ในบริเวณที่มีป่าไม้สักมาก มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดสุปัตนาราม แต่เนื่องจากที่ตั้งของวัดเป็นจุดข้ามฝากแม่น้ำแม่ฮาว คนส่วนใหญ่จึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดท่าข้ามจนคุ้นเคยกันมาถึงปัจจุบัน ในอดีตว่ากันว่าพ่อค้าแม่ค้ามักล่องตามแม่น้ำแม่ฮาวสินค้ามาขายในย่านนี้กันอย่างคึกคักใบระกาของหลังคาพระวิหารแกะด้วยไม้ เป็นลายนาคสะดุ้ง
จุดเด่นของวัดแห่งนี้คือพระวิหารทรงล้านนาแท้ หลังคาซ้อนเป็นชั้นลดหลั่นกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของวิหารแบบล้านนา แม้สภาพของพระวิหารปัจจุบันจะชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก แต่ก็ยังคงร่องรอยความสวยงาม และเรียบง่ายในอดีต เหนือบานประตูวิหารประดับด้วยกระจกสีเป็นลวดลายมังกร แม้จะฝุ่นจับ และสีซีดจางลงไปตามกาลเวลา แต่เชื่อได้ว่าในอดีตคงสดใสและงดงามทีเดียว ด้านข้างพระวิหารมีประตูและบันได มีหลังคาแบบล้านนาคลุมไว้ เพื่อเป็นทางสำหรับพระคุณเจ้าใช้เข้าออกพระวิหารเพื่อสอนธรรมได้สะดวกภายในพระวิหาร แม้จะเก่าและขาดการดูแลรักษาที่ดี แต่ก็มีเค้าความงามแบบท้องถิ่นในอดีต
ภายในพระวิหาร ด้านในสุดประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยฝีมือช่างพื้นเมืองบนฐานชุกชีสูง ประดับกระจกสีวิจิตร ด้านหลังองพระประธานเป็นภาพลายพรรณพฤกษาเขียนด้วยสีทองบนพื้นดำ เสาวิหารเขียนลวดลายสีทองบนพื้นแดงสวยงามมากภาพจิตรกรรมฝีมือสล่าชาวไทใหญ่ เน้นการใช้สีแดงและน้ำเงินบนพื้นขาว
ภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ และนิทานชาดกพื้นบ้าน
ส่วนสำคัญที่สุดของพระวิหารหลังนี้คือภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือสล่าหรือช่างชาวไทใหญ่ ความโดดเด่นของภาพเขียน หรือ ฮูปแต้ม ของวิหารหลังนี้ คือการใช้สีน้ำเงิน และสีแดงบนพื้นขาว ภาพแต่ละภาพจะมีกรอบแบ่งไว้ชัดเจน แต่ละกรอบจะเล่าเรื่องราวจบภายในกรอบเดียวไม่ต่อเนื่องกัน เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และนิทานชาดกพื้นถิ่น เช่น เรื่องแสนเมืองหลงถ้ำ เรื่องแม่กาเผือก เป็นต้นขอปิดท้ายด้วยรูปนี้ สียังสด และสมบูรณ์อยู่พอสมควร
พระวิหารหลังนี้ถูกละเลยเรื่องการดูแลรักษา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง ส่วนตัวคิดว่าควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดการดูแล เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่งดงามนี้เอาไว้ให้ลูกหลานได้รักษาเรียนรู้ต่อไปเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา