ยลความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในแผ่นดินล้านนาที่ วัดเจ็ดยอดฉันมาเชียงใหม่ครั้งแรกเมื่อกว่าสิบปีก่อน ตอนนั้นยังเป็นแค่นักศึกษามหาวิทยาลัย ที่อยากลองออกเดินทางกันเองสักครั้ง เชียงใหม่คือเมืองที่ฉันและเพื่อนๆ เลือก และ วัดเจ็ดยอด โบราณสถานเก่าแก่นอกเมืองเชียงใหม่คือสถานที่ที่เราประทับใจเหมือนเจอรักแรก เวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ความทรงจำและความรู้สึกในครั้งนั้นคือภาพจำที่แสนประทับใจภาพเดียวกันที่ฉันมองเห็นในปัจจุบัน และทุกๆ วันพระวิหารวัดเจ็ดยอด ศิลปะชิ้นเอกของช่างล้านนา
บริเวณย่านชุมชนวัดเจ็ดยอด ตำบลช้างเผือก ขอบเมืองเชียงใหม่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นที่ตั้งของวัดชื่อเดียวกัน ที่นี่ไม่ใช่เพียงแค่วัด (ซึ่งมีอยู่มากมายทั่วทุกมุมเมือง) แต่คือโบราณสถานเก่าแก่อายุกว่า ๕๐๐ ปี ไม่ใช่แค่เพียงพระอารามคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ แต่มีความสำคัญระดับประเทศ ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ และการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มาดูกันนะคะว่าวัดนี้มีดีอย่างไร? วัดโพธารามมหาวิหาร พระอารามหลวง ชาวเมืองเชียงใหม่เรียกกันติดปากว่า วัดเจ็ดยอด ตามลักษณะของเจดีย์ทรงวิหาร ซึ่งมียอดพระเจดีย์ประดับบนหลังคาเจ็ดองค์ เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๗ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช แห่งราชวงศ์มังราย ถ้ายังนึกความเก่าแก่ไม่ออกจะลองเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็ราวๆ รัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ย้อนไปราวๆ ๕๖๐ ปีมาแล้วพระวิหารองค์นี้ มีพระพุทธรูปประดิษฐานภายใน เข้าไปกราบนมัสการขอพรได้
แรกเริ่มเดิมทีวัดแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองพระพุทธศาสนาอายุครบ ๒๐๐๐ ปี โดยจำลองโบราณสถานพุทธคยาในอินเดียมาไว้ให้ชาวเชียงใหม่ได้สักการบูชา ในครั้งนั้นพระองค์โปรดให้ข้าราชบริพารไปตัดเอากิ่งต้นโพธิ์จากวัดป่าแดงหลวง ซึ่งเป็นหน่อพระศรีมหาโพธิ์ที่นำมาจากศรีลังกา มาปลูกไว้ด้านหลังพระวิหารแห่งนี้ด้วย ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐ พระอารามแห่งนี้มีบทบาทสำคัญอีกครั้ง เป็นสถานที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลก และเป็นครั้งแรกที่กระทำขึ้นในแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยปัจจุบันด้วยภาพมุมกว้างลายปูนปั้นที่งามที่สุดในแผ่นดินล้านนา
ทราบความเป็นมาและแง่มุมสำคัญของพระอารามหลวงแห่งนี้กันแล้ว ลองมาเดินเที่ยวชมภายในบริเวณวัดกันดูบ้าง พระวิหารเจ็ดยอด คือหัวใจสำคัญของวัด โบราณสถานแห่งนี้คือเจดีย์ทรงวิหาร ไม่ใช่เจดีย์อย่างที่คนไทยคุ้นเคย เพราะด้านหน้าเจาะเป็นประตู สามารถเข้าไปสักการะพระประธานภายในได้ ว่ากันพระพระเจ้าติโลกราชตั้งใจจะจำลองพระวิหารพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากประเทศอินเดีย แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันของนักประวัติศาสตร์ว่า พระองค์ทรงส่งช่างไปลอกแบบมาจากอินเดียจริง หรือได้รับอิทธิพลจากเจดีย์วิหารจากอาณาจักรพุกามซึ่งรุ่งเรืองอยู่ทางทิศตะวันตก ในประเทศพม่าปัจจุบัน ซึ่งเป็นอู่อารยธรรมที่เก่าแก่และมีอิทธิพลต่อศิลปะไทยต่อเนื่องกันมาหลายสมัยเทวดาแบบยืน และแบบนั่ง :)
อย่างไรก็ดี พระวิหารแห่งนี้ถือเป็นพุทธศิลป์ชิ้นเอกของล้านนา และชิ้นหนึ่งของไทย ตัวอาคารก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูน ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นเทวดา ว่ากันว่าเป็นลายปูนปั้นฝีมือช่างล้านนาที่งดงามที่สุด ถือเป็นเพชรน้ำเอกของประติมากรรมล้านนาเลยทีเดียวเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา บรรจุพระอัฐิพระเจ้าติโลกราช
ต้นศรีมหาโพธิ์ด้านหลังพระวิหาร เป็นตัวแทนของต้นศรีมหาโพธิ์จากสถานที่ตรัสรู้ ด้านหลังพระวิหาร และต้นศรีมหาโพธิ์นี้ หลายคนที่ไปกราบไหว้เป็นครั้งแรกอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงมีรูปปั้นงูตั้งเรียงอยู่มากมาย เนื่องจากพระวิหารแห่งนี้เป็นองค์จำลองของพระวิหารพุทธคยา ซึ่งตามความเชื่องของชาวพม่า และชาวล้านนาคือพระธาตุประจำปีมะเส็ง พระวิหารองค์นี้จึงเป็นที่สักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวมะเส็ง ที่ไม่สามารถเดินทางไปนมัสการพระธาตุเจดีย์ที่อินเดียได้นอกจากพระวิหารแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญในพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าอีก ๖ แห่ง ถูกจำลองไว้บริเวณโดยรอบ ตามพระดำริของพระเจ้าติโลกราชที่ปรารถนาจะจำลองสัตตมหาสถาน (สถานที่สำคัญทั้ง ๗ แห่งในพุทธประวัติ ซึ่งพระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขหลังจากตรัสรู้ แห่งละ ๑ สัปดาห์) ได้แก่ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ อนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ อชปาลนิโคธร มุจลินท์ และราชายตนบรรยากาศร่มรื่นในบริเวณวัด
ไม่ไกลจากบริเวณพระวิหารนัก มีเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนาขนาดกลางองค์หนึ่ง มีรูปทรงงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนาแท้ พระเจดีย์องค์นี้คือที่บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าติโลกราช ผู้สร้างคุณูปการนานัปการแด่เมืองเชียงใหม่ ว่ากันว่าพระเจดีย์องค์นี้มีรูปทรงเดียวกับเจดีย์ใหญ่ที่วัดเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ (หากพระเจดีย์ไม่พังลงมาเสียก่อน)บริเวณวัดร่มรื่น และเป็นสัปปายะ การเดินทางมาเยี่ยมชม หรือสักการะพระเจดีย์ก็ไม่ยากเย็นนัก หากเดินทางมาจากนอกเมือง วิ่งตามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ วัดเจ็ดยอดตั้งอยู่ก่อนถึงแยกรินคำประมาณ ๕๐๐ เมตร ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงใหม่ หรือหากมาจากภายในเมือง ขับรถมาตามถนนห้วยแก้ว แยกขวาที่แยกรินคำ ใครมีโอกาสมาเยือนเชียงใหม่ ก็ลองมาเยี่ยมชมวัดนี้กันดูนะคะเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา