วัดป่าเป้า อีกหนึ่งพระอารามไทใหญ่ อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ถนนรอบคูเมืองด้านนอกฝั่งทิศเหนือ เป็นเส้นทางที่ฉันขับผ่านเป็นประจำ ทุกครั้งที่ขับรถผ่านย่านนี้สายตาของฉันมักจะสะดุดกับยอดฉัตรของเจดีย์องค์หนึ่ง ที่ปรากฏให้เห็นโดดเด่นเหนือหลังคาอาคารพาณิชย์และบ้านเรือน ดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว กับภาพยอดฉัตรของเจดีย์มากมากที่กระจายอยู่ทั่วเมืองเชียงใหม่ แต่ลักษณะของยอดฉัตรแบบพม่ามักทำให้ฉันตื่นเต้น และสนใจใคร่รู้เสมอ เพราะมันเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมอื่นที่ผสมผสานกลายเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่อย่างลงตัว เมื่อลองขับรถเข้าไปดู เบื้องหน้าปรากฏเจดีย์สีดำศิลปะแบบพม่า ยอดฉัตรสีทองอร่าม เจดีย์ประธานของวัดป่าเป้าเจดีย์ประธานศิลปะพม่า
วัดป่าเป้า ตั้งอยู่ทิศเหนือ ด้านนอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ ใกล้แจ่งศรีภูมิ ติดกับถนนมณีนพรัตน์ ในอดีตบริเวณวัดนี้เคยเป็นที่ตั้งของหอคำของพระเจ้ากือนา กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย แต่หลังจากพระองค์สวรรคต หอคำแห่งนี้ถูกทิ้งให้รกร้าง และทรุดโทรมลงตามการเวลา ต้นไม้หลายชนิดขึ้นเต็มไปหมด โดยเฉพาะ ไม้ต้นเป้า ยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนมากกว่าต้นไม้ชนิดอื่น ต่อมาชาวเงี้ยว (ไทใหญ่) ได้ขอพระราชทานอนุญาตจากเจ้าผู้ครองนคร เพื่อเข้าไปแพ้วถางป่าไม้เป้าที่หอคำ และสร้างวัดขึ้น ตั้งชื่อวัดตามต้นเป้า ซึ่งมีอยู่มากภายในบริเวณวัดว่า วัดป่าเป้า พระอารามแห่งนี้จึงมีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทใหญ่ ตามเชื้อชาติของผู้สร้างลักษณธอาคารสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ หลังคาเครื่องไม้ แกะสลักอ่อนช้อยมาก
ในสมัยพระเจ้ากาวิละ มีนโยบายทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง จึงได้กวาดต้อนคนจากเมืองต่างๆ มาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ หนึ่งในนั้นมีชาวเงี้ยว (ไต หรือไทใหญ่) เข้ามาอาศัยพึ่งพระบารมีอยู่ด้วย ต่อมาในสมัยพ่อเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ ได้กวาดต้อนผู้คนทางบ้านแม่กะตอนเข้ามาในนครเชียงใหม่อีกระรอก ครั้งนี้มีครอบครัวของแม่เฒ่าต้าว พื้นเพตั้งเดิมเป็นคนเมืองลางเคอ (ชาวเงี้ยว) มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณประตูช้างเผือก มีบุตรธิดาทั้งหมด 6 ในเวลาต่อมาลูกสาวคนหนึ่งของแม่เฒ่า ชื่อแม่นางไหล ได้เป็นสนมของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ มียศเป็น "หม่อมบัวไหล"ต่อมาหม่อมบัวไหลร่วมมือกับชาวไทยใหญ่ที่อพยพมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละ ขออนุญาตพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เพื่อบูรณะซ่อมแซมวัดป่าเป้าครั้งใหญ่ พระองค์ก็ทรงเห็นชอบด้วย และมีการบูรณะขึ้นในปี 2426
พระอุโบสถของวัด มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบพม่า โครงสร้างอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ หลังคาจั่วซ้อนขึ้นไปสามชั้น แต่ละชั้นประดับไม้แกะสลักฝีมือประณีตสวยงาม ชั้นล่างเป็นอาคารปูน กรอบหน้าต่างประดับปูนปั้นรูปซุ้มโค้งศิลปะตะวันตก ลายใบไม้ ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมาก มีต้นไม้ขึ้นรกเรื้อ น่าเสียดาย
ปูนปั้นลายพรรณพฤกษา อิทธิพลแบบตะวันตก ประดับกรอบหน้าต่าง
คันธกุฎี สร้างขึ้นเมื่อปี 2468 อาคารก่ออิฐถือปูนศิลปะพม่าผสมตะวันตก ผนังปูนปั้นมีซุ้มโค้งแบบตะวันตก หลังคาเครื่องไม้ทรงปราสาทหกชั้นศิลปะพม่า ปัจจุบันอาคารหลังนี้เป็นพื้นที่จัดแสดงพระพุทธรูปโบราณ
พระธาตุเจดีย์ศิลปะพม่า เป็นเจดีย์ประธานของวัดป่าเป้า ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ มีเจดีย์และสิงห์ประจำทั้งสี่มุม และซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ ตามรูปแบบศิลปะพม่าที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองเชียงใหม่ เชิงบันไดประดับปูนปั้นมกร องค์เจดีย์ประดับด้วยกระจกสี มีปูนปั้นรูปยักษ์อยู่โดยรอบ ยอดฉัตรสีทอง ตามแบบพม่า-ไทใหญ่นอกจากวัดนี้จะเป็นพระอารามเก่าแก่แล้ว ยังเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวไทใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละ เรื่อยมาจนถึงสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เอกลักษณ์แบบพม่าโดดเด่น สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของชาวไทใหญ่ที่เคยรุ่งเรื่องในยุคหนึ่ง ประเพณีปอยส่างลอง หรือการบวชลูกแก้วของชาวไทใหญ่เป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของวัด จะจัดขึ้นเป็นประจำในเดือนเมษายนของทุกปีเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา