วัดพระธาตุสุนันทา นมัสการเกศาธาตุท่ามกลางบรรยากาศชนบทเมืองเหนือ ทริปสั้นๆ ไปเช้าเย็นกลับรับลมหนาวมุ่งสู่เขตอำเภอแม่แตงของเรา ทำให้เรามีโอกาสทำความรู้จักกับวัดเล็กๆ ริมเส้นทางจากเมืองเชียงใหม่ สู่อำเภอพร้าว ท่ามกลางบรรยากาศชนบทที่เงียบสงบ อากาศเย็นสบายๆ และสายฝนโปรดปรายเล็กน้อย พระอารามบนเนินเขาเล็กๆ แห่งนี้มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ ผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นอย่างแยกไม่ออก เรากำลังกล่าวถึง วัดพระธาตุสุนันทา พระอารามในชนบทที่ตั้งอยู่บนดอยแม่หอพระ เขตตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่วิหารหลวงทรงล้านนาประยุกต์ บริเวณลานวัด
คนเฒ่าคนแก่ในท้องถิ่น เล่าความเป็นมาของพระอาราม และพระธาตุแห่งนี้สืบกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นตำนาน ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จมายังบริเวณดอยแม่หอพระแห่งนี้ เมื่อชาวบ้านทราบข่าวการเสด็จมาของพระองค์ จึงช่วยกันสร้างที่ประทับ และถวายภัตตาหาร พระองค์จึงทรงปลงเกศาหนึ่งเส้น มอบให้กับขุนอ้ายบ่อทอง ขุนอาจแก้ ขุนจอมใจเด็ดเป็นการตอบแทน ขุนทั้งสามจึงขุดอุโมงค์กว้างห้าวาลึกเจ็ดวา แล้วฝังพระเกศาธาตุไว้ พร้อมทั้งกล่าวขออนุญาตต่อพระพุทธเจ้า เพื่อสร้างเป็นพระเจดีย์ครอบไว้ พระองค์ตรัสปฏิเสธ มีถ้อยความว่า ดูก่อนท่านทั้งหลายที่มาร่วมกันในคราวนี้ ภายหน้าหลังกูตถาคตเข้าสู่นิพพานแล้วสองพันปลาย จะได้สร้างพระเจดีย์ที่แห่งนี้ สถานที่แห่งนี้ก็จะเจริญรุ่งเรืองสืบไปพระธาตุสุนันทา เชื่อกันว่าบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า
หลังจากพระเจ้ากรุงอังวะยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ชาวบ้านรู้ข่าวจึงพากันหนีออกนอกเมือง สตรีคนหนึ่งชื่อว่า สุนันทา มีสามีเป็นทหารรักษาการเมืองหน้าด่าน นำแก้วแหวนเงินทองมาฝังไว้ใกล้กับอุโมงค์ที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้าบนดอยแห่งนี้ แล้วจึงใช้ก้อนหินก่อขึ้นเป็นทรงเจดีย์เหนือหลุมทั้งสอง ชาวบ้านย่านนี้เห็นว่านางไม่มีสามี จึงเข้าใจผิดว่านางเป็นหม้าย เจดีย์องค์นั้นจึงถูกเรียกขายว่า พระธาตุแม่หม้าย ตามความเข้าใจของชาวบ้านสืบมาชั่วระยะหนึ่งพระธาตุแห่งนี้ได้รับการบูรณะต่อเนื่องกันมาทุกยุคสมัย มีการบรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ และแก้ว แหวน เงิน ทอง ของมีค่าลงไปเพิ่มเติม จนกระทั่งในปี 2536 เมื่อมีการศึกษาประวัติการสร้างพระเจดีย์อย่างละเอียด จึงพบว่าพระธาตุแห่งนี้แท้ที่จริงแล้วไม่ได้สร้างโดยแม่หม้าย จึงเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่ เป็น พระธาตุสุนันทา มาจนถึงปัจจุบันจากองค์พระธาตุ มองเห็นทิวทัศน์ชนบท สงบ สวยงามมาก
พระวิหารหลวงนันทเจติยาภิบาล (โต) ตั้งตระหง่านอยู่บนลานวัด เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ หน้าบันมีประติมากรรมพระยืนปางอุ้มบาตร มีพระอัครสาวกขนาบอยู่ทั้งสองด้าน ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นพรรณพฤกษา บริเวณผนังด้านหน้าประดับด้วยกระจกแวววับสวยงาม ด้านในประดิษฐานนพระพุทธรูปพระเจ้าตนหลวง (หลวงพ่อโต) เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในละแวกนี้พระธาตุสุนันทา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระวิหาร เป็นเจดีย์สีทองขนาดเล็ก ศิลปะแบบพม่า มีฉัตรอยู่ทั้งสี่มุม ฐานสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์มีลวดลายดอกไม้ประดับอยู่ จากบริเวณพระธาตุนี้ สามารถมองเห็นทิวทัศน์หมู่บ้านชนบท ทุ่งนา และภูเขาของบริเวณตำบลแม่หอพระได้ด้วยศาลาแม่นางสุนันทา เป็นอาคารปูนอยู่ใกล้กับพระวิหาร ประดิษฐานรูปปั้นพระนางจามเทวี พระนางสุนันทา และพระนางสามผิว
พระอุโบสถหลวงพ่อทันใจ อยู่บริเวณลานกว้างทางตะวันออกของวัด เป็นอาคารปูนศิลปะล้านนาประยุกต์ ด้านในประดิษฐานพระพุทธนันทศากยมุนีศรีอริยเมตตรัย หรือพระเจ้าทันใจทรงเครื่องแบบล้านนา
ศาลเจ้าแม่สุนันทา
หากใครมีโอกาสผ่านไปมาบนเส้นทางเชียงใหม่-พร้าว เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทาง จะแวะพักระหว่างทางก่อน บรรยากาศสบายๆ แบบชนบทเมืองเหนือที่นี่สามารถช่วยผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยของคุณอย่างไม่ต้องสงสัย หรือใครจะเจาะจงมากราบนมัสการพระเกศาธาตุท่ามกลางบรรยากาศแบบธรรมชาติสุดๆ นอกจากจะอิ่มบุญกันแล้ว ก็คงจะอิ่มเอมกับอากาศบริสุทธิ์สดชื่นแบบที่หาไม่ได้แล้วในเมืองใหญ่เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา