วัดมหาวัน และวัดเชตวัน เยียมเยือนพระอารามแฝด ชมความงามสถาปัตยกรรมแบบพม่าก่อนที่พระเจ้ากาวิละจะประกาศเอกราชให้แก่เมืองเชียงใหม่ เมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนาแห่งนี้อยู่ภายใต้การปกครองของพม่าต่อเนื่องมากว่า ๒๐๐ ปี จึงไม่น่าแปลกใจหากปรากฏอิทธิพลของศิลปะพม่าอยู่ทั่วไปในแว่นแคว้นล้านนา ในแง่หนึ่งอาจดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ช่วงเวลานั้นสร้างความเจ็บปวด และบาดแผลให้ผู้คน แต่ประวัติศาสตร์ก็เป็นเพียงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านไปแล้ว ศึกษาเรียนรู้ แต่ไม่ควรยึดโยงไว้ให้เจ็บปวดใจจนก้าวต่อไปข้างหน้าไม่ได้ หากมองอีกมุมหนึ่ง อิทธิพลของศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบพม่าที่หลงเหลือเป็นมรดกจากอดีตเหล่านี้ ทำให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางของงานศิลป์หลากหลายรูปแบบ จากหลายสำนัก ผสมกลมกลื่น เสริมสรรค์ปั้นแต่ง เป็นส่วนช่วยสร้างรูปแบบเฉพาะให้กับศิลปะล้านนาอีกทางหนึ่งทางเข้าวัดมหาวัน บนถนนท่าแพ
สถานที่หลายแห่ง โดยเฉพาะวัดวาอารามต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ ยังหลงเหลืองานศิลป์แบบพม่าให้ผู้สนได้เยี่ยมชม อาทิเช่น วัดแสนฝาง วัดป่าเป้า วัดบุพพาราม เป็นต้น ครั้งนี้จึงขอนำเสนอพระอารามอีกสองแห่งที่ปรากฏอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบพม่า-ไทใหญ่เข้มข้น สวยงาม ควรค่าไปเยี่ยมชม วัดเชตวัน บนถนนท่าแพ
เป็นที่น่าสังเกตว่าพระอารามที่ก่อสร้างด้วยศิลปะแบบพม่าส่วนใหญ่ล้วนตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ ย่านถนนท่าแพ เนื่องจากในอดีตบริเวณนี้เป็นถิ่นฐานของชาวพม่า และชาวไทใหญ่ที่อพยพเข้ามาทำอาชีพสัมปทานป่าไม้ วัดมหาวัน และ วัดเชตวัน เป็นพระอารามที่มีสถาปัตยกรรมแบบพม่าอันเป็นเอกลักษณ์อีกสองแห่งที่ตั้งอยู่บนถนนสายเศรษฐกิจสำคัญของเมืองเชียงใหม่สายนี้กำแพงสีขาวปลอด มีซุ้มประตูโขงเอกลักษณ์ของล้านนา บอกขอบเขตของวัดมหาวัน ตั้งอยู่ริมถนนท่าแพ นักท่องเที่ยวสังเกตเห็นได้ง่ายจากยอดเจดีย์สีขาวรูปทรงแบบพม่าวิหารหลวง วัดมหาวัน
พระอารามแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด แต่ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ หลังจากที่พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชให้แก่เมืองเชียงใหม่ ด้วยแรงศรัทธาของชาวพม่า และไทใหญ่ในย่านนี้ ทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ภายในวัดนั้นมีกลิ่นอายของพม่า และล้านนาผสมผสานกันอย่างลงตัวบานประตู และผนังด้านนอกพระวิหารตกแต่งอย่างประณีต ละเอียดอ่อน
พระวิหารหลวงของวัดงดงามวิจิตรเป็นพิเศษ การตกแต่งตัวอาคารละเอียดอ่อน และประณีต หน้าบันแบบดั้งเดิมเผยให้เห็นโครงสร้างหลังคาแบบม้าต่างไหม สัณฐานอาคารอ่อนช้อย ซ้อนลดหลั่นกันสองชั้นตามแบบศิลปะล้านนา กรอบบานประตูเป็นไม้แกะสลักปิดทอง เล่าเรื่องราวพระพุทธประวัติ ด้านในประดิษฐาน พระเจ้าโต พระพุทธรูปแบบพม่า สร้างขึ้นพร้อมๆ กับวิหารพระอุโบสถ วัดมหาวัน
ถัดจากพระวิหารเล็กน้อยเป็นพระอุโบสถสีขาวสร้างใหม่ ศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ มีเสมาหินปักอยู่โดยรอบ ด้านหลังพระวิหาร และพระอุโบสถคือพระเจดีย์สีขาว รูปทรงพม่า-ไทใหญ่ ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมซ้อนกันสามชั้น ที่มุมของฐานชั้นแรก และชั้นที่สามประดับด้วยเจดีย์ขนาดเล็ก ส่วนชั้นที่สองนั้นเป็นรูปปั้นสิงห์แบบพม่า จากองค์ระฆังถึงปล้องไฉนมีลวดลายนูนต่ำสวยงาม ด้านบนสุดประดับยอดฉัตรสีทองแบบพม่า ที่ฐานล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วมีซุ้มพระประดิษฐานอยู่ พร้อมกับสิงห์เฝ้าเจดีย์ทั้งสี่มุมพระเจดีย์ศิลปะพม่า วัดมหาวัน
หลายคนเดินเล่นบนถนนท่าแพ ชมวัดมหาวันกันจนเพลิดเพลินแล้ว อย่าลืมเดินไปฝั่งตรงข้าม แวะเวียนเยียมชม วัดเชตวัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นพระอารามแฝดกับวัดมหาวันแห่งนี้ แต่หลายๆ คนมักเลยผ่านไป เพราะที่ตั้งของวัดถูกบดบังด้วยอาคารพาณิชย์ เดินข้ามถนนจากฝั่งวัดมหาวันมายังฝังตรงข้าม เดินเข้าไปในซอยเพียงเล็กน้อยก็ถึงแล้วบรรยากาศภายในวัดเชตวัน
หมู่พระประธานภายในวิหาร
วัดเชตวันตั้งชื่อตามพระอารามเชตวัน ในอินเดียเมื่อครั้งพุทธกาล ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ยาวนานที่สุด แต่ชื่อ เชตวัน ในที่นี้หมายถึงพระอารามที่ตั้งอยู่ในป่าเล็ก ตรงข้ามกับ มหาวัน วัดฝาแฝดที่มีความหมายถึงพระอารามในป่าใหญ่ ตามตำนานเล่าว่าพระอารามสองแห่งนี้สร้างขึ้นพร้อมกัน โดยวัดมหาวันผู้เป็นพี่สร้าง และวัดเชตวันผู้เป็นน้องสร้างพระวิหาร วัดเชตวัน
ภาพจิตรกรรมด้านในพระวิหาร
พระวิหารของวัดเป็นพระวิหารศิลปะล้านนาประยุกต์ หลังใหญ่ ผนังวิหารด้านนอกและด้านในเขียนภาพพุทธประวัติ พระประธานเป็นแบบพม่า แต่ไฮไลท์ของวัดนี้คือพระเจดีย์ศิลปะแบบพม่า เรียงรายกัน ๓ องค์ ด้านข้างวิหารทางทิศตะวันตก เจดีย์ประธานองค์กลางสูงกว่าอีกสององค์เล็กน้อย ด้านหน้ามีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป เจดีย์ทั้งสามองค์ องค์ระฆังถึงยอดเจดีย์ประดับด้วยกระจกสี ลวดลายสวย เหมือนกันเจดีย์ทั้งสามองค์พระเจดีย์ศิลปะทั้งสามองค์ ด้านข้างพระวิหาร
เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากการบันทึกคำบอกเล่าของใครต่อใคร บ้างเรียนรู้จากการฟังคำบอกเล่าแบบปากต่อปาก จนกลายเป็นตำนาน ในเมืองเชียงใหม่ เรามีทางเลือกในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และวิถีของคนเมืองมากกว่านั้น เพราะเมืองแห่งนี้ยังมีสถาปัตยกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของเมืองได้ดียิ่ง เพราะนี่คือวัตถุพยานที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้คนผ่านวันเวลามานานนับร้อยๆ ปีเรื่องและภาพดดย เลดี้ ดาริกา ![901](https://www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/Smileys/default/901.gif)