ศาลเจ้าปุงเถ่ากง สถาปัตยกรรมจีนริมแม่น้ำปิง ศาลเจ้าแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ช่วงเวลาสิบวันจากนี้ หลายๆ คนคงงดเว้นเนื้อสัตว์ และหันมารับประทานอาหารที่เน้นปรุงจากผัก และแป้งกันมากขึ้น ว่ากันว่าเพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ งดเว้นการเบียดเบียนชีวิตสัตว์แม้จะเป็นเพียงเวลาสั้นๆ ก็ยังดี แม้ว่าประเพณีถือศีลกินเจนี้จะมีต้นกำนิดมาจากพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมาในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนจากรุ่นสู่รุ่น แต่ในปัจจุบันก็ได้รับความนิยมแพร่หลาย ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา หรือความเชื่อ ที่เกริ่นมาเสียยาวนั้น เพียงเพื่อจะบอกว่าบทความนี้เลดี้ ดาริกาขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเล็กๆ ในเมืองเชียงใหม่ แต่น่าสนใจ และช่างเข้ากับบรรยากาศช่วงเทศกาลถือศีลกินเจเป็นอย่างยิ่งแทนบูชาเทพเจ้าของจีนภายในอาคารศาลเจ้า
ใครมีโอกาสผ่านไปมาแถวตลาดต้นลำไย ถนนเลียบแม่น้ำปิง คงจะสะดุดตากับสถาปัตยกรรมแบบจีนสีสันฉูดฉาด ที่นั่นคือ ศาลเจ้าปุงเถ่ากง เป็นสัญลักษณ์สำคัญของชุมชนชาวจีนในเมืองเชียงใหม่ กล่าวได้ว่าเป็นศาลเจ้าตามความเชื่อแบบจีนแห่งแรกของเมือง สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๑๒๙ ปีก่อนผนังภายในอาคารที่ประดับด้วยประติมากรรมนูนสูงรูปเสือ
ผนังภายในอาคารที่ประดับด้วยประติมากรรมนูนสูงรูปมังกร
แม้เชียงใหม่จะเป็นเมืองในเขตภูเขา ห่างไกลจากชายฝั่งทะเลหลายร้อยกิโลเมตร แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์มีกลุ่มชาวจีนอพยพขึ้นมาตั้งถิ่นฐาน และประกอบอาชีพค้าขายเป็นจำนวนมาก จึงปรากฏชุมชนชาวจีนหลายแห่งในเมืองเชียงใหม่ เช่น บริเวณรอบๆ วัดช่างฆ้อง ย่านวัดเกตุการาม และย่านกาดหลวง ชุมชนชาวจีนบริเวณริมแม่น้ำปิงเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เนื่องจากในอดีตการค้าขายส่วนหนึ่งต้องพึ่งการขนส่งทางน้ำเป็นสำคัญในอดีตศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ติดริมน้ำปิง บริเวณดังกล่าวในอดีตเคยเป็นวัดมาก่อน ชื่อว่าวัดเณรจิ๋ว วัดนี้มีเจดีย์บรรจุพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้าเอาไว้ และกลายเป็นวัดร้างในเวลาต่อมา แต่เดิมศาลเจ้าแห่งนี้เป็นเพียงอาคารไม้ชั้นเดียวขนาดเล็ก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพบเลข ๒๔๑๖ สลักไว้บนไม้คานรับน้ำหนักหลังคา ตอนรื้อถอนเพื่อบูรณะ ต่อมาเมื่อมีถนนตัดผ่าน มีการสร้างอาคารบดบังทัศนียภาพของศาลเจ้า อาคารศาลเจ้ารูปแบบปัจจุบันบูรณะ และต่อเติมใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ เพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ ๖ รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมๆ กับการเฉลิมฉลองเมืองเชียงใหม่อายุครบ ๗๐๐ ปีมองจากซุ้มประตูทางเข้าอาคารศาลเจ้า
คานก็มีภาพวาดลวดลายสวยงาม
ภายในอาคารประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น และจิตรกรรมแบบจีน เมื่อเดินเข้าไปจะสังเกตเห็นแท่นเทพเจ้าต่างๆ ตั้งอยู่ติดผนังด้านใน กรอบแกะสลักไม้ลวดลายแบบจีนสีทองอร่ามอ่อนช้อยมาก ต้นเสาเป็นปูนปั้นมังกรพันรอบประดับด้วยกระเบื้องสีสันต่างๆ ทุกต้น ผนังด้านซ้าย และขวามือเป็นประติมากรรมนูนสูงลวดลายมังกรด้านหนึ่ง และเสือด้านหนึ่ง เป็นสัตว์มงคลตามความเชื่อแบบจีน ติดกับผนังนั้นเป็นบ่อน้ำขนาดย่อมเป็นมงคล กรอบบานประตูเขียนรูปทวารบาลแบบจีน แม้กระทั่งคานก็ยังเขียนลวดลายประดับสวยงามมากการตกแต่งภายในอาคารศาลเจ้า เป็นศิลปะแบบจีนโบราณสวยงามมาก
บริเวณศาลเจ้าถูกแบ่งเป็นสองส่วนด้วยถนนเล็กๆ เรียกว่าถนนไปรษณีย์เชื่อมต่อกับตลาดต้นลำไย ฝั่งตรงข้ามกับตัวอาคารศาลเจ้าเดินไปเพียงไม่กี่เก้าเป็นลานขนาดย่อม ซึ่งเกิดจากการรื้อถอนตึกแถวที่เกิดบดบังศาลเจ้าออก เพื่อเพิ่มความสง่างาม และให้มองเห็นแม่น้ำปิงด้านหน้า บริเวณลานนี้ตกแต่งด้วยประติมากรรม และสถาปัตยกรรมแบบจีนที่สวยงามเช่นกันเริ่มจากทางเข้าบริเวณถนนเลียบแม่น้ำปิง มีซุ้มประตูขนาดใหญ่สถาปัตยกรรมแบบจีน เสาประดับด้วยประติมากรรมลวดลายมังกร เขียนชื่อศาลเจ้าทั้งอักษรไทย และจีน มีรูปสิงห์แกะสลักหินเหยีบลูกแก้วสองตัว ถัดเข้ามาภายในลานจะมีกำแพงหินแกรนิตสีดำสลักเรื่องราวการบูรณะและประวัติของศาลเจ้าเป็นภาษาไทย อังกฤษ และจีน ใกล้ๆ กันมีซุ้มบูชา และเสามังกร ฝั่งตรงข้ามเป็นกำแพงประดับประติมากรรมนูนสูงรูปเทพเจ้าทั้งแปด (โป๊ยเซียน) ตามความเชื่อของจีนบริเวณลานด้านหน้าศาลเจ้า
ผ่านไปๆ มาๆ บนถนนเส้นนี้หลายครั้ง แต่หลายคนอาจจะไม่เคยได้ลงไปเดินชมใกล้ๆ เพราะมองว่าไกลตัว และดูไม่ต่างจากศาลเจ้าที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองไทย แต่หากได้ลองเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของศาลเจ้าปุงเถ่ากงแห่งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการอพยพมาตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในแผ่นดินล้านนา พร้อมๆ กับซึมซับบรรยากาศ ชื่นชมศิลปะแบบจีนอันอ่อนช้อยด้วยแล้ว เชื่อว่าสถานที่แห่งนี้คืออีกแหล่งท่องๆ เที่ยวเล็กๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้ที่อื่นๆ ในเมืองเชียงใหม่ ในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ หรือตรุษจีน ที่นี่คงจะคึกคักไม่น้อย นอกจากจะได้ไหว้ขอพรเทพเจ้าแล้ว ยังได้เห็นวิถีของชาวไทยเชื้อสายจีนอีกด้วยเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา