วัดช่างฆ้อง ชมหอไตรเก่าแก่ศิลปะจีน ละเลียดโมงยามอันสงบงามกลางใจเมืองย่านดาวน์ทาวน์เป็นหนึ่งในจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ เพราะเป็นแหล่งรวมที่พักหลากหลายสไตล์ ตั้งแต่โรงแรมหรูไปจนถึงเกสเฮ้าส์ราคาประหยัด ไนท์บาซ่า ตลาดกลางคืนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศ แหล่งช็อปปิ้งของที่ระลึกและสินค้านานาชนิด เมืองเชียงใหม่ย่านนี้จึงค่อนข้างพลุกพล่าน ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายนั้นเป็นที่ตั้งของ วัดช่างฆ้อง ที่ดูเพียงผิวเผินอาจไม่โดดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ วัดในเมืองเชียงใหม่ แต่ภายในบริเวณวัดกลับมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจซ่อนอยู่ ใครที่หลงเสน่ห์สถาปัตยกรรมเก่าๆ ควรหาโอกาสไปเยี่ยมสักครั้งหอไตรศิลปะจีนวัดช่างฆ้อง ไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดชม
วัดช่างฆ้อง ตั้งอยู่ริมถนนกำแพงดิน ต.ช้างคลาน ด้านหลังโรงแรมเมอริเดียน หน้าวัดมีกำแพงดินโบราณเป็นแนวยาว พระอารามแห่งนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ ครั้งหนึ่งพระองค์ยกทัพไปตีพุกาม ได้ช่างผู้ชำนาญศิลปะแขนงต่างๆ ประมาณ 500 ครัวกลับมายังเมืองเชียงใหม่ อาทิเช่น ช่างฆ้อง ช่างเครื่อง ช่างเงิน ช่างทอง ช่างเหล็ก พระองค์โปรดฯ ให้ช่างฆ้องไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เชียงแสนเรื่อยมา จนกระทั่งอาณาจักรล้านนาถูกพม่ารุกราน และตกอยู่ใต้การปกครองของพม่ากว่า ๒๐๐ ปี เมื่อคราวพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่พระองค์แรกแห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) กู้เมืองเชียงใหม่คืน พระองค์ยกทัพไปเชียงแสนเพื่อขับไล่พม่า และอพยพชาวเชียงแสนมายังเมืองเชียงใหม่ พวกช่างฆ้องจึงได้ตั้งรกรากอยู่ทางตะวันออกของกำแพงเมือง สร้างวัดขึ้นบนพื้นที่วัดศรีโพธิ์ฆะ หรือวัดศรีพูนโต ซึ่งเคยเป็นวัดเก่ามาก่อน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน และตั้งชื่อใหม่ตามอาชีพของพวกตนว่า วัดช่างฆ้อง ในช่วงที่เมืองเชียงใหม่ปกครองโดยเจ้าผู้ครองนคร มีกลุ่มชาวจีนเดินทางมาตั้งรกรากในเมืองเชียงใหม่และประกอบอาชีพค้าขายมากขึ้น กลุ่มชาวจีนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้วางรากฐานด้านการค้าให้กับเมืองเชียงใหม่ และยังมีส่วนร่วมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บริจาคทรัพย์ และสร้างศาสนสถานการตกแต่งขอไตรอ่อนช้อย และสวยงามมาก
ภาพจิตรกรรมตกแต่งผนังหอไตร
บริเวณโดยรอบวัดช่างฆ้อง ปรากฏการชุมชนชาวจีนบริเวณทางด้านทิศใต้ของวัด กลุ่มคนจีนเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนวัดช่างฆ้อง พวกเขาอุปถัมภ์วัดในด้านต่างๆ เสมอมา สิ่งที่โดดเด่น และเป็นเครื่องยืนยันบทบาทของชาวจีนที่มีต่อชุมชนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี คือ หอไตร ศิลปะจีนภายในบริเวณวัด สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้นสถาปัตยกรรมแบบจีน มุงด้วยกระเบื้องดินขอแบบพื้นเมือง ประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้น ประดับกระจก ไม้แกะสลักฉลุลายศิลปะล้านนาผสมพม่า มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง บริเวณระเบียงชั้นสองของอาคาร เล่าเรื่องราวของปัญญาสชาดก ตอนเจ้าสุวัตรกับบางบัวคำ มีเอกลักษณ์โดดเด่น และงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมประยุกต์ในสมัยนั้นพระอุโบสถเก่าของวัด ปัจจุบันอยู่ในเขตโรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง
เวลาผ่านไปชุมชนรอบๆ วัดขยายตัวจนรุกล้ำบริเวณวัด ทำให้พื้นที่ส่วนพระอุโบสถถูกตัดขาดออกจากวัด ปัจจุบันพระอุโบสถอยู่ความดูแลของโรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง พระอุโบสถตั้งอยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นไทรใหญ่ เรียบง่าย และสวยงาม หน้าบรรณเป็นไม้แกะสลักประดับกระจก ตัวอาคารประดับปูนปั้นลายพรรณพฤกษา บันไดทางขึ้นขนาบข้างด้วยพญานาค ส่วนหางเลื้อยขึ้นไปเป็นซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถพระวิหารของวัด ศิลปะล้านนาประยุกต์
พระประธานภายในวิหาร
พระวิหารของวัดสถาปัตยกรรมพื้นเมืองประยุกต์ หน้าบันประดับลายปูนปั้น มีช้างสามเศียรอยู่ตรงกลาง ภายในวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นบ้านเขียนเรื่องพระเจ้าสิบชาติ (ทศชาติชาดก) หลังพระวิหารมีเจดีย์ ฐานล่างเป็นฐานเขียงเรียบ ถัดขึ้นไปเป็นฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม องค์ระฆังกลมศิลปะล้านนา มีสิงห์ปูนปั้นแบบพม่าอยู่ที่มุมทั้งสี่ด้าน และมีพระพุทธรูปนับร้อยวางเรียงรายรอบพระเจดีย์พระเจดีย์ด้านหลังพระวิหาร
วัดช่างฆ้องเป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ที่สร้างขึ้นจากศรัทธาของประชาชน ตั้งอยู่นอกเขตเมืองเก่า ถึงแม้ปัจจุบันจะถูกล้อมรอบด้วยชุมชน และย่างการค้าที่คึกคักมีนักท่องเที่ยวผ่านไปมาจำนวนมาก แต่ภายในวัดยังคงรักษาความเงียบสงบไว้ได้ดีเยี่ยม เหมาะกับการพักผ่อน เยี่ยมชมความงดงามของหอไตร และสถาปัตยกรรมอื่นๆ ก็น่าจะเพลินดีไม่น้อยเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา