วัดหมื่นสาร เยี่ยมชมหอศิลป์เครื่องเงิน สักการะครูบา เรียนรู้ความเป็นมาสมัยสงครามโลกทุกเย็นวันเสาร์ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่างมุ่งหน้าสู่ถนนคนเดินวัวลาย แหล่งจับจ่ายสินค้าหัตถกรรมนานาชนิด หาซื้อสินค้าที่ระลึก หรือหาของกินอร่อยๆ ตามแบบฉบับชาวเหนือ บางคนอาจจะสุดตากับรูปปั้นวัว บริเวณสามแยกกลางถนนวัวลาย เจ้าวัวตัวนี้เองที่จะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับวัดน่าเที่ยวอีกแห่งหนึ่งในย่านนี้ วัดหมื่นสารวัดหมื่นสาร ตั้งอยู่บนถนนวัวลาย ต.หายยา ไม่ทราบประวัติความเป็นมาแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีตำนานพื้นบ้านมากมายกล่าวถึงวัดแห่งนี้ ตามตำนานพระศิลา เขียนขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช เล่าว่าหลังจากที่พระองค์ทรงถวายพระศิลาเจ้าแด่พระมหาญาณะโพธิ ณ วัดป่าแดง ต่อมา หมื่นหนังสือวิมลกิตติสิงหละราชมนตรี ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งสังฆการี (เจ้าพนักงานเกี่ยวกับสงฆ์ในงานหลวง พระราชพิธี รับรองราชทูต และแปลพระราชสาส์น) ได้สร้างพระวิหารในวัดหมื่นสาร และอาราธนาพระศิลาเจ้าจากวัดป่าแดงมาประดิษฐานเอาไว้ภายในพระวิหารหลังนั้นพงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2065 พระเจ้าอาทิตยวงศ์ ส่งราชทูตมาสืบสัมพันธไมตรีกับพระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย พระเมืองแก้วทรงจัดการรับรองราชทูตและแปลพระราชสาส์น ณ วัดหมื่นสารแห่งนี้ ตามบันทึกใบลานภาษาบาลีของวัดเจดีย์หลวงกล่าวไว้ว่าในสมัยพระเกษเกล้า กษัตริย์พระองค์ที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย มีเสนาอามาตย์ผู้หนึ่งนามว่า วิมลกิตติ (นายทหารยศชั้นหมื่น) สร้างพระอารามแห่งนี้ขึ้น มีข้อความว่า อาวาสนี้ อันหมื่นวิมลกิตติ ผู้เป็นมหาโยธา (ทหารผู้ใหญ่) ในนครนี้ตั้งไว้แล้ว ในศิลาจารึกวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ก็ปรากฏชื่อวัดหมื่นสารเช่นกัน สรุปความได้ว่าหมื่นหนังสือวิมลกิตติสิงหละราชมนตรี ท่านได้อุปถัมภ์วัดแห่งนี้ตลอดมา พระอารามนี้จึงได้ชื่อว่า วัดหมื่นสาร ตามชื่อของราชมนตรีผู้นั้นจากหลักฐานต่างๆ ดังกล่าว จึงพอสรุปได้ว่าวัดหมื่นสารมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช และเป็นวัดสำคัญ เป็นสถานที่รับรองราชทูต และแปลพระราชสาส์นจากเมืองต่างๆ นอกจากนั้นวัดแห่งนี้ยังมีคัมภีร์ใบลานจำนวนมาก จากการสำรวจเมื่อประมาณปี 2520 พบว่ามีคัมภีร์ใบลานของวัดจำนวน 163 รายการ 815 ผูก อายุประมาณ 200 กว่าปีหน้าบรรณวิหารหลวงวัดหมื่นสาร
พระวิหารของวัดมีอายุหลายร้อยปี อาคารปูน สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ หน้าบันประดับปูนปั้นลวดลายพรรณพฤกษากับเทวดา ประดับด้วยกระจกสี ผนังด้านนอกบริเวณทางเข้ามีจิตกรรมฝาผนัง พระวิหารนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอดรวม ๔ ครั้ง โดยครั้งล่าสุดปี ๒๕๒๔พระเจดีย์ประธานศิลปะล้านนาผสมไทยใหญ่
พระเจดีย์ประธานศิลปะล้านนาผสมไทยใหญ่ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ โดยฝืมือช่างไทยใหญ่ องค์เจดีย์เป็นทรงปราสาท มีซุ้มโขง ๔ ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาทั้ง ๔ ด้าน มีสิงห์ และฉัตรประดับทั้ง ๔ มุมขององค์พระเจดีย์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยใหญ่และมีบันไดขึ้นเฉพาะทิศตะวันออกเพื่อขึ้นไปสรงน้ำพระบนพระธาตุอุโบสถวัดหมื่นสาร สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์
พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ยกพื้นสูง สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๔ หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา โดยรวมมีลักษณะคล้ายกับพระวิหารขนาดย่อส่วนสถูปบรรจุอัฐิธาตุครูบาศรีวิชัย เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของวัด หลังจากที่ครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนาไทยมรณภาพลง อัฐิธาตุของครูบาถูกแบ่งออกเป็น ๖ ส่วน ส่วนหนึ่งนำมาเก็บไว้ที่วัดแห่งนี้ แต่อย่างไรก็ตามอัฐิธาตุที่วัดหมื่นสาร ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีที่มาอย่างไร มีเพียงแต่คำบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้านวัวลายเท่านั้นว่า อัฐิธาตุครูบาศรีวิชัยที่บรรจุภายในสถูปวัดหมื่นสารนั้นเป็นอัฐิที่ได้รับมาจากครูบาขาวปี๋ ศิษย์เอกของครูบาศรีวิชัยอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย วัดหมื่นสาร
ในอดีตวัดแห่งนี้เคยเป็นคลังเก็บเสบียง อาวุธ และเป็นที่พักสำหรับทหารบาดเจ็บของกองทัพญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ วัด ทหารเหล่านี้ยังสอนภาษาญี่ปุ่น และมอบอาหารให้แก่เด็กๆ ในละแวกนั้นอีกด้วย หลังกองทัพญี่ปุ่นแพ้สงคราม จึงนำอาวุธสงครามหลายชิ้นทิ้งลงในน้ำบ่อหลวงภายในวัด เมื่อทางการญี่ปุ่นสืบค้นเรื่องราวดังกล่าวในเวลาต่อมา และค้นพบร่องรอยการเสียชีวิตของทหารญี่ปุ่นที่วัดหมื่นสาร จำนวน 32 คน จึงประกอบพิธีไว้อาลัย และสร้างอนุสรสถานขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เสียชีวิตหอศิลป์สุทธฺจิตฺโต ประดับเครื่องเงินทั้งหลัง
หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต เป็นอาคารล้านนาประยุกต์ ช่างเงินบ้านวัวลายหลายคนช่วยกันดุนลายโลหะประดับตกแต่งทั้งภายใน และภายนอกหอศิลป์ ซึ่งเป็นลวดลายพื้นเมืองล้านนาดั้งเดิม เนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก รามเกียรติ เทพพนม และลายเครือเถา เป็นต้น ลวดลายเหล่านี้สื่อถึงประวัติความเป็นมาของชาวบ้านวัวลาย ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวบ้านวัวลายในอดีต ภายในมีหุ่นขึ้ผึ้งรูปเหมือน ๓ ครูบา ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านวัวลายให้ความเคารพ ได้แก่ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ครูบาอินตา อินทปัญโญ (ครูบาอินต๊ะ) และพระครูโอภาสคณาภิบาล (ครูบาบุญปั่น ปุญญาคโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นสารเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา