วัดเชียงยืน หนึ่งในวัดมงคลนามของเมืองเชียงใหม่ในจำนวนพระอารามมากมายในเมืองเชียงใหญ่ มีเพียง ๑๕ แห่งเท่านั้นที่จัดว่าเป็น วัดมงคลนาม คือมีชื่อที่เป็นมงคล เช่น วัดเชียงมั่น วัดดับภัย วัดชัยศรีภูมิ วัดดวงดี เป็นต้น ซึ่ง วัดเชียงยืน เป็นหนึ่งในวัดเหล่านั้น เพราะคำว่า เชียงยืน มีความหมายอันเป็นมงคลสื่อความหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว ชาวบ้านใกล้เคียง และคนเมืองที่มีความเชื่อเรื่องนี้จึงนิยมไปกราบไหว้พระ และทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิตเสมอก่อนจะพาไปเยี่ยมชมภายในบริเวณวัด ขอกล่าวถึงชื่อของวัดอีกสักเล็กน้อยค่ะ เพื่อให้สมกับที่เป็นวัดมงคลนามเสียหน่อย นอกจากชื่อ วัดเชียงยืน แล้ว พระอารามแห่งนี้ยังมีชื่ออื่นๆ ซึ่งเป็นนามมงคลเช่นกัน ตามตำนานต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ที่กล่าวถึงวัดแห่งนี้ มีชื่อเรียกทั้งหมด 3 ชื่อ กล่าวคือ วัดเชียงยืน (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่) วัดฑีฆชีวะวัสสาราม (พงศาวดารโยนก) และ วัดฑีฆายวิสาราม หรือ ฑีฆาชีวิตสาราม (ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์) แต่ละชื่อล้วนหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว ทำให้ชาวเชียงใหม่มักจะหาโอกาสไปทำบุญตักบาตรที่วัดแห่งนี้ในวันสำคัญต่างๆ เสมอ โดยเฉพาะวันขึ้นปีใหม่สากล และวันขึ้นปีใหม่ไทย ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมความเป็นศิริมงคลในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ให้กับชีวิตและครอบครัวพระเจดีย์ธาตุย่อมุมแบบล้านนา
พระพุทธรูปในซุ้มหน้าพระเจดีย์ธาตุ
ความเป็นมาของวัดนั้นไม่มีบันทึกที่แน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานตามเอกสารของทางวัดว่า ในรัชสมัยของพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งเชียงใหม่ พระองค์ทรงสร้างวัดคู่เมืองเชียงใหม่ขึ้นสองวัด วัดแห่งแรกคือ วัดเชียงมั่น หมายถึง ความมั่นคง ต่อมาจึงสร้างวัดเชียงยืน ซึ่งหมายถึง ความยั่งยืน พระองค์มีพระราชประสงค์ให้วัดเชียงมั่นตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง และวัดเชียงยืนให้ตั้งอยู่ในทิศมงคลของเมืองเชียงใหม่ด้านนอกกำแพงเมือง มีฐานะเป็นเดชเมืองเชียงใหม่ ทิศเดียวกับที่ตั้งแจ่งศรีภูมินั่นเอง เนื่องจากเมืองเชียงใหม่สร้างขึ้นโดยยึดหลักชัยภูมิและความเชื่อทางโหราศาสตร์ พร้อมทั้งประดิษฐานพระประธานศักดิ์สิทธิ์ภายในพระวิหารนามว่า พระสัพพัญญูเจ้าเดชเมือง เพื่อให้เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สักการบูชาก่อนเข้าออกเมืองทางด้านประตูช้างเผือก เมื่อมีพิธีราชาภิเษก และสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลในยามออกศึกสงคราม ให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งหลาย ประเพณีที่เจ้าผู้ครองนครนครเชียงใหม่ต้องกราบสักการะพระสัพพัญญูฯ ก่อนเข้าเมืองนั้นเริ่มขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระไชยเชษฐาธิราช เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จจากเมืองลาวมาเพื่อครองนครเชียงใหม่ และประเพณีนี้ได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงสมัยพระเจ้ากาวิละวิหารพระสัมพัญญูเจ้าเดชเมือง
สถานที่สำคัญ และน่าสนใจภายในวัดคือ พระวิหารสัพพัญญู สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ก่ออิฐถือปูน หน้าบันทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาประดับกระจกสี ภายในประดิษฐาน พระประธานปางมารวิชัย ก็คือ พระสัพพัญญูเจ้าเดชเมือง นั่นเองพระสัมพัญญูเจ้าเดชเมือง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่
พระมหาธาตุเจดีย์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๖๐ รัชสมัยของพระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย องค์ที่ ๑๓ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม สื่อความหมายถึงบารมีแผ่ไปทั้งแปดทิศ ฐานเหลี่ยมสูง ย่อเก็จทั้งสี่มุม แต่ละมุมมีรูปปั้นสิงห์ตัวใหญ่หนึ่งตัว สิงห์ตัวเล็กสองตัว และเทวดาอีกด้านละสององค์พระอุโบสถของวัดแห่งนี้น่าสนใจมาก มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแตกต่างจากวัดอื่นๆ เพราะเป็นอุโบสถทรงแปดเหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน ชายคาประดับด้วยไม้ฉลุแบบขนมปังขิง สถาปัตยกรรมแบบพม่า หลังคาซ้อนกันสามชั้น ใครมีโอกาสแวะไปเยือนวัดเชียงยืน อย่าพลาดชมพระอุโบสถหลังนี้ด้วยนะคะ ทั้งๆ ที่เป็นสถานที่น่าสนใจ แต่การดูแลยังไม่ดีเท่าทีควรค่ะพระอุโบสถทรงแปดเหลี่ยมแบบพม่า
เพียงเท่านี้เราก็เห็นแล้วว่า นอกจากนามอันเป็นมงคลของวัดแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย ใครมาเที่ยวเชียงใหม่ หรือแม้แต่ชาวเชียงใหม่เอง ใครอยากไปกราบพระเพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ จะลองทำตามความเชื่อของคนเฒ่าคนแก่ของล้านนา ไปที่วัดเชียงยืน ซึ่งมีชื่อเป็นมงคลแห่งนี้กันดูก็ได้นะคะ ได้ผลอย่างไรมาเล่าสู่กันฟังบ้างเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา