วัดมณเฑียร ชมวิหารสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ กราบพระพุทธรูปหินทรายเชียงใหม่คือเมืองแห่ง วัด เพียงแค่พื้นที่เล็กๆ ในเขตกำแพงเมืองก็มีวัดรวมตัวกันอยู่หลายสิบวัด มีทั้งวัดเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก ไปจนถึงวัดขนาดใหญ่ที่ใครมาเชียงใหม่ต้องห้ามพลาด ว่ากันว่าถ้าตั้งเป้าหมายจะเที่ยววัดในเขตเมืองเก่าให้ครบ เวลาแค่วันเดียวอาจจะไม่พอ แต่ละวัดก็ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่น่าสนใจ สถาปัตยกรรม และงานศิลปะแบบล้านนาที่อ่อนช้อย งดงาม ใครที่รักงานศิลป์ล้านนาไม่ควรพลาด"วัดมณเฑียร" ตั้งอยู่บริเวณคูเมืองด้านใน ใกล้กับประตูช้างเผือก ดูเผินๆ อาจเหมือนวัดสร้างใหม่ ไม่ได้เก่าแก่เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองแต่อย่างใด นักท่องเที่ยวไทยหลายคนจึงมองผ่านๆ ไม่ได้สนใจแวะเข้าไปเยี่ยมชมเท่าไรนัก แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน วิหารโครงสร้างสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ริมถนนมณีนพรัตน์นั้นโดดเด่นแปลกตามาก ภาพกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่มแล้วกลุ่มเล่ากำลังกดชัตเตอร์อย่างเมามัน จึงเป็นภาพชินตาของผู้สัญจรผ่านไปมาบรรยากาศวัดมณเฑียรจากถนนมณีนพรัตน์
วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1974 เป็นวัดแรกที่พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ทรงสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ด้วยความศรัทธา พระองค์ และพระมหาเทวีทรงโปรดให้รื้อพระตำหนักราชมณเฑียรส่วนพระองค์มาสร้างเป็นวัดถวายแด่พระมหาญาณคัมภีร์มหาเถระ และคณะ ทรงพระราชทานนามพระอารามนี้ว่า "วัดราชมณเฑียร" และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดมณเฑียร ในภายหลังวัดราชมณเฑียรในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชเจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระองค์ และได้รับการทำนุบำรุงจากราชวงศ์มังรายสืบต่อกันมา อีกทั้งพระมหาญาณคัมภีร์ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดยังเป็นนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้น และเป็นพระสงฆ์ที่มีคุณธรรมมากรูปหนึ่ง ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนชาวเชียงใหม่ทั่วไป และเจ้านายชั้นสูง เพราะท่านบำเพ็ญประโยชน์ยิ่งต่อพระพุทธศาสนา คือการทำนุบำรุง และเผยแผ่พระศาสนาในแผ่นดินล้านนาให้เจริญรุ่งเรือง ขยายไปไกลจนถึงแคว้นเชียงตุง ในพม่า และดินแดนสิบสองปันนา ในเขตประเทศจีนตอนใต้วิหารหลวงวัดราชมณเฑียร (ถ่ายจากบันไดทางขึ้นวัดริมถนน)
เมื่อปี พ.ศ. 2543 วัดราชมณเฑียรได้รับการบูรณะครั้งใหญ่โดยการอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ และท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน พระวิหารหลวงสถาปัตยกรรมไทยล้านนา 2 ชั้นที่เห็นในปัจจุบันนี้สร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ตัวอาคารประดับด้วยลวดลาย ปูนปั้น และลายคำแบบล้านนา สวยงามมาก ชั้นหนึ่งเป็นสถานที่ทำบุญของพุทธศาสนิกชน ส่วนชั้นที่สองใช้เป็นสถานที่ทำสังฆกรรมของพระภิกษุ และสามเณรพระประธานหินทรายในวิหารหลวง ทรงเครื่องแบบล้านนา
ภายในพระวิหารมีภาพจิตรกรรมเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของพระมหาญาณคัมภีร์ ตั้งแต่เริ่มบวช เผยแผ่พระศาสนา สืบพระศาสนาไปยังศรีลังกา จนกระทั่งมาเผยแพร่ศาสนาในเมืองเชียงใหม่ นอกจากนี้ฝาผนังยังมีการวาดลวดลายคำ ซึ่งเป็นลายดอกไม้แบบโบราณ หาดูยาก ไว้อีกด้วย ซุ้มประตูหน้าพระวิหารประดับปูนปั้น และกระจกแก้วอังวะ ติดทองคำเปลว ลวดลายล้านนาประยุกต์ งดงามอ่อนช้อยมาก"พระพุทธราชมณเฑียร" พระประธานในพระวิหารก็สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันด้วย พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวสลักด้วยหินทราย ทรงเครื่องศิลปะล้านนา ปัจจุบันในเมืองเชียงใหม่มีพระพุทธรูปหินทรายที่วัดร่ำเปิงเท่านั้น พระมหาชัชวาล โชติธฺมโม เจ้าอาวาส นำหินทรายมาจากเมืองพะเยานอกจากความสวยงามอลังการแล้ว วัดมณเฑียรยังมีจุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่เหมือนกับวัดทั่วไปคือ บันไดทางขึ้นพระวิหารจะทอดยาวแทรกระหว่างกำแพงวัดลงไปยังฟุตบาท เพราะว่าหลังการบูรณะ พระวิหารมีขนาดใหญ่ขึ้น ทางขึ้นยาวออกไปถึงบริเวณประตูทางเข้าเดิมของวัด ตามความเชื่อของชาวล้านนาโบราณนั้นห้ามย้ายประตูวัด ทางวัดจึงสร้างบันไดขึ้นพระวิหารเชื่อมต่อกับประตูวัดไปในตัวเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา