เยือน วัดแสนฝาง กราบพระเจดีย์ชเวดากองแห่งนครเชียงใหม่ ชมสถาปัตยกรรมล้ำค่าที่ถูกลืมถนนท่าแพเป็นถนนอีกสายหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ที่มีวัดตั้งเรียงรายอยู่ตลอดสองฟากฝั่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมงดงาม ดึงดูดให้ผู้สัญจรไปมาทั้งชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ หนึ่งในวัดบนถนนสายเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่นี้ คือวัดแสนฝาง ซึ่งแตกต่างจากวัดอื่น เพราะมีกำแพงสูงใหญ่ล้อมรอบ จนหากใครไม่ได้สังเกตก็จะไม่ทราบเลยว่าเป็นบริเวณวัดทางเข้าวัดจากทางถนนท่าแพ ขนาบด้วยพญานาค
ประวัติการสร้างวัดกล่าวว่าพระอารามแห่งนี้สร้างในรัชสมัยของพญาแสนภู กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์มังราย ในปี พ.ศ. 2119 เดิมเรียกกันว่า วัดแสนฝัง โดยคำว่า แสน มาจากพระนามของพญาแสนภู ส่วนคำว่า ฝัง มาจากพระราชศรัทธาตามแบบบรรพกษัตริย์ ที่นิยมฝังพระราชทรัพย์ไว้พร้อมกับการสร้างวัดด้วย เพื่อสั่งสมบุญกุศล ในอดีตวัดแสนฝางเป็นวัดที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระบรมวงศานุวงศ์นิยมเสด็จมาปฏิบัติธรรมรักษาศีลกันอยู่เสมอ จึงได้รับการอุปถัมภ์จากพระราชวงศ์เป็นอย่างดีตลอดมา ดังที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในแผ่นจารึกไม้สักของวัดพระเจดีย์มงคลแสนมหาชัย ชเวดากองแห่งนครเชียงใหม่
โบราณสถานที่สำคัญภายในวัดคือ พระเจดีย์มงคลแสนมหาชัย เจดีย์ก่ออิฐถือปูนสีขาวศิลปะพม่า ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อส่วนเก็จแคบ กว้าง 18.7 เมตร สูง 49 เมตร เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ องค์ระฆังตกแต่งด้วยกระเบื้องสีเป็นลวดลายพรรณพฤกษา อ่อนช้อย และงดงามมาก ปลียอดประดับด้วยฉัตรสีทองตามแบบไทยใหญ่-พม่า ที่ฐานมีเจดีย์ขนาดเล็กประดับอยู่ทั้งสี่มุม ต่ำลงมามีปูนปั้นรูปนรสิงห์คอยอารักขาทั้ง 4 ทิศ ทิศละ 4 ตัว พระเจดีย์มีรั้วล้อมรอบ แสดงให้เห็นอิทธิพลศิลปะพม่าอย่างชัดเจน พระเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างวัด ภายหลังพระครูบาโสณโณเถระได้บูรณะองค์พระเจดีย์ โดยตั้งใจให้มีลักษณะคล้ายพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ในนครย่างกุ้ง ประเทศพม่าวิหารลายคำ ลวดลายวิจิตรงดงามมาก
พระวิหารลายคำ เป็นวิหารที่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (ราชวงศ์พระเจ้าเจ็ดตน) องค์ที่ 7 และเจ้าทิพเกสรราชเทวี (พระราชบิดาและพระราชมารดาในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี) โปรดให้รื้อพระตำหนักของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 ลง แล้วนำมาถวายวัดเมื่อ พ.ศ. 2420 โดยให้ปรับปรุงดัดแปลงสร้างเป็นวิหารปิดทองล่องชาดทั้งหลัง เมื่อแล้วเสร็จจึงโปรดให้ฉลองสมโภชพระวิหารในปี พ.ศ. 2421 วิหารหลังนี้สร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาเตี้ย และลาดต่ำ ประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลัก และปูนปั้นปิดทอง หน้าบันตกแต่งด้วยไม้แกะสลักลายก้านขด และสัตว์หิมพานต์ขนาดความยาว 49 เมตร กว้าง 12 เมตรหอไตรหลังเก่าวัดแสนฝาง
หอไตรหลังเก่า สร้างเมื่อ พ.ศ.2412 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนทำด้วยไม้ รูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ระเบียงและเสาเป็นไม้ฉลุงดงามมาก หน้าบันเป็นไม้แกะสลัก ประดับกระจกสีพระอุโบสถพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
พระอุโบสถของวัด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2453 โดยพระราชศรัทธาของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นอาคารตึกโครงสร้างสองชั้นร่วมสมัย หาชมยาก ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ชายคาประดับด้วยไม้ฉลุแบบขนมปังขิง ส่วนชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้ลวดลายวิจิตรวัดแสนฝางถือเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมงดงามมากอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ยิ่ง แต่ภายในบริเวณวัดกลับไม่ค่อยได้รับการดูแลเท่าที่ควร ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก กำแพงสูงที่ล้อมรอบวัดไว้อย่างมิดชิด ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมน้อยมากหากเทียบกับวัดอื่นในเมืองเชียงใหม่ ทั้งๆ ที่มีสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์งดงามไม่น้อยหน้าใครทีเดียว หากใครมีโอกาสมาเยือนเชียงใหม่ หรือชาวเชียงใหม่ที่เดินเล่นบนถนนท่าแพ อย่าลืมลองเข้าไปกราบพระเจดีย์ และเยี่ยมชมความงดงามของหมู่อาคารภายในวัดแสนฝางกันดูสักครั้ง แล้วคุณจะพบว่าในเมืองเชียงใหม่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ น่าสนใจให้เราได้เยี่ยมชมอีกมากเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา