หนึ่งในสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทใหญ่ในเมืองแม่ฮ่องสอน และศูนย์กลางของกิจกรรมทางวัฒนธรรม และประเพณีที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี คงไม่หนีไม่พ้น วัดจองกลาง-จองคำ ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสวนสาธารณะหนองจองคำ ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน วัดจองคำและวัดจองกลาง ถ้าให้พูดก็คงเปรียบเสมือนวัดฝาแฝด เหตุก็เพราะมันตั้งอยู่ในกำแพงเดียวกัน เมื่อมองจากด้านหน้า วัดจองคำ จะอยู่ด้านซ้ายมือ ส่วนวัดจองกลางจะอยู่ทางขวามือ
วัดจองคำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2340 เป็นวัดแรกของเมืองแม่ฮ่องสอนที่เก่าแก่ สร้างตามแบบอย่างศิลปะไทใหญ่ ที่โดดเด่นด้วยหลังคาทรงประสาท 9 ชั้น และมีสิ่งที่น่าสนใจในวัดดังต่อไปนี้
อย่างแรกเลย เจดีย์วัดจองคำ หรือที่ชาวไทยใหญ่เรียกว่า "กองมู" มีลักษณะคล้ายมณีทบ รูปทรงจุฬามณี ความสูง 32 ศอก ฐานสี่เหลี่ยมมีมุข 4 ด้าน พร้อมสิงห์ด้านละหนึ่งตัว ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งด้านละหนึ่งองค์ เริ่มสร้างเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2456 ก่อนจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม พ.ศ.2458 ซึ่งสร้างขึ้นโดยศรัทธาขุนเพียร (พ่อเลี้ยงจองนุ) พิรุญกิจและแม่จองเฮือนคหบดีชาวแม่ฮ่องสอน ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ผู้ที่มานมัสการองค์พระเจดีย์
ถัดจากเจดีย์มา เป็นอุโบสถมีลักษณะเป็นอาคารรูปทรงมณฑปรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กรูปพระเจดีย์ 5 ยอด ภายในเขียนภาพพุทธประวัติที่ฝาผนัง บานประตู หน้าต่าง ทำด้วยไม้แกะสลัก ภายในอุโบสถมีพระประธานที่ทางวัดได้ทำพิธีเททองหล่อขึ้น เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2522 และเบิกพระเนตรเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2523
ตบท้ายกันด้วยวิหารหลวงพ่อโตภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน คือ "หลวงพ่อโต" สร้างเมื่อปี พ.ศ.2496 โดยช่างชาวพม่าเป็นพระพุทธรูป ขนาดใหญ่ มีขนาดหน้าตักกว้าง 4.85 ม. จำลองมาจาก พระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม วิหารแห่งนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ผสมฝรั่ง อาคารมีผังเป็นรูปตัวแอล ผนังก่ออิฐถือปูน ประตู หน้าต่างตอนบนโค้ง ประดับลวดลายแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก หลังคามุงสังกะสี เชิงชายมีลูกไม้ฉลุ แบบขนมปังขิง
หลังจากโซโล่เรื่องวัดจองคำกันไปแล้ว เราจะมาต่อกันกับวัดจองกลางที่อยู่ติดกันใกล้ๆ กับวัดจองคำ ชนิดเดินไม่ทันไรก็เป็นอันถึงแล้ว
วัดจองคำว่าพิเศษใส่ไข่แล้ว วัดจองกลางยิ่งมีสิ่งที่น่าสนใจพิเศษขึ้นกว่านั้น เพราะที่นั้นมีหลายอย่างดึงดูดใจให้เรา เข้าไปชมกันอย่างตระการตา ซึ่งก็ไล่ไปตั้งแต่เจดีย์ประธาน เจดีย์ลักษณะทรงเครื่องแบบมอญที่บนยอดประดับฉัตรสามชั้น มีกลุ่มเจดีย์สี่ทิศล้อมรอบ องค์เจดีย์ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว ส่วนลายปูนปั้นที่องค์เจดีย์ทาสีทอง ในยามค่ำคืนเมื่อประดับไฟ สีทองจะเปร่งรัศมีสวยงามยิ่งนัก
ตามกันมาติดๆ เป็นวิหารใหญ่อาคารเอนกประสงค์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ใช้ประกอบพิธี เช่น ทำบุญ จัดแสดงพิพิธภัณฑ์รวม ทั้งเป็นหอฉันและกุฏิของเจ้าอาวาสด้วย ลักษณะเด่นของอาคาร คือ การซ้อนชั้นหลังคา นอกจากจะยกคอสอง แล้วยังยกจั่วซ้อนชั้นบนคอสองอีกทีหนึ่ง ที่ปลายขอบชายคาตกแต่งด้วยลายฉลุ
และที่เซอร์ไพร์สกันสุดๆ เห็นจะเป็นห้องพิพิธภัณฑ์ในวัด ที่จัดแสดงตุ๊กตาไม้แกะสลักเป็นรูปคนและสัตว์พระเวสสันดร ชาดก จากฝีมือช่างชาวพม่ามีจำนวนทั้งสิ้น 33 ตัว โดยนำมาจากพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2400 นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูป หินอ่อนองค์เล็ก แกะด้วยฝีมือประณีตอ่อนช้อยงดงามมาก มีคัมภีร์โบราณ ถ้วยชาม และเครื่องใช้โบราณอีกหลายชิ้น
สุดท้ายและท้ายสุดสำหรับสิ่งที่น่าสนใจของวัดจองกลาง คือ แผ่นกระจกเขียนสี ที่บอกเล่าเรื่องราวพระเวสสันดรชาดกและพุทธประวัติ ตลอดจนภาพแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสมัยก่อนหลายสิบภาพ พร้อมคำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาพม่า ซึ่งกระจกเขียนสีเหล่านี้ จะถูกติดอยู่บริเวณฝากั้นห้องเจ้าอาวาสบนจองวัดจองกลางวิหารเล็ก
สวยงามและทรงคุณค่า น่าจะเหมาะกับคำนิยามของวัดจองกลางและวัดจองคำได้เป็นอย่างดีที่สุด