ทุกอย่างล้วนมีเหตุและผลในอยู่ตัวเองมันเอง...เป็นอีกครั้งที่ยังคงวนเวียนอยู่แถวแม่ฮ่องสอน ซึ่งผมมีโอกาสได้ไปนมัสการวัดพระนอนกันถึงที่นั้น และเมื่อว่างเห็นอันตามสมควร เลยเก็บเอาภาพบรรยากาศมาเล่าสู่กันฟังอย่างเช่นเคย
วัดพระนอน จะตั้งอยู่ใต้เชิงเขาของวัดพระธาตุดอยกองมู ด้านหน้าติดถนนผดุงม่วยต่อ ตรงข้ามวัดก้ำก่อ ตำบลจองคำ ตัวอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2418 โดยพญาสิงหนาทราชา (นามเดิมว่า ชานกะเล เป็นชาวไทใหญ่ ) เจ้าเมืององค์แรกของแม่ฮ่องสอนตรงกับรัชสมัยราชกาลที่ 5
มูลเหตุสำคัญในการสร้างองค์พระนอน มี 2 ประการ ด้วยกันแบบสั้น อย่างแรกเลยเพื่อเป็นอนุสรณ์ ที่ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอน อีกทั้งเป็นการเฉลิมฉลองในวาระที่หมู่บ้านแม่ฮ่องสอนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมือง และอย่างที่สองคือ พญาสิงหนาทราชา ท่านเป็นผู้เกิดวันอังคารจึงสร้างองค์ไสยาสน์ ( พระนอน) ขึ้นให้เป็นพระประธาน คู่บ้านคู่เมืองให้เป็นที่สักการะกราบไหว้บูชา ของชาวเมืองแม่ฮ่องสอน แต่ก็สร้างไม่แล้วเสร็จ เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองแถวชายแดนไม่คอยสงบ และพอพญาสิงหนาทราชาถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2427 เจ้านางเมี๊ยะขึ้นครองเมืองแทน จึงสร้างองค์พระนอนยาว 11 เมตร 90เซนติเมตร ต่อจนสำเร็จเรียบร้อยและจัดงานฉลองครั้งยิ่งใหญ่
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม วัดพระนอนเป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่าและผสมผสานวัฒนธรรมชาวไทใหญ่ รูปทรงหลังคาวัดเป็นแบบ สองคอ สามชายและทรงปานซอยเหมือนวัดพระธาตุดอยกองมู ภายในวัดจะมีองค์พระนอนมีขนาดความยาว 11 เมตร 90 เซนติเมตร และจะมีรูปปั้นพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิและพระทรงเครื่องต่างๆ มีพระบัวเข็ม พระสิวลี รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ภายในห้องเก็บของโบราณก็จะมีหนังสือพระไตรปิฎกและวัตถุโบราณ ถ้วย,โถ,ชามและของใช้สอยของชาวญี่ปุ่นสงครามโลกครั้งที่ 2
สิ่งสำคัญในวัดอย่างหนึ่งที่จะลืมเอ่ยถึงไปเลยไม่ได้ก็คือ พระบัวเข็มวัดพระนอนทำจากรัฐฉานประเทศพม่า รุ่น พ.ศ. 2500 ที่ทำด้วยผลไม้ดอกไม้ทุกชนิดว่าน108 ชนิดและกิ่งศรีมหาโพธิ์ ผงศักดิ์สิทธิ์ของโบราณ พร้อมด้วยพระธาตุของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ลงรักปิดทองคำเปลว100 % เหมาะสำหรับบูชาไว้ตามร้านค้า และตามบ้าน สำนักงานต่างๆ ซึ่งเมื่อได้บูชาพระบัวเข็มแล้วทำให้ผู้บูชาแคล้วคลาดอันตรายและอุบัติเหตุทุกอย่าง อยู่เย็นเป็นสุขเจริญก้าวหน้าในการดำรงชีวิต มีโชคลาภสิ่งที่ตนต้องการไม่ขาดสาย และจะทำให้ผู้บูชาหมดหนี้สินที่กู้ยืมเขามา
ถัดจากส่วนนั้นพอเขยิบกันมาเป็นด้านหลังวัด จะมีสิงห์คู่สองตัวยืนคู่กัน ซึ่งเชื่อกันว่าชานกะเลและเจ้านางเมี๊ยะเป็นผู้สร้างและตรงกันข้ามจะมีเจดีย์ 2 หลังเป็นศิลปะแบบพม่า ข้างในเจดีย์หลังแรกมีพระพุทธรูป 1 องค์ และเจดีย์ หลังที่ 2 มีพระพุทธรูปแบบพม่า 4 องค์ ตรงหน้าเจดีย์หลังที่ 2 มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่นั่งสมาธิอยู่กลางแจ้งไม่มีที่กำบัง
ในส่วนของทางขึ้นบันไดนาค เดิมทีมีเพียง 11 ชั้น ซึ่งมีถึง 3 ครั้ง ที่มีการซ่อมแวมบูรณะขยายขั้นบันไดลงมา คือในปี พ.ศ. 2504, 2506 และ 2508 แต่สุดท้ายก็สร้างถึงแค่บริเวณที่จอดรถกันเท่านั้น รวมแล้วบันไดนาควัดพระนอนมีทั้งหมด 64 ขั้น
และหากจะสรุปกันแบบเหมารวมทั้งหมด ต้องบอกว่าวัดพระนอน คือวัดที่น่าศึกษาค้นคว้าในด้านสถาปัตยกรรม คุณค่าทางศิลปะ รวมทั้งเรื่องราวต่างๆมากมายที่เกี่ยวข้องกับวัดเป็นอย่างยิ่ง