ครั้งสุดท้ายที่พวกคุณนั่งเรือคือตอนไหน...?หนึ่งคำถามท่ามกลางคำตอบอันหลากหลาย บางคนเพิ่งได้นั่ง บางคนก็นานมากไป หรือบางคนยังไม่เคยนั่งเรือกันด้วยซ้ำ แต่เรื่องแบบนี้ สำหรับใครที่บ้านติดแม่น้ำ อาจจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญชนสำหรับพวกเขา
ก่อนที่เราจะมีการคมนาคมที่จะแสนสะดวกได้ในปัจจุบัน (รถไฟไทยขอไม่นับด้วยล่ะกัน เพราะใช้กันมาแต่สมัย ร.5) ถ้าในเมืองใหญ่ๆของประเทศไทย มักจะปักหมุดตัวเองใกล้แม่น้ำ ทำนองใช้แม่น้ำเป็นแหล่งทำมาหากิน ทั้งในด้านของการเกษตร และการขนส่ง ซึ่งแน่นอนว่า เรือ คือพาหนะที่จำเป็นกันอย่างมากในสมัยก่อน
สำหรับเชียงใหม่ที่มีแม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำสายหลัก ก็มีจะ เรือหางแมงป่อง ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์กว่าใครๆ แถมที่มาที่ไปของมันนั้น น่าสนใจอยู่พอสมควร
เรือหางแมงป่อง มีที่มาจากการที่สล่าทำเรือในสมัยก่อน เจอกาบมะพร้าวลอยในน้ำ มีพวกมด หนอน แมลง และแมงป่องอาศัยอยู่ และหนึ่งในจำพวกสัตว์เหล่านั้น ซึ่งก็คือแมงป่องได้ชี้หางไปบนฟ้า สล่าจึงหยิบเอาไอเดียตรงนี้มาสร้างเป็นเรือหางแมงป่อง เพราะมองว่าไอ้เจ้ากาบมะพร้าวนั้น มันมีโครงสร้างเหมือนเรือ
โดยไม้ที่เอามาทำเป็นไม้สัก ซึ่งมีน้ำหนักเบา และสามารถลอยน้ำได้ดีกว่าไม้ชนิดอื่นๆ ไม่บิดไม่งอ แถมอายุการใช้งานก็นานจนนมยานร่วมๆ 80 ปี
หลังจากฟังที่มาที่ไปของเรือกันพอคร่าวๆ ทีนี้ก็จะขอพากระโดดลงเรือหางแมงป่อง โดยที่ที่จะพาไปนั้น มันก็คือท่าเรือหางแมงป่อง หน้าวัดศรีโขง ฝั่งตรงข้ามเทศบาลนครเชียงใหม่
ซึ่งที่นี้เขาจะมีบริการล่องเรือหางแมงป่อง และก็เป็นที่เดียวในเชียงใหม่ โดยเที่ยวเรือจะมีกันอยู่ 5 รอบ สตาร์ทรอบแรกที่ 9.00 ก่อนจะไล่เรียงมาเป็น 11.00, 13.00, 15.00 และตบท้ายด้วยเวลา 17.00 น.
จุดล่องเรือจะเริ่มตรงที่ท่าเรือหางแมงป่องตรงแถววัดศรีโขง ก่อนจะค่อยๆล่องลงใต้ ผ่านคุ้มเจดีย์กิ่ว, คุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ, วัดเกตการาม, ขัวแตะหรือสะพานจันทร์สม, ตลาดต้นลำใย ที่ทำการไปรษณีย์ สะพานนวรัฐ, สะพานเหล็ก วัดชัยมงคล ค่ายกาวิละ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 หรือกรมป่าไม้แห่งแรกของเชียงใหม่ จบที่ฝายพญาคำ ก่อนวกกลับขึ้นเหนือไปตามเส้นทางเดิม ใช้เวลาล่องกันประมาณชั่วโมงครึ่ง ก่อนจะปิดจ๊อบด้วยการแวะกินข้าวเหนียวมะม่วง และน้ำลิ้นจี่ที่ทางทัวร์จัดให้ ตรงบ้านดินเรือหางแมงป่อง แถวๆวัดฟ้าฮ่าม
นั่นคือหลักๆที่จะต้องเจอ ส่วนในเรือที่จะไปล่องด้วยกันจะประกอบไปด้วยลูกเรือคือนักท่องเที่ยว ไกด์สองคน ในเวอร์ชั่นไทย อังกฤษ บวกกับนายเรืออีกคน
ทริปล่องเรือนี้จะจืดเป็นน้ำล้างตีนทันที ถ้าขาดคุณลุงไกด์ประจำเรือ เพราะระหว่างทริป แกวาดลวดลายลีลาการพูด หยอดมุขให้นักท่องเที่ยวได้ขำตลอดทาง พลางสอดไส้สาระต่างๆลงไปด้วย ซึ่งสาระที่ว่านั้นก็คือการบรรยายถึงสถานที่ต่างๆริมสองฝั่งแม่น้ำในอดีต เรื่องราวข้าวของเครื่องใช้ในการหาปลา (อันนี้แกจะเล่าตอนกินข้าวเหนียวมะม่วงหลังจบทริป) ซึ่งฟังๆไปอารมณ์มันจะเหมือนกันกับเด็กๆมานั่งฟังคุณลุงเล่านิทานในยามบ่าย
แต่จะแปลกตรงที่การฟังนิทานครั้งนี้ มันคือการฟังนิทานที่ได้ล่องเรือท่ามกลางความสบายใจ และเงียบสงบ ท่ามกลางสายน้ำที่ไหลเอื่อยในตอนเย็น พร้อมแสงแดดอ่อนๆร่ำไรกระทบลงตรงผิวน้ำ