พระตำหนักดาราภิรมย์ เรียนรู้ชีวิตและพระกรณียกิจในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ขัตติยนารีแห่งล้านนาล้านนาเคยเป็นอาณาจักรเก่าแก่ และรุ่งเรืองมากเมื่อครั้งอดีต แต่เมื่อวันเวลาล่วงเลยไป หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับชนชั้นปกครองของล้านนาก็ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา นอกจากวัดวาอารามที่ได้รับการทำนุบำรุงสืบต่อกันมาแล้ว คุ้มหรือพระตำหนักต่างๆ ก็หาชมได้ยากมากในเมืองเชียงใหม่ ที่บ้านริมใต้ อำเภอแม่ริม ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของพระตำหนักไม้สัก บรรยากาศเงียบสงบ พระตำหนักดาราภิรมย์ ในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมพระตำหนักดาราภิรมย์ บ้านริมใต้ อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
เลี้ยวรถเข้าไปในซอยข้างที่ว่าการอำเภอแม่ริมจากถนนสายเชียงใหม่ ฝางที่มีรถวิ่งหนาแน่นเพียงเล็กน้อย ก็จะพบกับอาคารไม้สักชั้นเดียว ยกพื้นสูง รูปแบบสถาปัตยกรรมสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของตะวันตกที่รุ่งเรืองมากในยุคนั้น ตั้งอยู่ในบรรยากาศเงียบสงบ ผิดจากถนนใหญ่ที่เราเพิ่งจากมาเมื่อสักครู่ รอบพระตำหนักรายล้อมไปด้วยต้นไม้ และสวนหย่อมที่ได้รับการดูแลอย่างดี ต้นลำไย และต้นลิ้นจี่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่ทำให้เรานึกย้อนไปถึงคุณูปการด้านการเกษตรที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีมอบให้กับเกษตรกรชาวเชียงใหม่ และพสกนิกรในจังหวัดใกล้เคียง จนปัจจุบันไม้ผลทั้งสองชนิดนี้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันพระอนุสาวรีย์ำสำริดของพระราชชายาฯ ในชุดเสื้อแขนหมูแฮมกับผ้าซิ่น แสดงการผสานกันของวัฒนธรรมสองสำนัก
ก่อนเราจะเข้าเยี่ยมชมภายในตัวพระตำหนัก ด้านหน้ามีเนินสวนหย่อมขนาดย่อม เป็นที่ตั้งของพระอนุสาวรีย์ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในชุดผ้าซิ่นพื้นเมืองแบบชาวเชียงใหม่ กับเสื้อลูกไม้แขนหมูแฮมอย่างที่นิยมกันในหมู่สตรีราชสำนักรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระราชชายาฯ เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ประชาชนชาวเชียงใหม่ และชาวล้านนา เนื่องจากได้สร้างคุณูปการมากมายไว้ให้กับดินแดนแถบนี้จนวาระสุดท้ายของชีวิตพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงเชียงใหม่ เป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต พระองค์ได้ของพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ กลับมาประทับยังนครเชียงใหม่ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์อย่างสงบ ณ บ้านเกิดพระตำหนักเป็นอาคารไม้สัก ยกพื้นสูง แสดงถึงอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก
พระตำหนักฯ ในมุมต่างๆ
ตลอดพระชนม์ชีพของพระราชชายาฯ นอกจากจะเปรียบดั่งสายสัมพันธไมตรีอันแน่นแฟ้นระหว่างอาณาจักรล้านนากับอาณาจักรสยามแล้ว พระองค์ยังได้สร้างคุณูปการมากมายไว้ให้กับชาวเชียงใหม่ และภูมิภาคนี้ทั้งทางด้านการศึกษา วัฒนธรรม และการศาสนา รวมไปถึงด้านเกษตรกรรม ซึ่งในบริเวณพระตำหนักดาราภิรมย์แห่งนี้ ในอดีตมีการทดลองปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ ในรูปแบบแปลงเกษตรสาธิต เรียกว่า สวนเจ้าสบาย เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรชาวเชียงใหม่ต่อไปพระตำหนักฯ มุมด้านข้าง
อาคารพระตำหนักสร้างด้วยไม้ โปร่งสบาย หลังคาสูงมีช่องระบายลม และหน้าต่างรอบด้าน ทำให้ด้านในเย็นสบายโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ ภายในจัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ ภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชชายาฯ โดยแบ่งการจัดแสดงเป็นห้องๆ ตามการใช้สอยจริงในอดีต เพื่อจำลองรูปแบบพระตำหนักครั้งเมื่อยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ โดยโถงทางเดินด้านหน้าพระตำหนักจัดแสดงพระประวัติ และข้อมูลเกี่ยวกับพระตำหนัก ในห้องรับแขกมีรูปถ่ายเก่าที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชชายาฯ และเครื่องเรือนร่วมสมัย เข้าไปด้านในบริเวณโถงทางเดินมีรูปถ่ายเก่าๆ ที่น่าสนใจอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีห้องแสดงฉลองพระองค์ และผ้าทอลวดลายสวยงาม ถูกใจคนรักผ้าเก่าๆ ห้องพักผ่อนพระอิริยาบถ จัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์ที่น่าสนใจหลายอย่าง ทั้งเครื่องเรือน เครื่องเงิน เครื่องเสวย และเครื่องดนตรีเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีห้องที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับราชวงศ์พระเจ้าเจ็ดตนของอาณาจักรล้านนาอีกด้วยนิทรรศการเกี่ยวกับพระกรณียกิจด้านต่างๆ บริเวณใต้ถุนอาคาร
เส้นไหมหลากสีในตู้แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับผ้าทอ
ด้านล่างพระตำหนักมีนิทรรศการเกี่ยวกับพระกรณียกิจของพระราชชายาในด้านต่างๆ กี่ทอผ้า และตุ๊กตาจำลองการเฉลิมฉลองการเสด็จเยือนเมืองเชียงใหม่ของรัชกาลที่ ๗ ถัดไปด้านหลังพระตำหนักคืออาคารสร้างใหม่ รัศมีทัศนา ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรสการหมุนเวียนเกี่ยวกับพระราชชายาฯ และศิลปหัตถกรรมของล้านนาที่น่าสนใจ ซึ่งจะหมุนเวียนไปตามวาระและโอกาสต่างๆเที่ยวพระตำหนักฯ ในวันฟ้าใส อากาศดีมาก
ผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ เปิดทำการวันอังคาร อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 9:00 17:00 อัตราค่าเข้าชม 20 บาทเท่านั้น พระสงฆ์และนักเรียนนักศึกษาเข้าชมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 053 299 175 (ด้านบนพระตำหนักไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ)เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา