มุมมองใหม่วัดเชียงมั่น ปฐมอารามแห่งนครพิงค์เชียงใหม่ทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เชียงใหม่ ของใครหลายคน ไม่ได้หมายรวมถึง วัดเชียงมั่น พระอารามแห่งแรกของนครเชียงใหม่ บรรยากาศรอบวัดทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยี่ยมเยือนอยู่ไม่ขาดสาย แต่มีนักท่องเที่ยวชาวไทย หรือแม้แต่ชาวเชียงใหม่น้อยจนใจหาย ราวกับพระอารามแห่งนี้ถูกกาลเวลากลืนกิน ชื่อเสียงเรียงนามจึงค่อยๆ เลือนไปตามกาลเวลา จะมีคนเมืองรุ่นใหม่สักกี่คนที่รับรู้ถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของพระอารามเก่าแก่อายุกว่า ๗๐๐ ปีแห่งนี้ ไม่มากไม่น้อยไปกว่าอายุอานามของเมืองเชียงใหม่เลยครั้งเมื่อพญามังรายตีได้เมืองลำพูน และย้ายศูนย์กลางการปกครองมาอยู่ที่เวียงกุมกามได้เพียง ๒ ปี พระองค์มีดำริสร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้นแทนเวียงกุมกาม ซึ่งประสบอุทกภัยอยู่เนืองๆ เชียงใหม่ คือเมืองแห่งใหม่บนแอ่งที่ราบเชิงดอยสุเทพ บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง หลังจากพญามังราย ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ล้านนา พร้อมด้วยพระสหายคือ พญางำเมือง และพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) สร้างเมืองเชียงใหม่แล้วเสร็จ พระองค์ทรงโปรดให้สร้างวัดขึ้นบริเวณ เวียงเหล็ก พระราชวังของพระองค์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และโปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งทับพื้นที่ หอนอน หรือ พระราชมณเฑียร ของพระองค์ พระราชทานนามพระอารามแห่งแรกนี้ว่า วัดเชียงมั่น หมายถึง บ้านเมืองที่มั่นคง เป็นเป็นสิริมงคลแก่เมืองพระประธานภายในวิหารหลวงวัดเชียงมั่น ด้านหลังมีกู่ก่อิฐถือปูนลวดลายสวยงาม
บนถนนราชภาคินัย ฝั่งประตูช้างเผือก ใกล้ๆ กับแจ่งศรีภูมิ ทิศอันเป็นมงคลตามหลักทักษา เป็นที่ตั้งของวัดเชียงมั่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัดแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ บรรยากาศในวัดมีต้นไม้ร่มรื่น ดอกลั่นทมส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ไปทั่ว อาคารหลังแรกที่เราพบเมื่อผ่านประตูหน้าวัดเข้ามาคือ วิหารหลวง สถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาซ้อนเป็นชั้น ลดหลั่นกัน ชายคาใกล้พื้นดิน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบล้านนา-สุโขทัย หน้าบรรณของพระวิหารเป็นลายพรรณพฤกษา โก่งคิ้วอ่อนช้อยมีลวดลายประดับงดงาม ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ด้านหลังมีกู่ลวดลายสวยงามประดิษฐานพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง ผนังวิหารประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนังสีทองบนพื้นสีชาด บอกเล่าเรื่องราวการสร้างวัด และการสร้างเมืองเชียงใหม่พระอุโบสถวัดเชียงมั่น สถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาซ้อนกันเป็นชั้น ชายคาเตี้ย
หน้าบรรณพระอุโบสถแบบม้าต่างใหม่ แสดงถึงลักษณะโครงสร้างหลังคาแบบสถาปัตยกรรมล้านนา
ใกล้กับกำแพงด้านตะวันตกมีพระอุโบสถไม้ ศิลปะล้านนาอ่อนช้อย สวยงาม หน้าบรรณพระอุโบสถเป็นแบบม้าต่างไหม แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างหลังคาอันมีเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมล้านนาดั้งเดิม ด้านหน้าอุโบสถมีศิลาจารึกอักษรฝักขามไทยวน บอกเล่าเรื่องราวของการสร้างเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า จารึกวัดเชียงมั่น หรือ จารึกหลักที่ ๗๖พระเจดีย์ทรงปราสาท ฐานมีช้างล้อม ๑๖ เชือก
ด้านหลังพระวิหาร เดิมสันนิษฐานว่าเป็นหอนอนของพญามังราย มีพระเจดีย์ทรงปราสาท บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฐานเจดีย์มีช้างล้อม 16 เชือก เหนือเรือนธาตุเป็นเจดีย์ทรงกลมปิดทองจังโก อิทธิพลศิลปะสุโขทัย สันนิษฐานว่าดั้งเดิมพระเจดีย์องค์นี้เป็นทรงปราสาทห้ายอด (เจดีย์ห้ายอดเชียงยัน) ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเจดีย์ล้านนาในยุคแรก แต่ได้พังลงมาครั้งหนึ่ง และได้รับการบูรณะใหม่เป็นรูปทรงปัจจุบัน ใกล้ๆ กันนั้นมีหอไตรกลางน้ำ สถาปัตยกรรมล้านนา ใช้เก็บรักษาพระไตรปิฎก ปัจจุบันวิหารหลาง พระเจดีย์ อุโบสถ และหอไตรกลางน้ำ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติแล้วกู่คำภายในวิหารจตุรมุข ประดิษฐานพระแก้วขาว และพระศิลา
พระแก้วขาว หรือพระเสตังคมณี เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่นับถือสืบต่อกันมา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากผลึกหินสีขาวขุ่น มีอายุกว่า ๑๘๐๐ ปี ตามตำนานกล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างเมืองละโว้ ที่พระนางจามเทวีอัญเชิญขึ้นมาด้วย ครั้งเมื่อพระนางมาครองเมืองลำพูนหริภุญไชย พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ พระศิลาปางปราบช้างนาฬาคีรี เป็นพระพุทธรูปแกะสลักบนหินสีดำ สกุลช่างปาละ จากอินเดีย อายุกว่า ๒๕๐๐ ปี พระพุทธรูปสำคัญทั้งสององค์นี้ประดิษฐานอยู่ในกู่ภายในวิหารจตุรมุขหากใครมีโอกาสมาเยือนเมืองเชียงใหม่ นอกจากดอยสุเทพ วัดพระสิงห์ และวัดเจดีย์หลวงแล้ว อย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมวัดเชียงมั่น พระอารามคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่แห่งนี้กันบ้าง แล้วคุณจะได้สัมผัสลึกถึงอดีตอันรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา บนจุดกำเนิดนครเชียงใหม่กันเลยทีเดียวเรื่องโดย เลดี้ ดาริกา
ภาพโดย Darkslayer