หลงเสน่ห์สถาปัตยกรรมล้านนา ที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณฯพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บนถนนเลียบคลองชลประทาน
ภายในบริเวณสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ซึ่งอนุรักษ์เรือนไม้สถาปัตยกรรมล้านนาอันมีเอกลักษณ์ ควรค่าแก่การศึกษาไว้ถึง 7 หลัง บริเวณพิพิธภัณฑ์ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ยิ่งส่งเสริมให้หมู่อาคารเก่าแก่ใต้ร่มไม้โดดเด่น และมีเสน่ห์น่าหลงใหลยิ่งขึ้นต้นก้ามปูใหญ่ (จามจุรี) ให้ร่มเงาไปทั่วบริเวณพิพิธภัณฑ์
ไฮไลท์สำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ เรือนโบราณไทลื้อ ที่ตั้งอยู่กลางลาน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เรือนหม่อนตุด ตามชื่อของอุ๊ยตุด ซึ่งเป็นเจ้าของดั้งเดิมของเรือนหลังนี้ ลักษณะเป็นเรือนไม้ขนาดกลางสองหลังเชื่อมกัน เรียก หน้าเปียง ระหว่างเรือนทั้งสองหลังนี้มีรางระบายน้ำฝนหรือ ฮ่องริน ใช้ระบายน้ำจากหลังคายามฝนตก เป็นลักษณะทั่วไปของเรือนโบราณที่มีเรือนย่อยประกอบเข้ากัน หลังหนึ่งค่อนข้างกว้างใช้เป็นห้องส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ส่วนอีกหลังที่ขนาดเล็กกว่าใช้เป็นห้องครัวเรือนโบราณไทลื้อ หรือ เรือนหม่อนตุด ไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์
บรรยากาศรอบเรือนโบราณไทลื้อ มีต้นไม้ร่มรื่น
นอกจากเรือนไทลื้อ บริเวณโดยรอบยังมีสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยเก่าแก่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เยี่ยมชม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรือนกาแล ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเรือนแบบล้านนาที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเรือนกาแลให้เยี่ยมชมหลายหลัง อาทิ เรือนกาแลพญาวงศ์ เดิมเป็นของพญาวงศ์ ตั้งอยู่ที่ อ.ป่าซาง จ. ลำพูน เรือนกาแลอุ๊ยผัด ย้ายมาจาก อ.จอมทอง เป็นต้น ลักษณะเด่นของเรือนกาแล เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงหลังคาทรงจั่ว ประดับยอดจั่วด้วยไม้แกะสลักไขว้กันคล้ายเขาสัตว์ ว่ากันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี เป็นเครื่องรางอวยชัยให้กับเจ้าของเรือน และผู้อยู่อาศัยเรือนกาแลพญาวงศ์ หลังคาจั่วกาแล เอกลักษณ์สำคัญของเรือนล้านนา
ยุ้งข้าว (หลองข้าว) ยกพื้นสูง ข้างเรือนกาแลพญาวงศ์
หากอยากเรียนรู้วิถีความเป็นอยู่ของชาวเวียงเชียงใหม่ก็ยังมีเรือนที่น่าสนใจให้ศึกษาหลายหลัง เช่น เรือนชาวเวียงเชียงใหม่ (เรือนพญาปงลังกา) เป็นเรือนสมัยหลังที่มีรูปแบบคลี่คลายมาจากเรือนกาแล คือหลังคาจั่ว แต่ไม่มีกาแลประดับเหนือป้านลม ลักษณะเป็นเรือนสองหลังพื้นเดียวกัน ยกพื้นสูง ใต้ถุนใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ หรือทำงาน เรือนพื้นบ้านล้านนาอุ๊ยแก้ว มีขนาดเล็กกว่าเรือนหลังอื่นในบริเวณเดียวกัน เป็นเรือนของคนชั้นกลางช่วงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่พัฒนามาจากเรือนแบบดั้งเดิม แต่เพิ่มพื้นที่ใช้สอนภายในบ้านให้เหมาะกับยุคสมัยโดยหันบันใดเรือนไปด้านข้างแทนการหันออกด้านหน้าเรือนเหมือนแต่ก่อน เรือนลักษณะนี้จะค่อนข้างเตี้ย ใต้ถุนบ้านจึงใช้งานได้ไม่เต็มที่แบบแต่ก่อน เรือนปั้นหยา (เรือนอนุสารสุนทร) ลักษณะเป็นเรือนขนาดใหญ่สองชั้น ลักษณะผสมผสานกับหลังคาทรงจั่วแบบดั้งเดิม หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผามีชานเรือนหน้าห้องโถงใหญ่ชั้นบน ใช้เป็นพื้นที่ใช้สอย และทำกิจกรรมของคนในครอบครัวเรือนพื้นบ้านล้านนาอุ๊ยแก้ว เรือนลักษณะนี้ชนชั้นกลางช่วงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่สองนิยมปลูก
เรือนปั้นหยา หรือ เรือนหลวงอนุสารสุนทร
กลางลานกว้างมีต้นโชค หรือต้นมะโจ้ก ภาษากลางเรียก ต้นตะคร้อ ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นไม้มงคล ปลูกไว้บริเวณบ้านจะนำความโชคดีมาสู่ผู้อยู่อาศัย เป็นศิริมงคลแก่ครอบครัว ชาวล้านนานิยมใช้ใบของต้นไม้ชนิดนี้ในการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พิธีสืบชะตา หรือพิธีขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น ผลของต้นตะคร้อมีรสเปรี้ยวอมหวาน เป็นผลไม้กินเล่นของเด็กๆ และคนพื้นเมือง ต้นตะคร้อของพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ มีมาตั้งแต่ครั้งก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ลำต้นมีโพรงขนาดไม่ใหญ่นัก นักท่องเที่ยวนิยมโยนเหรียญเข้าไปในโพรงนั้น เชื่อว่าจะให้โชคลาภโยนเหรียญเข้าโพรงต้นมะโจ้ก เพื่อความโชคดี เป็นสิริมงคล
บรรยากาศทั่วไปร่มรื่น มีต้นไม้ให้ร่มเงามากมาย
พิพิธภัณ์เรือนโบราณล้านนาเปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนาเปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08:30-16:30 เสาร์-อาทิตย์เปิด 09:00-16:30 ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ธรรมเนียมค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์เพียง 20 บาท นับว่าคุ้มค่ายิ่งกับโอกาสที่จะได้ชื่นชมรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ทุกวันนี้หาดูได้ยากยิ่ง อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์เรือนไม้โบราณให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานชาวล้านนา ได้ศึกษาวิถีชีวิตของคนรุ่นเก่าก่อน ผู้เข้าชมควรอ่านกติกาการเข้าชม และปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย เป็นการอนุรักษ์ให้เรือนอยู่ในสภาพดีเสมอ และเพื่อความปลอดภัยของผู้เยี่ยมชมเอง เนื่องจากเรือนบางหลังเก่า และเสี่ยงล้มพัง จึงมีป้ายเตือนไม่ให้ผู้เยี่ยมชมขึ้นบนตัวเรือนเรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา