วิหารไม้วัดต้นเกว๋น เสน่ห์เหนือกาลเวลาของสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณออกจากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าไปทางตะวันตกเฉียงใต้สู่อำเภอหางดง กินลมชมวิวเลาะเลียบคลองชลประทานไปเรื่อยๆ ตามถนนวงแหวนรอบนอกเมืองเชียงใหม่ จนถึงสี่แยกขึ้นภูเขาไปอำเภอสะเมิง สี่แยกนี้ดั้งเดิมชื่อว่าแยกหนองควาย แต่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นแยกต้นเกว๋น ตามชื่อเสียงเรียงนามวัดสำคัญของเขตบ้านย่านนี้ วัดต้นเกว๋น หรือวัดอินทราวาส วัดเล็กๆ แห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านต้นเกว๋น ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มต้นตาลสูงลิ่วที่ขึ้นโดดเด่นอยู่ทั่วไปในบริเวณวัด ต้นเกว๋น หรือ ต้นมะเกว๋น เป็นคำเมืองที่ใช้เรียก ต้นตะขบป่า สันนิษฐานว่าเป็นต้นไม้พื้นถิ่นที่ครั้งหนึ่งเคยขึ้นอยู่ทั่วไปในบริเวณวัด วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ อายุอานามย้อนกลับไปกว่า ๒๐๐ ปีวิหารไม้วัดต้นเกว๋น บนลานทราย รายล้อมด้วยระเบียงรูปทรงเรียบง่าย
ฉันเดินทางมาถึงวัดแห่งนี้ตอนบ่ายแก่ๆ พระอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำลงแล้ว มีเพียงนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คนนั่งซึมซับบรรยากาศล้านนาแท้ๆ อยู่เงียบๆ วิหารไม้เก่าแก่ตั้งอยู่กลางลานทราย รายล้อมด้วยระเบียงไม้ โดดเด่น และงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนาดั่งเดิม ซึ่งได้รับการยกย่องจากผู้เชี่ยวชาญให้เป็นแม่แบบสถาปัตยกรรมล้านนาที่ยังคงความบริสุทธิ์ ดั่งดอกไม้แรกแย้มวิหารไม้สถาปัตยกรรมล้านนาโบราณ ฉากหลังคือดวงตะวันที่คล้อยต่ำลงในยามบ่ายแก่ๆ
ภาพมุมใกล้ของหน้าบรรณวิหาร มีร่องรอยการประดับกระจกสวยงาม
ฉันเดินชื่นชมความงดงามของกลุ่มอาคารไม้โบราณนี้อย่างเงียบๆ ถึงแม้วิหารหลังนี้จะมีขนาดเล็ก เทียบไม่ได้เลยกับวิหารของวัดขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงหลายๆ แห่ง แต่ความอ่อนช้อยของรูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนากลับทำให้ความเล็กนี้ดูน่าตื่นตาตื่นใจ และรู้สึกสัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หน้าบรรณแบบม้าต่างไหมมีร่องรอยการประดับกระจกสี โก่งคิ้วสลักลวดลายพรรณพฤกษา ใบระกาจำหลักเป็นลวดลายพญานาค ฝีมืออ่อนช้อยตำหรับช่างชาวเชียงใหม่ ด้านในวิหารประดิษฐานพระประธานบนแท่นแก้วลวดลายวิจิตร เป็นที่สักการะของชาวบ้านละแวกนี้ และผู้มาเยือนใบระกาจำหลักไม้เป็นลวดลายพญานาคอ่อนช้อย
ความละเอียดอ่อนของฝีมือช่างโบราณในการตกแต่งลวดลายหน้าบรรณวิหาร
บริเวณเดียวกันนี้ มีมณฑปไม้ทรงจัตุรมุขลักษณะโดดเด่น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ว่ากันว่าวิหารหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้ประดิษฐานพระบรมธาตุศรีจอมทอง ซึ่งจะมีประเพณีอันเชิญพระบรมธาตุจากอำเภอจอมทองมายังเมืองเชียงใหม่ ถือเป็นประเพณีของเจ้าหลวงที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และขบวนแห่งจะต้องพักที่วัดแห่งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ทรงน้ำก่อนเสมอมณฑปไม้รูปทรงจตุรมุข ในอดีตเคยใช้ประดิษฐานพระธาตุศรีจอมทอง เพื่อให้ประชาชนได้บูชาและสรงน้ำ
หลังคามณฑปไม้ทรงจตุรมุข มีโครงสร้างแบบม้าต่างไหม เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมล้านนา
ความงดงามสมบูรณ์แบบของสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณอันมีเอกลักษณ์ ทำให้วิหารไม้และอาคารโดยรอบได้ยกย่องให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่น โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ในสมเด็กพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ต้นมะเกว๋นที่เหลืออยู่เพียงต้นเดียวในบริเวณใกล้ๆ
จากความงามแห่งอดีตถูกถ่ายทอดผ่านกาลเวลาอันยาวนาน กลายเป็นแรงบันดาลใจให้สถาปนิกใช้เป็นโมเดลต้นแบบ ออกแบบหอคำหลวง ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่กลางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เป็นสัญลักษณ์โดดเด่น และงดงามจับใจทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ หลายๆ ครั้งที่เสน่ห์ของวัดแห่งนี้ติดตรึงใจผู้กำกับละครโทรทัศน์ จนกลายเป็นฉากสวยๆ ในละครหลายเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแว่นแคว้นล้านนาแห่งนี้นักเดินทางผู้หลงใหลวัฒนธรรมท้องถิ่นคนไหนมีโอกาสแวะเวียนมาเยี่ยมเมืองเชียงใหม่ ไม่พลาดชมความงามของวิหารแห่งนี้สักครั้งในชีวิต ภาพดวงตะวันยามเย็นกำลังลาลับขอบฟ้า สาดแสงสีส้มแดงระเรื่อ เป็นฉากหลังให้วิหารไม้หลังงาม ท่ามกลางความสงบเงียบ คืออีกมุมเล็กๆ เสน่ห์แห่งเมืองเชียงใหม่ที่ใครๆ ก็ไม่ควรพลาดเรื่องโดย เลดี้ ดาริกา
ภาพโดย Darkslayer ขอบคุณค่ะ